น้ำท่วมเมืองโคราช :ปัญหาซ้ำซากไม่ได้แก้ไขจริงจัง
วิกฤตน้ำท่วมเมืองโคราชครั้งสำคัญเคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง เช่น พ.ศ. 2527, 2539, 2550 ซึ่งเกิดมาประมาณ 12 ปี ต่อครั้ง และในปี 2553 นี้ ห่างจากครั้งก่อนเพียง 3 ปี และรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี!
วิกฤตน้ำท่วมเมืองโคราชครั้งสำคัญเคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง เช่น พ.ศ. 2527, 2539, 2550 ซึ่งเกิดมาประมาณ 12 ปี ต่อครั้ง และในปี 2553 นี้ ห่างจากครั้งก่อนเพียง 3 ปี และรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี!
โดย ..ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ
เพราะมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ใน 32 อำเภอ หรือทุกอำเภอ เกิดความเสียหายมหาศาลมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีรับสั่งให้กู้โรงพยาบาลมหาราชโดยด่วน เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของผู้ป่วยที่ไปใช้บริการผู้ป่วยนอก 3,000 คนต่อวัน
ปัญหาดังกล่าวนี้แท้จริงแล้วสามารถลดผลกระทบไม่ให้เกิดความเสียหายร้ายแรงเหมือนครั้งที่ผ่านมาได้ เพราะได้เคยมีองค์กรร่วมภาครัฐและประชาชน พยายามดำเนินการภายใต้ข้อจำกัดหลายประการในการแก้ไขปัญหาลำตะคอง ติดต่อกันประมาณ 3 ปี ช่วง พ.ศ. 2544-2546 แต่สุดท้ายก็ต้องร้างลา ถอยกลับไปปฏิบัติงานในอาชีพของตนตามเดิมเปรียบเทียบวิกฤตน้ำท่วมโคราชปี 2550 กับ ปี 2553
1.ปี 2550 น้ำท่วมช่วง 14-21 ต.ค. เกิดความเสียหายในพื้นที่ 26 อำเภอ มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท (ปภ.นม) เฉพาะในลุ่มน้ำลำตะคอง สาเหตุหลักมาจากปริมาณฝนที่ตกมากผิดปกติในพื้นที่ท้ายเขื่อนลำตะคอง คือ เขตอำเภอสีคิ้ว สูงเนิน โดยปริมาณฝนช่วงวันที่ 1-14 ต.ค. อยู่ในระดับ 200 มม. ขึ้นไป และมากที่สุด 371 มม. ที่อำเภอสูงเนิน ซึ่งมากกว่าค่าฝนเฉลี่ยในบริเวณนี้ (153 มม.) ถึง 2.4 เท่า
2.ปี 2553 น้ำท่วมช่วง 14-31 ต.ค. เกิดความเสียหายในพื้นที่ 32 อำเภอหรือทั้งจังหวัด มูลค่าความเสียหาย คาดว่าน่าจะมากกว่าเดิมหลายเท่า สาเหตุหลักเกิดจากปริมาณฝนตกมากผิดปกติในพื้นที่ท้ายเขื่อนลำตะคอง โดยปริมาณฝนหลายสถานีในอำเภอสีคื้ว ช่วงวันที่ 1-19 ต.ค. เกิน 500 มม. ขึ้นไป ! และมากที่สุดที่บ้านโนนกุ่ม (อ.สีคิ้ว) สูงถึง 603 มม.!! ซึ่งมากกว่าค่าฝนเฉลี่ยในบริเวณนี้ถึง 3.9 เท่า !! และเทียบเท่าปริมาณน้ำฝนกว่าครึ่งปีของพื้นที่ แต่มาตกภายใน 19 วัน
ข้อสังเกตและเปรียบเทียบบางประการของวิกฤติน้ำท่วมปี 50 กับ 53
1.ช่วงเกิดน้ำท่วมเป็น ช่วงเดียวกัน คือ 14-21 กับ 14-31? ต.ค. แต่ปี 53 ระยะเวลาท่วมนานกว่า
2.สาเหตุหลักของการเกิดน้ำท่วมเป็น สาเหตุเดียวกัน คือ ฝนตกมากผิดปกติบริเวณท้ายเขื่อน (อ.สีคิ้ว สูงเนิน)
3.ระดับความรุนแรง ปี 53 รุนแรงมากว่าปี 50 โดยหากดูหยาบ ๆ จากค่าปริมาณฝนสูงสุดปี 53 ที่สีคิ้ว 603 มม. กับปี 50 ที่สูงเนิน 371 มม. แสดงว่าปี 53 นี้รุนแรงมากว่าปี 50 ถึง 1.6 เท่า!
