posttoday

มหาวิทยาลัยวัยที่สาม การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด

01 พฤษภาคม 2561

ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ผู้สูงอายุหลายร้อยชีวิตใน อ.เมือง จ.เชียงราย ต่างถือกระเป๋าที่ใส่ตำราเรียนและอุปกรณ์การเรียน

โดย โยธิน อยู่จงดี

ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ผู้สูงอายุหลายร้อยชีวิตใน อ.เมือง จ.เชียงราย ต่างถือกระเป๋าที่ใส่ตำราเรียนและอุปกรณ์การเรียน เพื่อเดินทางไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยวัยที่สาม นครเชียงราย บ้างก็มาคนเดียว บางคนมากับพี่น้อง หรือลูกหลานที่ยังอยู่ด้วยกัน เพื่อส่งคุณปู่คุณย่าเหล่านี้ไปเรียนหนังสือ นี่คือภาพสะท้อนให้เห็นว่ากรอบความคิดเดิมๆ ด้านการศึกษาถูกทลายลงด้วยแนวคิดใหม่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการเรียนอย่างไม่มีวันสิ้นสุด โดยไม่มีเรื่องของอายุมาเป็นตัวกำหนดอีกต่อไป

อุบลวรรณ แสนมหายักษ์ ประธานคณะกรรมการมหาวิทยาลัยวัยที่สาม เล่าที่มาที่ไปของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่า “เราเริ่มรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุในสังคมที่มีมากขึ้น จากนั้นท่านนายกเทศมนตรีนครเชียงราย (วันชัย จงสุทธนามณี) ท่านก็มีนโยบายว่าอยากจะดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งการพัฒนาคุณค่าชีวิตมีมากมาย แต่สิ่งเหล่านั้นสามารถพัฒนาผู้สูงอายุได้จริงๆ จึงเกิดคำถามที่นำไปสู่การพัฒนาระบบการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุตรงนี้ขึ้นมา และได้รับการสนับสนุนจากนายกเทศมนตรีในหลายๆ ด้าน จึงชักชวนเพื่อนๆ ที่เกษียณราชการไปแล้วมาช่วยกันคิดช่วยกันทำว่าเราจะสามารถจัดตั้งหลักสูตรอะไรขึ้นมาได้บ้าง

มหาวิทยาลัยวัยที่สาม การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด

หลังจากนั้นเราจึงสำรวจสอบถามผู้สูงอายุว่า ถ้าเราจะทำหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ พวกเขามีความสนใจอยากที่จะเรียนอะไรบ้าง ในเทศบาลนครเชียงรายทั้ง 64 ชุมชน จนได้แนวคิดในการจัดตั้งหลักสูตร ทำสัญญาเอ็มโอยูระหว่างเทศบาลนครเมืองเชียงรายกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนนี้ขึ้นมา เพราะการเรียนรู้ของเรานั้นเข้าพระราชบัญญัติการศึกษาเรื่องการเรียนรู้ตามอัธยาศัย

เรียนจบไปแล้ว 2 รุ่น รุ่นแรก 300 กว่าคนรุ่นสองอีก 600 คน และในรุ่นที่สามนี้คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เพราะมีคนสนใจมาสมัครมากขึ้น เกินความคาดคิดของเราไปเยอะมาก ตอนแรกเรารับเฉพาะของเทศบาลนครเชียงราย ตอนนี้กลายเป็นว่าผู้สูงอายุจากทุกอำเภอใน จ.เชียงราย ก็สนใจมาเรียนกับเราหมด ได้เรียนทุกอย่างฟรีมีค่าใช้จ่ายแค่ค่าทำบัตรและอุปกรณ์การเรียนส่วนตัวเท่านั้น

