posttoday

"เงินใส่ซองหมอ" คนไข้ยินดีจ่าย-แพทย์ยินดีรับ?

29 กรกฎาคม 2560

ค่าตอบแทนพิเศษที่คนไข้บางส่วนยินดีจ่ายให้กับแพทย์เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์และการดูแลรักษาที่ดีกว่าปกติ

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

"ฝากครรภ์ที่คลินิกและจะผ่าคลอดที่รพ. หมอเเจ้งว่าต้องใส่ซอง 7,000 บาท ฉันมีเพียง 5,000 บาท น่าเกลียดไหมคะ"

"ตรวจพบเนื้องอกในมดลูก คุณหมอแนะนำให้ผ่าออก ตั้งใจใช้สิทธิ์ประกันสังคม แต่ถ้ารอผ่าตามคิวต้องรอนาน 2-3 เดือน คุณหมอจึงถามว่าจะผ่าแบบพิเศษไหม ตอนแรกก็งงๆ ไม่ทราบว่าผ่าพิเศษคือการต้องใส่ซองให้คุณหมอ รบกวนถามผู้ที่มีประสบการณ์ต้องใส่ซองให้คุณหมอประมาณเท่าไหร่คะ"

เบื้องต้นคือตัวอย่างประสบการณ์ของคนไข้ที่กระจายอยู่ตามโลกออนไลน์ ระบุถึงการจ่ายเงินซองให้กับแพทย์เพื่อแลกกับการรักษาดูแลรักษาเป็นพิเศษ

เรื่องนี้กำลังกลายเป็นที่สนใจและถึงขนาดถูกตั้งคำถามว่า เงินซองเป็นธรรมเนียมหรือมารยาทปฏิบัติอย่างนั้นหรือ?

ค่าตอบแทนเรื่องปกติของคุณแม่

กระทู้คำถามเกี่ยวกับเงินซองแพทย์นั้นโดยมากและเกือบทั้งหมดปรากฎกับกลุ่มคนไข้ที่ตั้งครรภ์

พีรนันท์ (นามสมมติ) เล่าว่า เคยไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลรัฐเเห่งหนึ่งใน กทม. หลังคลอดเสร็จพยาบาลพูดย้ำหลายรอบว่า ‘อย่าลืมใส่ซองให้คุณหมอนะคะ’

รัชเกล้า (นามสมมติ) เห็นว่า การฝากพิเศษเหมือนกับการเลือกแพทย์ หากไม่ฝากพิเศษการดูแลจะไม่ต่อเนื่อง ผลัดเปลี่ยนไปตามเวรของแพทย์ ยิ่งตนเป็นคนรูปร่างอ้วน ยิ่งต้องการได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง การฝากพิเศษที่คลินิกจึงเป็นตัวเลือกที่น่าพอใจเเละเอื้อมถึงเนื่องจากราคาถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน

"สำหรับคนเป็นเเม่ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง ไม่คิดว่าเป็นการคอรัปชั่นสำหรับเรื่องการฝากท้องดูแลพิเศษ ซึ่งเเตกต่างจาก การจ่ายเงินเพื่อลัดคิวเพิ่มความรวดเร็วเพื่อผ่าตัดลักษณะอื่นๆ"

เช่นกันกับ ธิดา (นามสมมติ) ที่เห็นว่า การเสียเงินเพื่อแลกกับการดูแลเอาใจใส่และความสะดวกสบายถือเป็นเรื่องที่คุ้มค่า

"เสีย 3,000 แต่การแนะนำการดูแลระหว่างท้องดีเยี่ยม คนท้องอึดอัดใช่ไหมล่ะ เวลาไปรอคิวในที่แออัด การไปคลินิกก็สะดวกกว่า เงินที่เสียไปคือค่าดูแลระหว่างตั้งครรภ์ไม่ใช่ค่าลัดคิวคลอดหรอก"

อย่างไรก็ตามมีหลายคนที่เคยสอบถามแพทย์เรื่องการฝากพิเศษ แต่ถูกแพทย์ตอบกลับชัดเจนว่า “ที่นี่ไม่มีฝากพิเศษ คนไข้ที่นี่ถูกดูแลเป็นพิเศษทุกคน”

 

\"เงินใส่ซองหมอ\" คนไข้ยินดีจ่าย-แพทย์ยินดีรับ?

