สงครามน้ำลายระอุ ชิงไหวพริบก่อนเลือกตั้ง
การเมืองเวลานี้ แม้จะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง แต่อีกด้านหนึ่งได้ปรากฏความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองพอสมควร
การเมืองเวลานี้ แม้จะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง แต่อีกด้านหนึ่งได้ปรากฏความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองพอสมควร
******************************
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
การเมืองเวลานี้ แม้จะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง แต่อีกด้านหนึ่งได้ปรากฏความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองพอสมควร
ไม่ใช่เพียงแค่การเปิดให้สมาชิกพรรคมาแสดงตนต่อหัวหน้าพรรคการเมือง หรือการเปิดโอกาสให้คนหน้าใหม่มาจดแจ้งขอตั้งพรรคการเมืองเท่านั้น แต่บรรดาพรรคการเมืองกำลังเดินหน้าห้ำหั่นฝ่ายตรงข้ามแบบมองไม่เห็นหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
สัญญาณของสงครามน้ำลายเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความคิดเห็นพาดพิงสถานะของกองทัพ
“ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่านักการเมืองเลว ไม่ดี ผมก็ยอมรับว่านักการเมืองก็มีเลว แต่ทหารเลวก็มีเหมือนกัน ได้บอกท่านกลับไปว่าอย่าเหมารวม ซึ่งท่านก็บอกว่าไม่ได้เหมา แต่เวลาท่านพูดก็ไม่เคยยกเว้น และยอมรับว่านักการเมืองที่ดีก็มี จึงเป็นที่มาการพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เปลี่ยนไปแล้วว่า นักการเมืองก็มีดีเหมือนกัน ดังนั้นอย่าไปเหมารวม และพวกเราก็ต้องอย่าให้ใครมาดูถูก เพราะทุกอาชีพมีทั้งคนดีและคนไม่ดี” ลีลาการสะบัดมีดโกนของนายหัวชวน เมื่อวันที่ 6 เม.ย.
ลีลาของนายหัวชวนไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาก็ได้ลงมือขยี้อีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการพาดพิงไปถึงการบริหารงานของพรรคเพื่อไทยที่ไม่มีความเป็นธรรม โดยเฉพาะการสร้างถนนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยไม่มี สส.
“เมื่อผมมาเป็นรัฐบาลก็มีการกระจายการก่อสร้างถนน 4 เลนอย่างยุติธรรม ไปภาคเหนือสุด อีสานสุด ภาคใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ได้ทำมา มาถึงยุคของพรรคไทยรักไทยมีการประกาศชัดเจนว่าจะพัฒนาจังหวัดที่เลือกพรรคไทยรักไทยก่อน จังหวัดอื่นไว้ทีหลัง เพราะฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐานที่ทำไว้ในอดีตมาเก่าและทรุดโทรมลง มีการซ่อมแซมดูแลน้อย” ดาบสองของอดีตนายกฯ ชวน เมื่อวันที่ 14 เม.ย.
เมื่อเสาหลักของพรรคประชาธิปัตย์เปิดตัวด้วยความเร้าใจเช่นนี้ ทำให้บรรดาชาวประชาธิปัตย์ร่วมด้วยช่วยกันรัวหมัดใส่ทั้งพรรคเพื่อไทย และ คสช.
