posttoday

คลายล็อกการเมือง ตัดขาไม่ให้หาเสียง

22 สิงหาคม 2561

การที่คสช.ให้แค่คลายล็อกการเมืองนั้น หนีไม่พ้นเหตุผลเบื้องหลังทางการเมือง ซึ่งนั่นหมายถึงการยังไม่ยอมให้พรรคการเมืองขยับหาเสียง

การที่คสช.ให้แค่คลายล็อกการเมืองนั้น หนีไม่พ้นเหตุผลเบื้องหลังทางการเมือง ซึ่งนั่นหมายถึงการยังไม่ยอมให้พรรคการเมืองขยับหาเสียง

******************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ปฏิเสธไม่ได้ว่านับตั้งแต่มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 5 คน จากทั้งหมด 7 คนอย่างเป็นทางการ จะเห็นได้ว่าไม่ค่อยมีประเด็นเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้งมาเป็นวิวาทะทางการเมืองเท่าใดนัก ในทางกลับกันดูเหมือนว่ารัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยินดีให้ประเทศเปลี่ยนผ่านตามโรดแมปด้วยความยินดี

ดังเห็นได้จากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ในระยะหลังยืนยันว่ามีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน รวมถึงการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐบาลและ กกต.เพื่อจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 ส.ค. ภายหลัง กกต.เพิ่งรับตำแหน่งมาสดๆ ร้อนๆ

ในส่วนของการประชุมร่วมระหว่าง กกต.และรัฐบาลนั้นมีประเด็นน่าสนใจไม่น้อย เพราะมีการส่งสัญญาณถึงกระบวนการคลายล็อกให้กับพรรคการเมืองให้เห็นออกมาแล้ว โดยจากการเปิดเผยของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ส.ค. สามารถสรุปออกได้เป็นประเด็น ดังนี้

1.คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษากลางเดือน ก.ย.

2.ให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ 6 กิจกรรม โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตจาก คสช. หรือเรียกว่า “คลายล็อก” เช่น การจัดประชุมใหญ่เพื่อรับสมาชิกใหม่ และการทำในสิ่งที่คล้ายการทำไพรมารีโหวตที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นต้น

3.เตรียมแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อคลายล็อกให้ทำกิจกรรรมการเมือง

4.ปัญหาเกี่ยวกับการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้ง จะเป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่ในการเข้าพิจารณาความถูกต้องและเหมาะสม

5.การกำหนดวันเลือกตั้ง คสช.และ กกต.จะหารือให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม จากสัญญาณที่ส่งออกมาจะพบว่ามีการกั๊กจากฝ่ายรัฐบาลและ คสช.อยู่พอสมควร เนื่องจากยังไม่ยอมให้พรรคการเมืองประชุมเพื่อกำหนดนโยบายพรรคการเมืองที่จะใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำหรับการเลือกตั้ง

เหตุผลที่รัฐบาลยังไม่ปลดล็อกให้กับพรรคการเมืองแบบ 100% เพราะมองว่ากรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นเพียงพอต่อการหาเสียงของพรรคการเมืองอยู่แล้ว

“กรอบเวลา 150 วัน จะไม่รวมการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง และเป็นระยะเวลาที่เพียงพอต่อการหาเสียงของพรรคการเมือง หากจัดการเลือกตั้งเร็วสุดในวันที่ 24 ก.พ. 2562 พรรคการเมืองก็มีเวลาหาเสียงไม่แตกต่างจากการเลือกตั้งในอดีต แต่ถ้าจัดเลือกตั้งช้าสุดในเดือน พ.ค.ก็จะมีเวลาหาเสียงมากกว่าการเลือกตั้งในอดีตทุกครั้งที่ผ่านมาที่จะมีเวลาหาเสียงจริงประมาณ 30 วันเท่านั้น” การเปิดเผยของรองนายกฯ วิษณุ

แต่แน่นอนว่าการออกลูกกั๊กของ คสช.ที่ให้แค่การคลายล็อกนั้น หนีไม่พ้นการมีเหตุผลเบื้องหลังทางการเมือง ซึ่งนั่นหมายถึงการยังไม่ยอมให้พรรคการเมืองขยับตัวในการหาเสียง

เวลานี้ต้องยอมรับว่าเป็นจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะตัวเต็งนายกฯ คนต่อไปกำลังเก็บคะแนนทางการเมืองให้กับตัวเองอยู่ โดยเฉพาะการเดินสายประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ค่อนข้างถี่ในทุกภูมิภาค

โดยแต่ละพื้นที่ที่ ครม.ลงไปประชุมนั้น จะมีอดีต สส.คอยให้การต้อนรับ พร้อมกับอนุมัติงบประมาณหรือโครงการพัฒนาระยะยาวให้กับพื้นที่ ซึ่งเป็นเหมือนช่วงปลายรัฐบาลของนักการเมืองทุกรัฐบาลที่ต้องเน้นหาเสียงกันอย่างหนักในช่วงใกล้หมดวาระ

ประจวบเหมาะกับจังหวะที่พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองกำลังอ่อนแรงพอสมควร โดยเฉพาะกับทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ สองพรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นตัวเต็งในการเลือกตั้ง ทำให้เป็นโอกาสดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้โอกาสนี้เดินหน้าเก็บแต้มให้เต็มที่

โอกาสทองแบบนี้ไม่ได้มีบ่อยๆ ในทางการเมือง เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลไม่มีฝ่ายค้านเป็นหอกข้างแคร่ เวลาเดินทางไปไหน เจอแต่ดอกไม้คอยรอรับอยู่ เรียกได้ว่าชกอยู่ข้างเดียว จึงไม่แปลกที่รัฐบาลยังไม่ยอมให้พรรคการเมืองหาเสียง

การปล่อยให้พรรคการเมืองเริ่มทำนโยบายหาเสียงได้ ย่อมไม่ต่างอะไรกับการปล่อยเสือเข้าป่า ต้องไม่ลืมว่าแม้เวลานี้จะมีบางฝ่ายคอยสนับสนุน คสช.ในทางการเมือง แต่อีกด้านหนึ่งก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ปฏิเสธ คสช.เช่นกัน

ยิ่งในภาวะที่ คสช.เองยังไม่มั่นใจว่าผลงานที่ตัวเองทำมานั้นจะเพียงพอต่อการซื้อใจประชาชนหรือไม่ด้วยแล้ว ย่อมไม่มีทางให้พรรคการเมืองมีเสรีภาพในการหาเสียงได้เต็มที่ เพราะเมื่อพรรคการเมืองสามารถออกนโยบายทางการเมืองได้เมื่อไหร่ สายตาของสังคมที่เคยมุ่งอยู่กับผลงานของ คสช.จะหันมาที่พรรคการเมืองทันที

พื้นที่ทางสังคมที่ คสช.กำลังคุมอยู่ จะต้องถูกแบ่งมาให้กับพรรคการเมือง มิหนำซ้ำนโยบายของพรรคการเมืองที่ออกมานั้นย่อมจะถูกนำไปเปรียบกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่กำลังดำเนินการอยู่

ด้วยสภาพแบบนี้จะส่งผลให้ คสช.และรัฐบาลต้องเจอกับสถานการณ์เสมือนมีพรรคฝ่ายค้านในสภาไปโดยปริยาย ย่อมไม่เป็นผลดีกับ คสช.อย่างแน่นอน

ดังนั้น การตีกรอบพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้