 

อำนาจ-เงิน ตอบโจทย์ภาวะแพทย์ขาดแคลน

นายแพทย์ท่านหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นว่า การให้ค่าตอบแทนพิเศษหรือเงินซองเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ สาเหตุเกิดจากปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอต่อคนไข้ทำให้หลายคนเลือกจ่ายเงินพิเศษเพื่อแลกกับเวลา

“หากไม่ใช่เคสรักษาผ่าตัดเร่งด่วน คนไข้บ้านเราต้องรอคอยกันยาวนานอยู่แล้ว บางคนรอเป็นปีกว่าจะถึงคิวผ่าตัด เมื่อคิวเยอะมาก คุณมีอำนาจคุณก็แซงได้ แต่ถ้าไม่มีอำนาจ คุณก็ต้องใช้เงินซื้อ”

เขาบอกว่า รูปแบบที่คนไข้และแพทย์มักเลือกใช้ในปัจจุบันคือ การเลือกเข้าหาคลินิกทั่วไปเพื่อนัดแนะและให้แพทย์ส่งตัวมารักษายังโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่รวดเร็วกว่าการเข้าคิวปกติที่โรงพยาบาลโดยตรง

“เมื่อคุณรู้ว่าหมอรับงานนอกเวลากับคลินิกไหน ก็ไปหา จ่ายค่ารักษาค่าน้ำชาให้คุณหมอและทำเอกสารใบส่งมอบตัวไปส่งยังโรงพยาบาลต่อไป หรืออย่างคลินิกในต่างจังหวัด หากคนไข้ต้องการฝากครรภ์กับคุณหมอ ด้วยจำนวนที่มีจำกัด คนไข้อาจจะไม่ได้รับการดูแลจากหมอคนใดคนหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หมอเองก็ไม่ได้มีรายได้มากเท่ากับการทำงานในโรงพยาบาลในกทม. ทำให้เกิดการหารายได้ด้วยการดูแลพิเศษเพื่อค่าตอบแทนที่มากกว่าปกติ”

แพทย์รายนี้เล่าต่อว่า โดยทั่วไปหากเป็นโรงพยาบาลรัฐด้วยงบประมาณที่จำกัด มักรอให้คนไข้คลอดเองโดยธรรมชาติ อย่างไรก็ตามมีคนไข้บางรายเลือกใช้วิธีไปฝากครรภ์ไว้กับคลินิก เเละเกิดอยากผ่าคลอดทั้งที่ไม่มีข้อบ่งชี้ จะเลือกจ่ายเงินใส่ซองให้กับแพทย์ แลกกับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลโดยใช้งบการผ่าตัดจากภาษีประชาชน

“บางคนไม่อยากคลอดแบบบธรรมชาติ แต่คุณหมอผ่าให้ได้เฉพาะเคสที่จำเป็นเท่านั้น คุณก็ต้องหาเทคนิค จ่ายเงินเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองเเละผ่าได้ในที่สุด”

เเพทย์หนุ่มแสดงความเห็นต่อว่า เมื่อบุคลากรขาดแคลน เงินพิเศษจึงกลายเป็นเรื่องที่คนไข้และแพทย์ได้ประโยชน์ทั้งคู่ เนื่องจากโดยปกติเเล้วคนไข้ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะให้แพทย์รายนี้ดูแลคุณได้ตลอดเวลา

"คุณอยากได้หมอที่มีประสบการณ์สูงดูแลอยู่แล้ว แต่หมอต้องมีวันหยุด คุณอาจจะคลอดในวันที่หมอหนุ่มอยู่เวร เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากให้คุณหมอที่มีประสบการณ์ท่านนั้นดูแลตลอด คุณก็ต้องจ่าย ซึ่งหมายถึงการแทรกแซงระบบรัฐ เพราะรัฐไม่ได้จ่ายเงินให้หมอคนนั้นมาทำงานในวันหยุด แต่จ่ายให้หมอเวร”

อย่างไรก็ตามเขาบอกว่าการรักษาของแพทย์นั้นมีคุณภาพมาตรฐานที่ดีอยู่แล้วโดยไม่ต้องจ่ายเงินพิเศษ และผู้ป่วยเคสเร่งด่วนก็จะได้รับการรักษาฉุกเฉินโดยที่ไม่ต้องใส่เงินซอง

"เคสที่เสี่ยงสูงต่อชีวิตยังไงก็ได้ผ่าตัดโดยไม่ต้องยัดเงิน บางเคสหากพิจารณาแล้วรอได้ก็เป็นไปตามคิว  เพราะบุคลากรไม่เพียงพอ ที่สำคัญอุปกรณ์และความสามารถของโรงพยาบาลบ้านเราไม่เท่ากัน  ทางแก้ในภาพใหญ่คือการเพิ่มศักยภาพให้กับโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน ตามต่างจังหวัดให้มีความสามารถดูแลผู้ป่วย ไม่ต้องแออัดเฉพาะในเมือง"

 

\"เงินใส่ซองหมอ\" คนไข้ยินดีจ่าย-แพทย์ยินดีรับ?

