"เปิดหลักสูตรแปลก" ทางรอดเฉพาะหน้ามหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยหลายแห่งเผชิญจำนวนนักศึกษาลดลงทำให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างเปิดหลักสูตรแปลกๆ ใหม่ๆ
มหาวิทยาลัยหลายแห่งเผชิญจำนวนนักศึกษาลดลงทำให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างเปิดหลักสูตรแปลกๆ ใหม่ๆ
***********************************
โดย...เอกชัย จั่นทอง
สถานะความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาจำนวนนักศึกษาลดลงจนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมหาวิทยาลัยเอง ทำให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนแปลกๆ ใหม่ๆ เต็มไปหมด หวังดึงดูดความสนใจให้คนเข้ามาเรียน เช่น วิชาจีบ วิชาโหราศาสตร์ วิชาแพะ ฯลฯ แตกต่างจากชื่อวิชาการเรียนในอดีตอย่างมาก นั่นหมายถึงเทรนด์การศึกษาของโลกในปัจจุบัน
รัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณบดีครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ อธิบายว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งพยายามหาจุดขายในส่วนของหลักสูตรแปลกๆ ที่เปิดการสอนนั้น เริ่มต้นมาจากความจำเจการเรียนแบบเดิมหรือการใช้ประโยชน์หลังการเรียนน้อยลง บางคนเรียนไปอาจไม่ได้นำไปใช้ เมื่อเกิดหลักสูตรใหม่ทำให้คนสนใจอยากลองศึกษา ถือเป็นจุดขายอย่างหนึ่ง ถ้าถามว่าเรียนแล้วนำไปประกอบอาชีพทำงานคิดว่าผู้เรียนคงไม่ได้คาดหวังขนาดนั้น เพราะว่าคงจะหาตำแหน่งงานที่ตรงยากขึ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากแนวโน้มของความต้องการใบประกาศนียบัตรหรือใบปริญญามีความสำคัญน้อยลง ด้วยปัจจัยบริบทของโลก เทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ซึ่งทุกวันนี้ไม่ได้ต้องการใบปริญญาไปทำงาน แต่ต้องการสิ่งแปลกใหม่ ความรู้ วิธีการใหม่ที่ไม่ซ้ำแบบเดิม
“แนวโน้มของโลกและประเทศไทยในตอนนี้เรื่องวุฒิการศึกษาอาจไม่มีความสำคัญเท่ากับความรู้ความสามารถในเฉพาะเรื่อง เฉพาะด้านอีกต่อไป ฉะนั้นหลักสูตรแปลกๆ ที่เกิดขึ้นคือความแปลกใหม่ ท้าทาย ชวนตื่นเต้นให้ผู้เรียนอยากลองศึกษาเท่านั้น เป้าหมายคงเน้นเรียนเพิ่มความรู้ แต่ไม่ได้คาดหวังถึงจบแล้วต้องมีงานทำ” ประธานสภาคณบดีครุศาสตร์ฯ คาดการณ์
รัฐกรณ์ ระบุอีกว่า ปัญหาของมหาวิทยาลัยตอนนี้จำนวนผู้เรียนลดน้อยลง ทำให้ต้องสร้างจุดขายว่ามีหลักสูตรใดแปลกๆ คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ไม่ได้เรียนเอาความรู้จริงจัง เพียงต้องการความตื่นเต้นแปลกใหม่เท่านั้น แนวโน้มถ้าคนสนใจด้านใดก็จะเรียน แต่ไม่ได้ประกอบอาชีพจริง ถือเป็นยุคการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง (Disruption) จะเกิดหลักสูตรรายวิชาแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมาอีกจำนวนมาก เชื่อว่านักศึกษาที่เลือกน่าจะชื่นชอบกว่าวิชาเดิม
เรื่องของทฤษฎีเนื้อหาต่างๆ อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป เพราะถ้าหากอยากได้ความรู้นี้เราไม่จำเป็นต้องไปเรียนก็ได้ แต่สามารถเปิดค้นหาจากกูเกิลได้จำนวนมาก แต่ความแปลกใหม่อันนี้คือความท้าทายที่มหาวิทยาลัยเลือกเปิดหลักสูตรวิชาแปลกๆ ขึ้นมาจำนวนมาก