4.ทรัพย์สินที่เสียหายในน้ำท่วมปี 50 ไม่ปรากฏรายการจำนวนรถยนต์ในข่าวหนังสือพิมพ์ทั่วไป แต่ปี 53 มีรายการรถยนต์ในเขตเมืองโคราชถูกน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 500 คัน ซึ่งยังไม่นับรวมทีวีหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ รวมทั้งเตาแก๊สและเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ อีกมากมาย แสดงให้เห็นถึงภาวะที่ครอบครัวผู้ประสบภัยขนย้ายไม่ทัน เพราะไม่ทราบมาก่อนว่าน้ำจะท่วมมากและเร็วถึงขนาดนี้
5.สื่อมวลชนหลายสาขา ประโคมข่าวน้ำท่วมโคราชทั้ง 32 อำเภอหรือทั้งจังหวัด ย่อมส่งผลให้เกิดภาพลบต่อโคราชต่อไป แต่ในความเป็นจริง พื้นที่น้ำท่วม คือ พื้นที่ราบน้ำท่วมถึง (Flood Plain) ในทางภูมิศาสตร์ ซึ่งมักอยู่ใกล้กับลำน้ำของอำเภอต่างๆ มีพื้นที่ประมาณ 800,000 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.3 ของพื้นที่จังหวัดเท่านั้น พื้นที่โคราชอีก ร้อยละ 93.7 ไม่ได้มีปัญหาน้ำท่วมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ตัวเลขพื้นที่เกษตรที่เสียหายซึ่งจังหวัดรายงาน 1.75 ล้านไร่ อาจรวมพื้นที่ราบดอนหรือนาดอน ซึ่งมีน้ำท่วมช่วงสั้นๆ อยู่ด้วย เพราะความมากพิเศษผิดปกติของฝนปีนี้ และอุปสรรคการไหลเนื่องจากการกระทำของมนุษย์ แต่เทียบได้เพียงร้อยละ 13.7 ขณะที่พื้นที่โคราชส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 86.3 ก็ไม่ได้ประสบภัยน้ำท่วม
การเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพช่วยลดผลกระทบความรุนแรงได้
หากสอบถามครอบครัวของผู้ถูกน้ำท่วมในเขตเมืองโคราช ถึงสาเหตุที่เกิดความเสียหายมากในครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะบอกว่า น้ำมามากและมาเร็วกว่าที่คาดคิดไว้...น้ำเพิ่มเร็วมากในตอนกลางคืนของวันที่ 18 บ้างก็บอกว่าไม่ทราบถึงการเตือนภัย บ้างบอกว่าทราบแต่ไม่คิดว่าจะรุนแรงกว่าครั้งก่อน ทำให้ขนย้ายทรัพย์สินสำคัญไม่ทัน เช่น ที่ รพ.เซนต์เมรี่ รถยนต์จมอยู่ในน้ำนับร้อยคัน หรือบางคนในชุมชนหลังวัดสามัคคี หนีออกมาพร้อมกับเสื้อผ้าเพียงไม่กี่ชุด ดังนั้นความเสียหายในครั้งนี้จึงน่าจะมีมากกว่าครั้งก่อนหลายเท่า กล่าวโดยสรุป เกิดจากระบบการเตือนภัยที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ชาวบ้านไม่ทราบถึงระดับความรุนแรงของ น้ำท่วม
การเตือนภัยอย่างเป็นระบบ ต้องวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายด้าน ทั้งสภาพภูมิอากาศโลก ลักษณะอากาศในภาค ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่า พื้นที่ประสบภัย ระดับความรุนแรง ฯลฯ แต่อย่างน้อยในครั้งนี้ สามารถเตือนภัยได้ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. ก่อนน้ำท่วมตัวเมืองในวันที่ 18 ต.ค. ไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยอ้างอิงปริมาณฝนที่มากผิดปกติบริเวณท้ายเขื่อนลำตะคอง ที่เกิน 200 มม. และบางสถานีสูงเกิน 300 มม. เหมือนเช่นเหตุการณ์ปี 50 และเมื่อถึงวันที่ 15 ต.ค. ก็ระบุได้ว่าจะรุนแรงมากกว่าปี 50 เพราะหลายสถานีวัดฝน มีจำนวนเกิน 400 มม. ! โดยสูงสุดถึง 451 มม. !! (บ้านโนนกุ่ม) ซึ่งไม่เคยสูงสุดในระดับนี้มากก่อนจากที่เก็บข้อมูลฝนในรอบ 50 ปี ดังนั้น เพียงวันที่ 15 ต.ค. ความรุนแรงของน้ำท่วมเมืองโคราชก็มากกว่าปี 50 ถึง 1.2 เท่า !