 

ด้าน จ่าพิชิต ขจัดพาลชน เจ้าของเพจ Drama Addict และอดีตนายเเพทย์ ระบุถึงประเด็นนี้ผ่านเฟซบุ๊กว่า เงินซองถือเป็นการคอร์รัปชั่นเชิงระบบ ทำกันมานานหลายสิบปีจนถูกมองเป็นเรื่องธรรมดา การใส่ซองให้เเพทย์ คือ การให้เงินเพิ่มพิเศษกับเเพทย์ที่ทำงานให้โรงพยาบาลรัฐ เพื่อสิทธิพิเศษบางประการ เช่น ฝากพิเศษ หรือให้เเพทย์ลัดคิวผ่าตัด ลัดคิวทำหัตถการให้เร็วกว่าผู้อื่น ซึ่งไม่ยุติธรรมกับคนไข้ที่ต้องรอคิวยาวตามระบบ ทั้งที่งบประมาณในดูเเลคนไข้คือ งบของรัฐจากเงินภาษีประชาชนเหมือนกัน

"จ่ายเพิ่มเติมใส่ซองให้หมอจนได้รับสิทธิพิเศษไป ส่วนหมอก็ได้กำไรไปแบบเนียนๆ ด้วยการใช้อำนาจของตนบิดเบือนโครงสร้างของระบบ 30 บาทที่ควรจะให้บริการกับประชาชนทุกคนที่อยู่ในระบบโดยเสมอภาคไม่แบ่งยากดีมีจน"

อดีตนายแพทย์แนะนำว่า คนไข้ไม่ต้องใส่ซองให้เเพทย์ หากรับการรักษาแล้วรู้สึกประทับใจเพียงซื้อขนมหรืออาหารเล็กน้อยมาฝาก แค่นี้คนทำงานก็ปลาบปลื้มเเล้ว การให้ซองเพื่อรับสิทธิพิเศษใดๆ คือการบ่อนทำลายชาติและระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากอยากได้บริการที่ดีและพร้อมจ่ายควรไปรพ.เอกชน ถ้าจะอยู่ภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องพร้อมรับความเสมอภาคกัน

 

\"เงินใส่ซองหมอ\" คนไข้ยินดีจ่าย-แพทย์ยินดีรับ?

 

ไม่ร้องเรียนเพราะอยากได้รับการรักษาที่ดี

ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ แสดงความเห็นว่า ปัญหาการใส่ซองพิเศษให้กับแพทย์ไม่ใช่สิ่งถูกต้อง แต่กลับมีการทำกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมายาวนาน โดยคนไข้ส่วนใหญ่ไม่กล้าร้องเรียน เนื่องจากตนเองก็ต้องการได้รับการรักษาที่ดีที่สุด

"ทั้งชีวิตอยู่ในมือหมอ จะบีบก็ตายจะคลายก็รอด หากมีปัญหาก็เกรงว่าจะได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี  ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเองก็คงจะรู้ปัญหาดี แต่ก็ไม่มีมาตรการใด ๆ มาจัดการเพราะหยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ"

ปรียนันท์ บอกว่า ปัญหาเหล่านี้ควรจะถูกหยิบยกขึ้นมาในที่ประชุมร่วม เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน รับทราบต้นเหตุของปัญหาที่ตรงกันและนำไปสู่การจัดการและทางออกที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน

“เชื่อว่าถ้าประชาชนมีการจ่ายภาษีสุขภาพให้รัฐนำไปพัฒนารพ.รัฐบาล ยกระดับให้เทียบเคียง โรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งดูแลสวัสดิการ สวัสดิภาพของบุคคลากรโรงพยาบาลรัฐบาลให้ดีขึ้น รวมทั้งมีมาตรการป้องกันปัญหา และมีบทลงโทษที่เด็ดขาด เชื่อว่าจะแก้ปัญหาการใส่ซองกับแพทย์ได้”