ดังจะเห็นได้จากท่าทีของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นเงาเสียงของนายหัวชวน ก็เข้าแลกหมัดกับ คสช.ด้วยการพูดชัดเจนว่า คสช.การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของ คสช.ตลอด 4 ปีล้มเหลวไม่เป็นท่า
“หลายโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้อย่างที่ตั้งใจ แต่จำกัดอยู่กับคนบางกลุ่มมากกว่าจะทำให้ประชาชนทั่วไปมีรายได้ดีขึ้น เมื่อเทียบงบประมาณที่ลงไปกับความคุ้มค่าที่ได้รับมีผลที่ได้น้อยเมื่อเทียบกับเงินที่ลงไป เชื่อว่ารัฐบาลไม่ตั้งใจให้เกิดปัญหา แต่มองเศรษฐกิจไม่ตรงกับความจริงที่เปลี่ยนไป” ท่วงท่าของอดีตนายกฯ ของพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อสองผู้ยิ่งใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ออกมาพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมายอย่างนี้ ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยออกอาการเต้นเป็นเจ้าเข้าไม่น้อย ก่อนที่จะแลกหมัดพร้อมกับยืนยันว่าการบริหารของพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นอย่างที่ประชาธิปัตย์กล่าวหา
อย่างไรก็ตาม การตอบโต้กันไปมาของทั้งสองพรรคนั้นมีความน่าสนใจตรงที่การนำมาซึ่งคำถามว่าที่เหตุใดอดีตนายกฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสองคนต้องเล่นสงครามน้ำลายในเวลานี้ เพราะจะว่าไปแล้วการเลือกตั้งก็ยังไม่ได้เกิดในเร็ววันนี้แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ถ้าจะหาคำตอบกันจริงๆ ก็คงหนีไม่พ้นการหาเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าด้วยการถล่มฝ่ายตรงข้าม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลานี้ คสช.ไม่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้นเหมือน 4 ปีที่แล้ว ตรงกันข้ามกลับอยู่ในช่วงขาลงรอวันลงจากตำแหน่งเท่านั้น ถึงจะมีอำนาจและบารมี แต่นั่นก็ใช้ได้เฉพาะกับการบริหารผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้น เพราะไม่อาจใช้ได้กับประชาชน
ที่ผ่านมาแผลที่เกิดขึ้นเต็มตัว คสช.ล้วนมาจากการทำตัวเองแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของวันเลือกตั้งผ่านการเล่นแร่แปรธาตุกับกฎหมายเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การเลือกตั้ง
ยิ่งไปกว่านั้น มาดูที่การบริหารงานของ คสช.ก็ไม่ได้มีผลงานที่ดีเท่าใดนักอย่างที่ประชาธิปัตย์บอกเอาไว้
เมื่อ คสช.มีจุดอ่อนเต็มไปหมด จึงเป็นโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์สามารถเปิดเกมรุกใส่ คสช.ได้ตามสไตล์ที่ตัวเองถนัด เพื่อหวังชี้นำให้สังคมเห็นความอ่อนแอของ คสช. และสกัดดาวรุ่งไม่ให้ คสช.ที่กำลังมีแผนตั้งพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากในสนามเลือกตั้ง
แต่ครั้นจะเปิดหน้าชกทั้งทีต้องจัดหนักให้ครบทุกคน จึงเป็นเหตุผลให้พรรคเพื่อไทยถูกลากเข้ามาอยู่ในสงครามน้ำลายของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย
อดีตพรรคฝ่ายค้านมืออาชีพนี้รู้ดีว่าพรรคเพื่อไทยก็มีจุดอ่อนไม่แพ้กัน คือการยังไม่สามารถก้าวข้าม “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีไปได้ ผนวกกับพรรคเพื่อไทยยังมีแผลมาจากโครงการจำนำข้าว ทำให้ประชาธิปัตย์ต้องออกแรงย้ำแผลของพรรคเพื่อไทยให้ช้ำมากขึ้นไปอีก
การเล่นสงครามน้ำลายเป็นสนามที่เข้าทางพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่ว่าการเดินหน้าฆ่าเพื่อนแบบนี้ก็ไม่ได้เป็นการการันตีได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้รับโอกาสตั้งรัฐบาลในอนาคต เนื่องจากการเมืองกำลังมีตัวแปรที่ยังไม่ปรากฏออกมาให้เห็นอีกจำนวนมาก
ดังนั้น เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าสู่สมรภูมิด้วยวิธีการแบบนี้ ย่อมต้องแลกกับผลเสียที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วย