posttoday

ยุคสุดท้ายของ "มหาวิทยาลัย" ที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนอะไร

28 มกราคม 2562

จำนวนผู้สมัครเรียนที่ลดลง เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่า "สถาบันอุดมศึกษา" จะดำรงอยู่แบบเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

จำนวนผู้สมัครเรียนที่ลดลง เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่า "สถาบันอุดมศึกษา" จะดำรงอยู่แบบเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

***********************

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ปีนี้มีจำนวนมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาหรือทีแคส ถึง 92 แห่ง แต่จากการเปิดรับสมัครลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.mytcas.comมาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2561 พบว่ามีที่นั่งเหลือถึง 1.2 แสนที่

ที่นั่งที่เหลือจำนวนมากย่อมหมายถึงผลที่ตามมา ซึ่งจะเกิดกับคณะวิชาของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยเฉพาะสถาบันหรือคณะที่ไม่มีชื่อเสียงเป็นแรงดึงดูดผู้เรียนมากพอ

แน่นอนว่ากรณีดังกล่าวต้องแก้ปัญหาด้วยการเปิดรับสมัครอีกรอบ เพื่อให้ได้ผู้เรียนครบตามจำนวนที่ต้องการ แต่บางแห่งก็เปิดรับรอบแล้วรอบเล่าจนหมดฤดูรับนักเรียน ก็ยังไม่ได้ตัวเลขผู้เรียนตามเป้าที่วางไว้ ตัวเลขที่ไม่กระเตื้องอาจส่งผลให้ต้องตัดสินใจปิดคณะนั้นๆ ไปอย่างเงียบๆ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากชี้ชัดว่าเป็นภาพซ้ำของวิกฤตที่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งต้องเผชิญหน้ามาแล้วหลายปีติดต่อกัน ยังเป็นสิ่งที่ ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่าเป็นสัญญาณเตือนที่บอกชัดว่าสถาบันอุดมศึกษาต้องตระหนักว่าจะดำรงอยู่แบบเดิม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ทุกวันนี้นอกจากเรื่องของจำนวนผู้เรียนที่จะลดลงไปเรื่อยๆ ตามสัดส่วนของประชากรที่เข้าสู่ช่วงถดถอยแล้ว ต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก แต่หลายแห่งก็ยังติดกับดักปัญหาเดิมๆ โดยเฉพาะเรื่องผลิตคนไม่ตอบโจทย์กับตลาดยุคใหม่

...ที่ผ่านมา องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยที่ถูกนำไปต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมมีไม่ถึง 20% ทั้งๆ ที่มีมหาวิทยาลัยคิดค้นวิจัยสิ่งดีๆ ที่เป็นต้นแบบที่แรกของโลกออกมามากมาย แต่สิ่งที่คิดออกมานำไปใช้ในโลกความจริง หรือไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมหรือของเอกชน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ เรามีอาจารย์ที่เก่ง มีงานวิจัยดีๆ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นแค่ต้นน้ำที่ถูกส่งต่อไปสู่ภาคการผลิตไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะไปโทษมหาวิทยาลัยหรือโทษเอกชนไม่ได้ เพราะความผิดอยู่ที่รัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีใครลงมาดูเรื่องนี้โดยตรง และมองไปข้างหน้าโดยคาดการณ์และบอกได้ว่าอาชีพไหน มหาวิทยาลัยจะต้องผลิตคนน้อยลง ตลาดแรงงานในอนาคตจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน จริงอยู่ ใครๆ ก็ต้องเห็นด้วยว่ามหาวิทยาลัยควรจะมีเสรีภาพทางวิชาการอย่างเต็มเปี่ยม โดยที่ไม่มีใครแทรกแซงหรือไปสั่งได้ แต่ก็จำเป็นต้องบอกกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้า และถ้าไม่ปรับตัว ไม่มีผู้เรียน ก็จะอยู่อย่างลำบาก

ศ.นพ.อุดม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไป จะสอนด้านศาสตร์ต่างๆ แบบตรงๆ เหมือนในอดีตไม่ได้ แต่ต้องเป็นการเรียนการสอนแบบหลายศาสตร์ที่ยืดหยุ่นสำหรับนำไปใช้ประกอบอาชีพได้จริงในสังคมยุคใหม่ หรือปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในทุกช่วงวัย รวมทั้งเปลี่ยนเป้าหมายของผู้เข้าเรียนใหม่ ให้มีทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน และคนสูงอายุ ด้วยรูปแบบหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว ต้องคำนึงถึงทิศทางในการพัฒนาประเทศ สร้างจุดเด่นและจุดขายที่โดดเด่นแตกต่างของแต่ละแห่งจึงจะอยู่รอดได้