รูปแบบการสอนเราไม่ได้สอนแบบทฤษฎี แต่เป็นการสอนที่เน้นการเรียนรู้แล้วให้ปฏิบัติ ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติเป็นอาชีพได้ แล้วก็เป็นวิชาที่เขาภาคภูมิใจ  มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับสุขภาพและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกเขา เช่น หลักสูตรคอมพิวเตอร์ เราไม่ได้สอนให้เขาทำเอ็กซ์เซลหรือพิมพ์งานได้อย่างคล่องแคล่ว แต่เราสอนให้เขาใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการสื่อสารกับลูกหลาน

ถ้าที่บ้านมีคอมพิวเตอร์ของลูกหลานติดไว้ที่บ้าน ก็ให้เขาสามารถเปิดเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตค้นหาข้อมูล หรือส่งข้อความติดต่อกับลูกหลานได้ บางรายก็เรียนเน้นวาดภาพ สอนการใช้โทรศัพท์มือถือ ลงแอพพลิเคชั่นสำหรับในการติดต่อขอความช่วยเหลือกับโรงพยาบาล หรือมีโปรแกรมตรวจสอบสุขภาพจากมือถือ

วิชาพุทธศาสนาเราก็ไม่ได้เอาวิชาประวัติของพระพุทธเจ้ามาสอน แต่เราสอนในแง่ของพิธีกรรมของศาสนา สิ่งที่สามารถใช้ในงานมงคลและงานอัปมงคลแบบประหยัดโดยไม่ต้องฟุ่มเฟือย การทำสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ในงานมงคลและงานอวมงคล วิชาเหล่านี้จะมีผู้สูงอายุที่รู้หลักการมาสอนกันเอง

ในอนาคตเรามีแนวโน้มในการขยายวิชาเรียนโดยเฉพาะวิชาศิลปะที่ผู้ใหญ่ให้ความสนใจกันมาก หรือวิชาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎหมายในชีวิตประจำวันต่างๆ เพื่อที่จะได้มีโอกาสใช้สิทธิทางกฎหมายเหล่านี้ปกป้องตัวเอง

สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีความสนใจที่จะเรียนหนังสืออยู่อีกมาก แล้วทุกคนที่มาเรียนนั้นมีความสุขและมีความสนุกที่จะมาเรียน ตรงไหนมีอะไรมีวิชาอะไร เขาชอบ เขาสนใจ เขาก็จะมาเรียน ช่วงปิดเทอมยังไม่ยอมปิดเลย มานัดกันรับประทานข้าว มาฟ้อนรำ มารวมกลุ่มกันทำการประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ผู้สูงอายุที่มาเรียนกับเราอายุมากสุดคือ 88 ปี แล้วก็คนที่เรียนเต้นอายุมากที่สุดคือ 77 ปี เรียนฟ้อนรำอายุ 69 ปี”

มหาวิทยาลัยวัยที่สาม การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด

ศักดา วิวัฒน์ขจรศักดิ์ ประธานนักศึกษามหาวิทยาลัยวัยที่สาม รุ่นที่ 2 เล่าถึงประสบการณ์ในการเรียนที่สุดแสนจะมีความสุขของเขาในวัย 68 ปี ว่าก่อนหน้าที่จะเข้ามาเรียนตรงนี้เป็นข้าราชการบำนาญ เคยทำงานเป็นข้าราชการครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ เรียนจบปริญญาโท

“พอเห็นว่ามีการเปิดมหาวิทยาลัยเพื่อให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยเรียนรู้ผมก็เกิดความสนใจจะเข้าไปเรียน โดยเฉพาะวิชาคอมพิวเตอร์ เพราะว่ามีปัญหาในการใช้ติดต่อกับลูกหลาน

เวลาลูกสอนเขาจะสอนเร็วมากจนเราตามเขาไม่ทัน เพราะเขาฝึกตรงนี้มาตั้งแต่แรกแต่เราเพิ่งมาเรียนทีหลังก็จะไม่ค่อยทันสักเท่าไร ลูกถามว่าเก็ตไหม เข้าใจไหม เราก็เออออตามไป สุดท้ายก็ลืมทำไม่ได้