“รูปแบบการสอนแบบบรรยายพูดถึงแต่ทฤษฎี เด็กนักเรียนไม่สนใจไม่ฟัง นี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างมากว่าตอนนี้ผู้เรียนต้องการสิ่งใด ยิ่งตอนนี้ระยะเวลาการเรียนในชั้นปีจากเดิม 4 ปี อาจปรับลดเหลือ 3 ปี หรือ 2 ปีตามความเหมาะสม ตามเทรนด์การศึกษาจากทั่วโลกในปัจจุบัน ต่อไปปริญญาแทบจะไม่มีความหมาย”
รัฐกรณ์ กล่าวอย่างกังวลใจว่าทุกวันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก นั่นหมายความว่าหลักสูตรที่เปิดขึ้นมาใหม่ๆ น่าตื่นเต้นนี้อาจเกิดขึ้นมาเพียงชั่วครู่เท่านั้น อาจวูบวาบขึ้นมาอย่างโดดเด่น แต่ก็พร้อมที่จะปิดตัวลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ถ้าหากหลักสูตรวิชาการเรียนไม่มีคนสนใจ หรือมีผู้เรียนน้อยกว่าเป้าหมายที่กำหนด และก็จะมีหลักสูตรใหม่ขึ้นมาทดแทนตามการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะโลกเปลี่ยนไปรวดเร็ว
อนาคตมันอาจจะไม่มีวิชาการที่เป็น“วิชาการล้วน” แต่จะเป็น “สหวิชาการ”จะไม่มีวิชาการยืนอยู่ด้วยตัวมันเอง เพียงจะเปลี่ยนไปสู่การบูรณาร่วมกัน อาจารย์ผู้สอนจึงมีความจำเป็นต้องมีความรู้หลากหลาย โดยสามารถเชื่อมโยงบูรณาร่วมกันได้ จะมาสอนรูปแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นอาจารย์และมหาวิทยาลัยต้องเร่งปรับตัวมาก
สอดคล้องกับ สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้ความเห็นว่าการตั้งชื่อหลักสูตรวิชาการเรียนการสอนในแบบแปลกๆ มันขึ้นอยู่กับผู้สนใจเรียนมากกว่าว่าจะเลือกเรียนในแบบใด ส่วนชื่อหลักสูตรคิดว่าคงมีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน ไม่ใช่จะตั้งขึ้นมาเพื่อให้คนอยากเรียนเท่านั้น แต่ต้องสามารถตอบโจทย์การเรียนได้จริง เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่สามารถออกมาเป็นหลักสูตรการเรียนได้อย่างแน่นอน
สุขุม กล่าวว่า เชื่อว่ามหาวิทยาลัยพยายามปรับเปลี่ยนชื่อให้ดูน่าสนใจดึงดูดการเรียนมากขึ้น ภายใต้บนพื้นฐานการเรียนการสอนที่คงเป็นวิชาการเช่นเดิม นอกจากนี้ยังคิดว่าทางมหาวิทยาลัยเองคงมั่น ใจแล้วว่าจะมีผู้สนใจการเรียนในสาขาวิชาหรือหลักสูตรการเรียนนั้นแล้ว ไม่อย่างนั้นคงไม่ตั้งชื่อหลักสูตรการเรียนขึ้นมาอย่างแน่นอน และต้องมีผู้เรียนรองรับอยู่แล้วหรือบางคนอาจมองเป็นเรื่องการตลาดก็แล้วแต่จะคิดกันไป
ตัวอย่างเช่น หลักสูตรการสอนวิชาโหราศาสตร์ถือเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่คนไทยนิยมและเชื่อกันมานาน เพียงแต่อาจมีการปรับประยุกต์ให้เข้ากับการเรียนในปัจจุบันอย่างเหมาะสมจนลงตัว โดยผ่านการผสมผสานกับเรื่องของดาราศาสตร์ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับดวงดาวต่างๆก็สามารถนำมาใช้ในวิชาเรียนได้เช่นกัน ทุกวันนี้มีคนศึกษาในศาสตร์เหล่านี้อยู่จำนวนมาก จนเกิดเป็นหลักสูตรในการเรียนการสอน หรือเป็นวิชาเลือกของนักศึกษาได้ บนพื้นฐานการยอมรับของนักศึกษาเอง” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุ
สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายหลักสูตรวิชาในมหาวิทยาลัยบางครั้งแทบไม่มีนักศึกษาไปเรียนหรือสนใจ ทำให้ต้องปิดตัวลงไปก็มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน ยอมรับว่าส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาหรือคัดค้านกับชื่อของหลักสูตรการเรียน เรื่องการตั้งชื่อหลักสูตรที่ดูแปลกใหม่นั้นอาจเป็นเรื่องของศาสตร์การเรียนการสอนอย่างหนึ่งของการศึกษาที่ต้องปรับตัวต่อไป