เกียรติประวัติ ‘ลิงค่างบ่างชะนี’
เห็นเป็นสำนวนไทยฟังโหลๆ “ลิง ค่าง บ่าง ชะนี” แต่ผมเชื่อว่ายากที่ใครจะถ่ายภาพสัตว์ 4 ชนิดนี้ได้ครบหมด ภายในทริปเดียว
โดย...ปริญญา ผดุงถิ่น
เห็นเป็นสำนวนไทยฟังโหลๆ “ลิง ค่าง บ่าง ชะนี” แต่ผมเชื่อว่ายากที่ใครจะถ่ายภาพสัตว์ 4 ชนิดนี้ได้ครบหมด ภายในทริปเดียว
แต่ความโหดหินนี้ โดนผมกำราบได้สำเร็จแบบงงๆ ในการเดินทางไปฮาลา-บาลา เที่ยวล่าสุด
กุญแจสำคัญ คงต้องบอกว่าเพราะผมได้เจอบ่างนั่นเอง เจ้าตัวนี้ยากที่สุดแล้วที่จะเจอตัว อย่างไรก็ตาม ต่อให้เก็บสแปร์บ่างได้แล้ว แต่เวลาที่มีแค่ 4 วัน ก็นับว่าค่อนข้างบีบหัวใจ ที่จะเจออีก 3 พระหน่อที่เหลือ
ตัวง่ายที่สุด ก็คือค่างแว่นถิ่นใต้ ผมเจอมันเรื่อยๆ แต่จะถ่ายรูปให้ได้จะจะ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้น ผมจึงขอเอาภาพบั้นท้ายค่าง ส่องจากไกลลิบๆ ให้ดูเป็นหลักฐานละกัน
ชะนีมือดำ เป็นชะนีตัวหลักของป่าใต้สุดแห่งนี้ ผมได้ยินเสียงมันร้องแต่เช้าตรู่จากตรงโน้นตรงนี้ แต่ถ้าไม่มีต้นลูกไม้ ไม่มีที่ซุ่มดีๆ การจะเอาชนะชะนีมือดำ ผมว่าเป็นงานหินใช้ได้ เจ้านี่ไม่ใช่แค่หูไวตาไว แต่ยังเคลื่อนที่ได้แคล่วคล่องว่องไว ชนิด “ลิงเรียกพี่”
เพราะฉะนั้น ผมจึงขอเอาภาพชะนีมือดำในพุ่มไม้ทึบให้ดูเป็นหลักฐานละกัน เห็นแค่ท่านั่งและแขนยาวๆ ไม่ต้องเห็นตัวชัด ใครก็บอกได้ว่าชะนีแน่ๆ อิอิ
ลิงป่าบาลา ผมนึกไม่ออกจริงๆ จะไปหามันได้ที่ไหน เคยเห็นแต่ลิงที่ชาวบ้านพานั่งแฮนด์มอเตอร์ไซค์มาเก็บสะตอ ลิงป่าจริงๆ นึกไม่ออกเลยว่าเคยเจอไหม?
ผมติดลิง (หมายถึงหาลิงไม่เจอนะ) มาจนถึงวันสุดท้าย และแล้ว ดวงของคนจะปิดเพลท “ลิง ค่าง บ่าง ชะนี” สำเร็จในทริปเดียว ลิงกังดันขึ้นมากินลูกไม้ต้นที่อยู่หลังบ้านพัก เชื่องกว่าชะนีและค่างมากมาย ถ่ายเห็นแววตามุ่งมั่นของมันอย่างชัดแจ๋ว
แววตานั้น ผมตีความว่า “เดี๋ยวพ่อจะกินลูกไม้ให้เกลี้ยงต้นเลย ไม่ต้องห่วง” 555