พอเข้ามาเรียนก็ขอชื่นชมอาจารย์ผู้สอนว่าเขาสอนใจเย็นมากๆ จะสอนพร้อมๆ กัน ใครเรียนไม่ทัน ใครจำไม่ได้ ใครทำไม่ทัน ก็รอกันคนที่จำได้ ก็ทำซ้ำไปจนคล่อง คนที่ทำไม่ได้ก็จะได้โอกาสเรียนรู้และฝึกจนสามารถทำได้เหมือนกับคนอื่น ซึ่งหลักสูตรในการเรียนจะเรียนไม่ได้เยอะ เรียนวันละแค่ 3 ชั่วโมง/สัปดาห์

ต้องเรียนให้ครบทั้งหมด 40 ชั่วโมง เป็นขั้นเป็นตอนอย่างช้าๆ บางคนจากที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย หลังจากเรียนจบแล้ว ทุกคนก็มีความสุขที่สามารถส่งข้อความได้ส่งไลน์ ส่งความรู้สึกดีๆ ไปถึงเพื่อนๆ ที่อยู่ห่างไกลกัน ส่งความคิดถึงไปหาลูกหลาน และยังได้เพื่อนใหม่มาอีกมากมาย

ตอนนี้ก็ยังมีแผนจะเข้าไปเรียนวิชาอื่นๆ ให้ครบทั้ง 8 หลักสูตรถึงจะได้ “ปัญญาบัตร”ผมยังจบเพียงแค่หลักสูตรเดียว คือ หลักสูตรคอมพิวเตอร์ ยังมีวิชาการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมสุขภาพ เศรษฐกิจ ศาสนาวัฒนธรรม เรียกว่าครอบคลุมเกือบทุกอย่างที่เราอยากจะเรียนเพิ่มเติม

ผมพูดจากใจจริงเลยว่านักศึกษาแต่ละคนนั้นมีความสุขที่ได้เข้ามาเรียน การศึกษากับผู้สูงอายุเป็นการศึกษาที่ไม่มีวันสิ้นสุด ความรู้ไม่มีการสิ้นสุด เราอย่ายึดติดกับตัวเองว่าเรารู้วิชาอย่างนี้ มีความเชี่ยวชาญ จากประสบการณ์ในการทำงานมาตลอดชีวิตนั้นจะเพียงพอ

มหาวิทยาลัยวัยที่สาม การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด

เพราะในโลกนี้ยังมีอีกและหลายวิชาที่เรายังไม่รู้ หากจะให้ไปเรียนในโรงเรียนผู้สูงอายุอื่นๆ ที่ให้ผู้สูงอายุไปแต่งตัวเป็นนักศึกษาย้อนวัยกลับไปเป็นเด็ก เป็นการฝืนความรู้สึก แต่ที่นี่คือทุกคนที่เข้ามาเรียนอยู่ในสถานะของผู้ใหญ่ทั้งหมด มาแลกเปลี่ยนพูดคุยแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านการเคี่ยวกรำเข้มข้นในระยะเวลาอันสั้น

เมื่อก่อนเราอยู่ที่บ้านเรามีลูกหลาน เรามีน้องๆ เรามีลูกศิษย์ลูกหา มีชื่อเสียง ได้รับการเคารพนับหน้าถือตามากมาย มีแต่คนมารดน้ำดำหัวเรา แต่ในขณะที่เรามาอยู่ในมหาวิทยาลัยวัยที่สาม เราเข้าสู่ในฐานะการเป็นนักเรียนนักศึกษา เราต้องแสดงบทบาทของเราเป็นนักศึกษาที่จะต้องแสดงมุทิตาจิตต่อครูอาจารย์ที่มาสอนเรา