เธอ บอกด้วยว่า เนื่องจากปัญหาดังกล่าวนั้นสะท้อนให้เห็นถึงระบบการบริหารในหลากหลายแง่มุม ซึ่งรวมไปถึงปัญหาสมองไหลของบุคลากรโรงพยาบาลรัฐด้วย ซึ่งอนาคตจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาด้วยการส่งเสริมหรือมีแนวทางให้ โรงพยาบาลเอกชน ผลิตบุคลากรหรือมีส่วนร่วมในการผลิต ไม่ใช่การดูดบุคลากรรัฐไปในลักษณะชุบมือเปิปแบบปัจจุบัน และทิ้งปัญหาให้กับโรงพยาบาลรัฐ

“เมื่อโรงพยาบาลรัฐบาลขาดแคลนบุคลากร คนไข้ก็ล้นโรงพยาบาล ภาระงานของบุคลากรก็หนักทั้งยังเผชิญกับปัญหาการร้องเรียนเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น”

สัดส่วนแพทย์ต่อประชากร เป็นตัวชี้วัดสำคัญอย่างหนึ่งของระบบสาธารณสุข หากประเทศใดมีสัดส่วนแพทย์ต่ำต่อประชากรที่สูง ย่อมสะท้อนถึงระบบสาธารณสุขประเทศนั้นว่าอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนแพทย์ และแพทย์ต้องทำงานหนัก โดยรายงานจาก สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ประจำปี 2558 ระบุสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร ว่า ปัจจุบันหมอ 1 คน ต้องดูแลคนไข้เฉลี่ย 1,377 คนต่อปี  ขณะที่ตัวเลขประมาณการปี 2020 คาดว่า แพทย์ 1 คน ต้องรองรับประชากร 1,155 คน

 

\"เงินใส่ซองหมอ\" คนไข้ยินดีจ่าย-แพทย์ยินดีรับ?

 

ออกแบบระบบลดปัญหาคอรัปชั่น

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า การใส่ซองให้แพทย์ในอดีตน่าจะเริ่มต้นจากแผนกสูตินรีเวชกรรมที่มีโปรแกรมฝากครรภ์พิเศษ แต่ปัจจุบันภาคสูติกรรมได้ล้มเลิกระบบดังกล่าวแล้ว นอกจากนั้นการมอบเงินซองยังอาจเกิดจากความรู้สึกประทับใจต่อการดูแลที่ดีของแพทย์ด้วย

เขาบอกต่อว่า สธ.พยายามออกแบบแนวทางปฏิบัติให้ค่าตอบแทนดังกล่าวเข้าสู่ระบบเป็นบริการพิเศษที่มีความชัดเจนนอกเหนือจากเวลาราชการ ซึ่งตามมาด้วยค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและเป็นที่รับรู้ของประชาชน

"ระบบบริการพิเศษ เช่น คลินิกโรคหัวใจ ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ คุณหมอต้องทำงานนอกเหนือเวลาราชการ เป็นบริการพิเศษที่อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ความเข้าใจและระบบแบบนี้ทำให้ทุกอย่างชัดเจน ไม่ใช่ใส่ซองและหายไปอยู่นอกระบบ"

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า แนวทางปฏิบัตินับจากนี้และในอนาคตทุกอย่างจะชัดเจนมากขึ้น สำหรับการรักษาพิเศษนอกเหนือเวลาราชการ ไม่เป็นลักษณะเบียดเบียนระบบการรักษาและคนไข้ที่เฝ้ารอในระบบปกติ

"ต้องประกาศให้รู้เลยว่า ช่องทางแบบนี้ปกติ แบบนี้พิเศษมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนะ"

สำหรับความพึงพอใจของคนไข้ที่มีต่อแพทย์และพร้อมยินดีมอบเงินตอบแทนแต่โดยดี นพ.โสภณ เห็นว่า เป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก แต่ตามกฎหมายมีหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่รัฐของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 103 ที่ระบุว่า ราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาท

“อาจจะเทียบเคียงกับกฎหมายของ ปปช.ได้ เพราะถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เชื่อว่าแพทย์ส่วนใหญ่ ไม่ได้ต้องการเงินซองอยู่แล้ว มีความสุขใจกับการหายเจ็บป่วยของคนไข้ หมอที่รับเงินในเวลาราชการก็คงตะขิดตะขวงใจไม่น้อยเมื่อคนให้ซอง” นพ.โสภณ ทิ้งท้าย