สาวร้องไม่เป็นธรรม "บีทีเอส" ปรับเงิน 42 บาท หลังทำเล็บบนสถานีเกินเวลา
หญิงสาวร้องไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังจากทำเล็บบนสถานีรถไฟฟ้า เกินเวลาจนกระทั่งถูกบีทีเอสปรับเงิน
หญิงสาวร้องไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังจากทำเล็บบนสถานีรถไฟฟ้า เกินเวลาจนกระทั่งถูกบีทีเอสปรับเงิน
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. สังคมออนไลน์ให้ความสนใจเรื่องราวที่ถูกเผยเเพร่โดยสมาชิกเว็บไซต์พันทิปชื่อ "DryDrEaM" โดยเธอโดนรถไฟฟ้าบีทีเอสปรับเงินโทษฐานอยู่ภายในสถานีเกินเวลา
เนื้อหาระบุดังนี้ "พอดีไปทำเล็บมาที่ร้านแห่งหนึ่ง อยู่ภายในพื้นที่สถานีอารีย์ ขากลับก็นั่งกลับบ้านปกติ ตอนออกแตะบัตรออกไม่ได้ พนักงานแจ้งว่า อยู่บนสถานีเกินเวลา โดนปรับ 42 บาท
เราบอกว่าเรามาใช้บริการร้านบนสถานีนะ เขาทำเล็บนาน เราก็อธิบายไป ใบเสร็จเราก็มีให้ดู เขาก็ยืนยันอย่างเดียวว่าไม่ดูใบเสร็จอะไรทั้งนั้น ยังไงก็ต้องจ่าย โดยเราคิดว่าน่าจะเลยสองชั่วโมงมาห้านาที นี่เราก็รีบสุดแล้ว
แบบนี้เรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยแฟร์เลย เราพอรู้อยู่ว่าถ้าอยู่ในสถานีนานจะโดนปรับ แต่เรามาใช้บริการร้านที่เขาเช่าพื้นที่คุณมา คุณก็ควรลดหย่อนให้เราหน่อยไหม
ใครมีคำแนะนำหรือเคยโดนอะไรแบบนี้มาเล่าให้ฟังหน่อย"
วนัสนันท์ หญิงสาวเจ้าของเรื่อง เปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ว่า เธอเดินทางมาทำเล็บที่ร้าน ซึ่งตั้งอยู่ภายในสถานีอารีย์ (ในกระทู้ระบุชื่อสถานีผิด เนื่องจากแฟนหนุ่มเป็นผู้เขียน) ก่อนกลับบ้านที่สถานีพระโขนง เมื่อสอดบัตรออก ระบบไม่ให้ผ่าน โดยพนักงานบอกว่า ต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 42 บาท เนื่องจากอยู่เกินเวลาที่กำหนด 2 ชั่วโมง
ทั้งนี้ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ได้ออกระเบียบการใช้บริการของรถไฟฟ้าบีทีเอสไว้ว่า ผู้โดยสารที่แตะบัตรสมาร์ทพาสหรือสอดตั๋วเที่ยวเดียวเข้ามาในระบบเดินทางแล้ว มีเวลาอยู่ในระบบได้ไม่เกิน 120 นาทีเท่านั้น หากเกินเวลาที่กำหนดต้องถูกปรับเป็นอัตราเดียวกับค่าโดยสารสูงสุดคือ 42 บาท หากอยู่นานเกินเวลาเมื่อสอดบัตรที่ช่องสอดตั๋วจะถูกล็อกไม่สามารถผ่านไปได้ ต้องไปจ่ายค่าปรับที่หน้าเคานท์เตอร์ก่อน ถึงจะออกจากสถานีได้
ด้านรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือ MRT ได้ออกกฎระเบียบว่าด้วยเรื่องบัตรค่าโดยสารและการจัดเก็บค่าโดยสารว่า หากผู้โดยสารคนใดเข้าไปในพื้นที่ชำระเงินและมีระยะเวลาเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดต้องชำระเงินตามอัตราที่กำหนด โดยประชาชนที่เข้าพื้นที่ชานชาลาสามารถอยู่ในบริเวณดังกล่าวได้ไม่เกิน 90 นาทีเท่านั้น หากเกินกว่านี้จะปรับในอัตรา 40 บาท การออกข้อบังคับดังกล่าวเพื่อป้องกันการเข้าใช้พื้นที่ชานชาลาของผู้โดยสารเป็นเวลานาน เนื่องจากจะส่งผลให้บริเวณโดยรอบชานชาลารอรถไฟฟ้าเกิดความแออัด ประชาชนที่จะใช้งานจะไม่ได้รับความสะดวก