แม้ว่าครูบาอาจารย์บางท่านจะอายุน้อยกว่าเรา บ้างเคยเป็นลูกน้องเรา หรือเคยเป็นลูกศิษย์เรามาก่อนก็ตาม แต่ในขณะที่เขามีความรู้ในอีกด้านหนึ่งแต่เราไม่ได้มีความรู้ในด้านนั้น เราก็ต้องแสดงสัมมาคารวะเขาในฐานะที่เขาเป็นครู เป็นการแสดงบทบาทคนละหน้าที่

ภาษิตจีนบอกว่าคนที่สอนเราให้รู้เพียงหนึ่งอย่างแม้จะสอนเราเพียงครั้งเดียวและเรารู้ในหนึ่งอย่างนั้น นั่นคือเขาเป็นครูเราตลอดชีวิต”

อุบลวรรณ ทิ้งท้ายประสบการณ์จากการสอนผู้สูงอายุที่ผ่านมาทั้งหมดด้วยว่าผู้เรียนมีอยู่ทั้งหมด 3 ประเภท ประเภทแรกอยากเรียนในสมัยยังหนุ่มสาวแต่ว่าไม่มีโอกาสได้เรียน ก็จะมาเรียนเพื่อการเติมความรู้ ความฝันของตัวเองที่ขาดหายไป

ประเภทที่สอง ผู้สูงอายุที่มาเรียนก็คือเรียนเพื่อให้มีความรู้เท่าทันกับลูกหลานเป็นตัวอย่างของลูกหลานเขาอยากได้ “ปัญญาบัตร”เขาจะพยายามเรียนให้ครบทุกวิชาอย่างน้อยก็เพื่อเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีของตัวเอง และประเภทสุดท้าย คือ มาเรียนเพราะอยากจะสนุก เรียนไม่จบก็ได้ แต่ขอให้ได้มาเรียนมาเอาความรู้ ได้มาเจอเพื่อนๆ ได้อยู่ในกลุ่มสังคมที่มีความรักความชอบในสิ่งเดียวกัน

มหาวิทยาลัยวัยที่สาม การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด

มาเติมความฝันให้เต็ม เคยอยากเรียน อยากทำ แต่ว่าไม่มีเวลาและโอกาส จนเมื่อถึงวันที่มีเงินพร้อมแล้วมีเวลาก็มาเรียน บางคนป่วยเป็นมะเร็งขั้นสุดท้ายแต่เขาก็อยากมาเรียน เพราะเวลาอยู่กับบ้านก็จะคิดวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องของอาการป่วย แต่พอมาเรียนได้อยู่ในกลุ่มเพื่อนๆ ได้ใช้เวลาในการศึกษา ได้ใช้เวลาอยู่นอกบ้านก็ทำให้เขาลืมไปชั่วขณะว่าตอนนี้กำลังป่วยเป็นอะไร อยู่ตรงนี้เป็นความสุข

บางคนเขียนหนังสือไม่ได้เลย แต่อยากจะเข้ามาเรียน ก็เข้ามาฟัง เข้ามาได้เพื่อนที่ให้ความช่วยเหลือก็สามารถเรียนหนังสือจนจบได้ ก็กลายเป็นว่ามหาวิทยาลัยวัยที่สามได้ช่วยให้ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเพียงลำพังมีกลุ่มสังคมของตัวเองขึ้นมา ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ใครเจ็บใครป่วยก็เดินทางไปเยี่ยมเยือน ใครมีอะไรก็มาแบ่งปันช่วยเหลือกันและกันใครทำอาหารอร่อย ใครทำอะไรเก่ง ก็มาแลกเปลี่ยนกัน นั่นคือมิตรภาพในฐานะที่เราเป็นผู้ดำเนินการ เรารู้สึกว่าเรามีความปีติยินดี มีความสุขที่ได้ทำสิ่งนี้ขึ้นมา ให้ทุกคนได้มีคุณค่าที่จะเรียนรู้และพัฒนาไปตลอดชีวิต”