“เราคงเคยได้ยินมาแล้วว่า ในสหรัฐอเมริกามีมหาวิทยาลัยปิดตัวแล้ว 500 กว่าแห่ง และมีการพยากรณ์กันว่าจะปิดเพิ่มเป็น 2,000 แห่ง ใน 10 ปีข้างหน้า เพราะจำนวนประชากรวัยเรียนที่ลดลงเช่นเดียวกับในบ้านเรา และพฤติกรรมของผู้เรียนเปลี่ยนไป เด็กในอเมริกาอยากทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยมากขึ้น และจำนวนผู้เรียนออนไลน์ก็เพิ่มขึ้น

เพราะหลายคนเห็นว่าเป็นการเรียนที่ตอบโจทย์ความต้องการได้โดยมีค่าใช้จ่ายต่อหัวต่ำ บางแห่งเปิดโอกาสให้สามารถเรียนได้โดยไม่ต้องมีวุฒิการศึกษาที่จบชั้นมัธยม และเรียนจบรับปริญญาตรีได้ในเวลาแค่ 2 ปี แต่ไม่ได้รับเด็กที่จบใหม่ ต้องมีการทดสอบความสามารถก่อน” รมช.ศธ.กล่าว

ศ.นพ.อุดม กล่าวว่า บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลเคยสร้างหลักสูตร IT Support Professional Certificate เป็นหลักสูตรเรียนออนไลน์ระยะเวลา 8-12 เดือน ผ่านเว็บไซต์ Coursera สำหรับการสมัครทำงานระดับ Entry Level โดยทำข้อตกลงรับเข้าทำงานและติดต่อกับบริษัทใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกา ที่พร้อมจะพิจารณารับผู้ที่จบหลักสูตรดังกล่าวเข้าทำงาน

โดยในปัจจุบันต้องยอมรับว่า บริษัทเอกชนในอเมริกาบางแห่งเริ่มหันไปผลิตหลักสูตรเองโดยท้าทายผู้เรียนว่า ทำไมต้องเรียนหนังสือยาวนานถึง 20 ปี เพื่อไปทำงานที่ไม่ได้ชอบ ทำไมต้องเรียนในสิ่งที่ไม่ได้สนใจและไม่ถนัด และทำไมต้องเรียนบางเนื้อหาที่เริ่มล้าสมัย

“มหาวิทยาลัยทั่วโลกกำลังปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงซึ่งมาถึงเร็วมาก ผมเคยไปเยี่ยมชมยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ซิดนีย์ ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถูกจัดอันดับโลกที่ดีจนทิ้งมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของบ้านเรานับ 100 อันดับ

ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ซิดนีย์ เคยมีคณะวิชาถึง 17 คณะให้เลือกเรียน แต่ปัจจุบันยุบทิ้งหรือยุบรวมคณะที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมจนเหลือเพียง 5 คณะ และเคยไปที่เมืองบอร์กโดซ์ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส ในเมืองนั้นเคยมีมหาวิทยาลัยใหญ่ถึง 4 แห่ง แต่เขาก็ตัดสินใจยุบทั้ง 4 แห่งรวมกัน โดยคงคณะที่เป็นจุดแข็งของแต่ละที่ไว้ในมหาวิทยาลัยแห่งเดียว

ศ.นพ.อุดม กล่าวทิ้งท้ายว่า สาเหตุที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวต้องทำแบบนั้น เพราะต่างคาดการณ์ว่าหากไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้ก็จะอยู่ไม่ได้ และปรับพัฒนาตัวเองจนมีผลงานดีขึ้นในทุกด้าน เขากล้าที่จะเปลี่ยนแปลงโดยไม่รอให้เกิดความเสียหายจากกรณีที่ไม่มีผู้เรียนและหลักสูตรที่ล้าหลัง เมื่อกลับมามองที่บ้านเรา ซึ่งต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งยังอยู่ในคอมฟอร์ตโซน มีมาตรฐานที่ต่ำกว่าตามที่ยกตัวอย่างมาและมีปัญหามากมาย เราต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมถึงยังไม่ค่อยคิดเรื่องปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาที่กำลังจะมาถึง