สสส.ตั้งเป้ากทม.ปลอดโรคคนเมืองอาหารปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ
สสส.นำ6หน่วยงานพัฒนาระบบสุขภาพคนเมืองหลวงตั้งเป้าพลเมืองกรุงเทพมหานครปลอดโรคคนเมืองอาหารปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ
สสส.นำ6หน่วยงานพัฒนาระบบสุขภาพคนเมืองหลวงตั้งเป้าพลเมืองกรุงเทพมหานครปลอดโรคคนเมืองอาหารปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ
เมื่อวันที่ 19ธ.ค.60 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.)เขตพื้นที่ 13โดยความร่วมมือของ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อระดมความเห็นถึงแนวทางพัฒนาระบบสุขภาพในกรุงเทพมหานคร
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การพัฒนาระบบสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงมีคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และในอนาคตอันใกล้นี้จะมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต(พชข.)อีก 50 เขต เพื่อทำงานเชื่อมโยงกัน โดยกรุงเทพมหานครได้ตั้งเป้าหมายปลอดโรคยอดฮิตของคนเมือง ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ปัญหาสุขภาพจิต ทั้งการฆ่าตัวตาย ความเครียด โรคซึมเศร้า รวมถึงโรคติดต่อจากไข้เลือดออกและวัณโรค และโรคในผู้สูงอายุ มีอาหารปลอดภัยสำหรับการบริโภค และมีความปลอดภัยทางถนน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับมหานครแห่งอื่นๆทั่วโลก
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. ในฐานะคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 13 กล่าวว่า พฤติกรรมสุขภาพที่น่าสนใจของคนกรุงเทพ จากข้อมูลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประชากรกรุงเทพมหานคร ในปี 2560 พบว่า โรคที่น่าจับตาของคนกรุงเทพ จากการเข้ารักษาโดยใช้สิทธิบัตรทองย้อนหลัง 2 ปี อันดับ 1 คือ โรคความดันโลหิตสูง 2 ความผิดปกติทางเมตะบอลิก 3 เบาหวาน 4 ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน และ 5 โรคข้อ และยังพบว่าคนกรุงเทพออกกำลังกายน้อยกว่าคนภาคอื่นๆ แต่มีสัดส่วนคนไม่สูบบุหรี่และดื่มสุราค่อนข้างสูง โดยคนที่สูบบุหรี่ ประมาณ 20% เคยได้รับการปรึกษาเรื่องลด ละเลิกบุหรี่
นอกจากนี้ จากผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ระหว่างปี 2557-2558 พบว่า ผู้ชายในกทม.มีภาวะอ้วนสูงสุด ขณะที่ผู้หญิงมีสัดส่วนไม่ต่างกับผู้หญิงในภูมิภาคอื่นๆ คนกทม.บริโภคผักและผลไม้อย่างเพียงพอต่อวันเพียง 22% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุดรองจากภาคเหนือ 13% ส่วนความชุกของโรคความดันโลหิตสูงอยู่ที่ 23% และโรคเบาหวาน อยู่ที่ 8%
นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า การพัฒนาระบบสุขภาพพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงมีแนวทางที่สำคัญ 4 ประเด็นคือ 1. การพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพกทม. เพื่อเห็นภาพรวมของปัญหาสุขภาพคนกทม.สำหรับจัดทำแผนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาสุขภาพจริง 2. การมีระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่กระจายตัวครอบคลุมเขตพื้นที่ที่ยังไม่มีสถานบริการสุขภาพ 3. การลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ทั้งการบริโภคผักผลไม้ที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายน้อย ส่งผลให้เกิดโรคติดต่อไม่เรื้อรัง และ 4. การลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งจะมีการวางแนวทางการปฏิบัติผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ร่วมกัน