posttoday

"เสือดำ"ที่ถูกฆ่าอาจเป็นตัวสุดท้ายของผืนป่าไทย

07 กุมภาพันธ์ 2561

"ดำรงค์ พิเดช" อดีตอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผย เสือดำที่ถูกฆ่าครั้งนี้ อาจเป็นเสือดำตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่

"ดำรงค์ พิเดช" อดีตอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผย เสือดำที่ถูกฆ่าครั้งนี้ อาจเป็นเสือดำตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่

การจับกุม เปรมชัย กรรณสูต เจ้าสัว อิตัลไทยครั้งนี้ พบว่า มีการล่าสัตว์ป่าไก่ฟ้าหลังเทา เก้ง และเสือดำที่ถูกแล่เนื้อหนังออกมาและหั่นเป็นชิ้น ซึ่งเสือดำพบมากในป่าดิบชื้นในทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย เนปาล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเบงกอล หรือชวา ส่วนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง และอุ้มผาง เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ฯ สามารถบันทึกภาพวิดีโอของเสือดำจากกล้องดักถ่ายได้บ่อยครั้ง ซึ่ง เสือดำ เป็น 1 ใน 10 สัตว์อนุรักษ์ หากพบเห็นในพื้นที่ใดก็จะแสดงความสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนั้น

สถานการณ์เสือดำในไทยมีจำนวนลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำการล่า หรือมีไว้ในครอบครอง ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท

ดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า เสือดำที่ถูกฆ่าครั้งนี้ อาจเป็นเสือดำตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่ ซึ่งหากตัวนี้เป็นจริงก็ถือว่าเป็นภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงของประเทศ ที่จะไม่มีให้ลูกหลานได้เห็นอีกต่อไป

เช่นเดียวกับ ไก่ฟ้าหลังเทา เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ซึ่งจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ พบได้ทางภาคตะวันตกไปจนถึงคอคอดกระในภาคใต้ เมื่อปี 2558 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินจากวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปยังน้ำตกป่าละอู เพื่อทอดพระเนตรความเขียวชอุ่มของผืนป่า แล้วทรงปล่อยไก่ฟ้าหลังเทา 10 ตัว ไก่ป่าตุ้มหูแดง 19 ตัว รวมถึงนกและเม่น เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์และรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ

 

\"เสือดำ\"ที่ถูกฆ่าอาจเป็นตัวสุดท้ายของผืนป่าไทย เก้ง

นอกจากนี้ ผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ยังเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายหลักในกาญจนบุรี คือแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่ อย่างไรก็ตาม ไฮไลต์ของเขตรักษาพันธุ์ฯ แห่งนี้คือสัตว์ป่าหลายชนิดที่หาชมได้ยาก บางชนิดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ และบางชนิดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น รวมทั้งสัตว์คุ้มครองอื่นๆ ได้แก่ ช้างป่า วัวกระทิง เสือชนิดต่างๆ ฯลฯ รวมทั้งไก่ฟ้าหลังเทา เป็ดหงส์ เป็ดก่า นกเงือก และอื่นๆ อีกมากมายที่สะท้อนความสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งได้รับการประเมินคุณค่าให้เป็นแหล่งมรดกทางธรรมชาติ ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นตามเกณฑ์การพิจารณา 3 ข้อ คือ

1.มีความดีเด่นในด้านวิวัฒนาการทางชีวภาพ-ชีวาลัย เป็นพิเศษของโลก เพราะประกอบด้วยระบบนิเวศวิทยาทั้ง 4 ภูมิภาค คือ ภูมิภาคซุนเดอิก (Sundaic) ภูมิภาคอินโด-เบอร์มิส (Indo-burmese) ภูมิภาคอินโด-ไชนีส (Indo-chinese) และภูมิภาคไซ โน-หิมาลายัน (Sino-himalayan)

2.เป็นแหล่งธรรมชาติพิเศษที่เป็นต้นน้ำที่สำคัญหลายสายของไทย มีป่าไม้นานาชนิดประกอบด้วยเทือกเขา เนินเขา ตลอดจนทุ่งหญ้า ลักษณะทั้งหมดจึงมีคุณค่าในด้านวิทยาศาสตร์ มีความงดงามทางธรรมชาติที่หายากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และ 3.เป็นแหล่งพันธุกรรมของพืชและสัตว์หลากชนิด โดยมีสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ถึง 28 ชนิด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 15 ชนิด นก 9 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลานอีก 4 ชนิด