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่สนับสนุนว่า ปีนี้จะมีอุทกภัยรุนแรงกว่าในอดีต เช่น ปรากฏการณ์ ลานิญ่า ที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้เคยรายงานว่า ปีนี้ถึงปีหน้าจะรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ทั้งความหนาวเย็นและน้ำท่วม รวมทั้งปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อน ที่ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ความชื้นของอากาศสูงขึ้น ความรุนแรงของพายุและน้ำท่วมก็จะรุนแรงมากขึ้นด้วย เป็นต้น
สาเหตุน้ำท่วมจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม
นอกเหนือจากสาเหตุตามธรรมชาติที่กล่าวแล้ว สาเหตุจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร้ระเบียบและคิดสั้นก็เป็นสาเหตุสำคัญอีกด้านหนึ่ง ที่ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นและเป็นระยะเวลานานขึ้น ได้แก่
1.การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางการไหลหรือระบายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ถนน สะพานที่ออกแบบไม่เหมาะสม ฝาย ท่อประปา ท่อสายไฟฟ้า ฯลฯ
2.การก่อสร้างหรือการตั้งถิ่นฐานชุมชนในบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงหรือพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมใกล้แม่น้ำ ซึ่งมีการถมพื้นที่ การรุกล้ำ หรือมีสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ ทางระบายน้ำ
3.ขาดการบำรุงรักษา ฟื้นฟูที่บูรณะหรือขุดลอกทางน้ำ ทางระบายน้ำ แหล่งน้ำ ทำให้เกิดการตื้นเขินด้วยตะกอนหรือวัชพืช รวมทั้งท่อระบายน้ำต่างๆ ถูกอุดตันด้วยตะกอนและขยะ
4.การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนที่ขาดการมีส่วนร่วมหรือการยอมรับจากประชาชนหรือองค์กรภาคประชาชน มักจะบกพร่องในด้านมิติของคุณภาพชีวิตหรือการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น นิคมอุตสาหกรรม การตัดถนนวงแหวนหรือเลี่ยงเมือง หมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น
5. ขาดความจริงจังในการแก้ไขปัญหา และการปล่อยปละละเลย ไม่มีการบังคับใช้ตาม พ.ร.บ. ขุดดินถมดิน พ.ร.บ.รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผังเมือง เทศบัญญัติ ฯลฯ รวมทั้งการปล่อยให้มีการบุกรุกที่ดินสาธารณะริมทางน้ำ หรือริมแหล่งน้ำหรือร่วมกันทำเอกสารสิทธิ์ เพื่อครอบครองที่ดินที่เป็นหรือควรเป็นที่สาธารณะ
แนวทางแก้ไข
นับเป็นเรื่องรบกวนเบื้องพระยุคลบาท ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ซึ่งมีพระชนมายุถึง 83 พรรษา และกำลังทรงพักรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชมาเป็นเวลานาน ต้องมาเป็นกังวลและหาทางช่วยเหลือประชาชนชาวนครราชสีมา ดังที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ผู้บริหารจังหวัด ท้องถิ่น ข้าราชการ นักธุรกิจ องค์กรภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่มากกว่าจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสาน ได้กระทำอะไรบ้างในรอบ 25 ปีมานี้ กับปัญหาน้ำท่วมเมืองโคราชซ้ำซากมาแล้ว 4 ครั้งใหญ่ ที่นับวันสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเรื่อย ๆ เหมือนกับการปล่อยปละละเลยหรือหมักหมมปัญหาโดยไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ทำให้ทีวีแทบทุกช่องประโคมแต่ข่าวน้ำท่วมเมืองโคราชมาเกือบ 2 สัปดาห์ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าละอายสำหรับชาวโคราชต่อแผ่นดินเกิดและแผ่นดินอันเป็นที่อยู่อาศัย
การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ ทั้งรัฐบาลและจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อการประสานงานและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่เดือดร้อนและพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายแล้ว แนวทางแก้ไขที่เสนอต่อไปนี้ เป็นแนวทางเพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบปัญหาที่อาจจะเกิดน้ำท่วมเมืองโคราชอีกใน พ.ศ. 2554 หรือปีอื่น ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ ได้แก่
1. สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัด ใช้งบประมาณของสถาบัน ทำการศึกษาวิจัยถึงสาเหตุของปัญหาและผลกระทบที่รุนแรงของวิกฤติน้ำท่วมปี 2553 ในพื้นที่ 32 อำเภอ ของจังหวัดนครราชสีมา และรายงานผลต่อจังหวัด ท้องถิ่นและประชาชน ภายในระยะเวลา 4 เดือน เพื่อวางแผนการดำเนินงานต่อไป
2.สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดหรือสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับจังหวัด หน่วยราชการ เครือข่ายประชาชน จัดตั้ง ศูนย์เตือนภัยน้ำท่วม ภายใน 3 เดือน โดยมีทีมนักวิชาการ ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลภูมิอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำท่าของพื้นที่ลุ่มน้ำมูลและสาขาในจังหวัด รวมทั้งการแปลความหมาย การแจ้งเตือนภัย การซักซ้อมรับมือสถานการณ์
3.จังหวัดตั้งคณะทำงานออกโฉนดหรือเอกสารสิทธ์ที่ดินของรัฐตามแม่น้ำ คลอง ห้วย หนอง บึง ต่าง ๆ รวมทั้งเสนอแนะทางปฏิบัติเพื่อนำที่ดินที่เคยเป็นที่สาธารณะใกล้ทางน้ำหรือแหล่งน้ำกลับคืนมา
4.จังหวัดตั้งคณะทำงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ร่องน้ำ เพื่อทำแผนและโครงการของบประมาณจากรัฐบาลและท้องถิ่น
5. องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ อบต.หรือเทศบาล ทำโครงการแก้มลิงหรือทำอ่างขนาดกลาง-เล็กในที่ดอนที่ไม่
มีชั้นเกลืออยู่ข้างล่าง เพื่อเก็บกักน้ำตามลำห้วยสาขาต่าง ๆ หรือเพื่อสูบน้ำจากบริเวณน้ำท่วมไปเก็บกักไว้ใช้ประโยชน์ในหน้าแล้ง
6.เทศบาลนครนครราชสีมา ร่วมกับสำนักผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา กำหนดแนวทางปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีบ้านจัดสรร ชุมชน โรงงาน อาคารพาณิชย์ ฯลฯ หรือการถมพื้นที่ ในบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงหรือพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมของลำตะคอง
7.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ดำเนินโครงการขุดร่องน้ำที่เคยมีอยู่ตามธรรมชาติ เพื่อผันน้ำจากลำบริบูรณ์ไปสู่ลำเชียงไกร ซึ่งเป็นการลดปริมาณน้ำที่ผ่านเทศบาลนครไปสู่ลำมูลที่ตำบลท่าช้าง
แนวทางที่เสนอนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งหากกระทำได้สำเร็จ เชื่อว่าจะสามารถป้องกันหรือลดผลกระทบมิให้เกิดความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ที่มีจิตอาสาเพื่อประโยชน์ส่วนรวมไม่ได้เข้ามาประสาน เสนอแนะและติดตาม ก็เชื่อว่ายากที่จะทำได้สำเร็จเช่นกัน เหมือนเหตุการณ์แก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำเน่า ที่ซ้ำซากและไม่ได้จริงจังในช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
ดังนั้น เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง ควรที่จังหวัดจะได้แต่งตั้ง คณะกรรมการภาคประชาสังคมจังหวัดนครราชสีมา ที่ประกอบด้วยบุคคลจากศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา อบจ. เทศบาลนคร หอการค้า สภาอุตสาหกรรม โรงพยาบาลนครราชสีมา สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัด กองทัพภาคที่ 2 กรมชลประทาน กรมทางหลวง ภูมิปัญญาชนและผู้ทรงคุณวุฒิในท้องถิ่น เครือข่ายหรือองค์กรภาคเอกชนภาคประชาชนต่าง ๆ ในจังหวัด เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อการปฏิบัติงานประสาน เสนอแนะและติดตามดังกล่าวแล้ว รวมทั้งรายงานต่อจังหวัด เพื่อคณะกรรมการจะได้รับการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานต่อไป