ศึกช้างชนช้างแข่งเดือดทั่วไทย
วันแรกของการเปิดรับสมัคร สส.ทั่วประเทศ พอที่จะมองเห็นถึงความ ดุเดือดในการแข่งขันหลายพื้นที่
โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์
วันแรกของการเปิดรับสมัคร สส.ทั่วประเทศ ก็พอที่จะมองเห็นถึงความ ดุเดือดในการแข่งขันหลายพื้นที่ ทั้งอดีต สส.เจ้าของพื้นที่เดิม และผู้ท้าชิงที่ชื่อชั้นไม่ธรรมดาพอเทียบเคียงสูสี หรือแม้แต่หลายพื้นที่ซึ่งอดีต สส.ย้ายพรรค การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ทำให้ต้องกลับมาชิงชัยกันเอง
พื้นที่ซึ่งคอการเมืองจับตาว่าน่าติดตามมากที่สุดคือ เขตเลือกตั้งที่ 3 จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นสนามประลองระหว่าง ประภัตร โพธสุธน ผู้สมัครพรรคชาติไทยพัฒนา กับ จองชัย เที่ยงธรรม พรรคภูมิใจไทย ซึ่งทั้งคู่ต่างก็เป็นศิษย์เก่าของพรรคชาติไทยพัฒนา ใต้ร่มเงา บรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคมาด้วยกัน
จ.สระแก้ว ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งน่าจับตา เมื่อตระกูลเทียนทองเจ้าของพื้นที่มายาวนาน ถึงคราวแตกออกเป็น 2 ขั้ว หนึ่ง เสนาะ เทียนทอง ยังเหนียวแน่นอยู่กับพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ บรรดาหลานๆ เทใจย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ
การเลือกตั้งครั้งนี้จึงได้เห็น ฐานิสร์ เทียนทอง สวมเสื้อพรรคพลังประชารัฐ แข่งขันกัน สนธิเดช เทียนทอง พรรคเพื่อไทย ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.สระแก้ว ส่วนเขต 2 ตรีนุช เทียนทอง สังกัดพรรคพลังประชารัฐ หลานสาวป๋าเหนาะ ต้องพบกับคู่ท้าชิงซึ่งป๋าเหนาะให้การสนับสนุนนั่นคือ พ.ต.อ.พายัพ ทองชื่นอดีต สว.สระแก้ว ซึ่งลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย
พื้นที่ภาคใต้ฐานที่มั่นสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้กำลังถูกจับตามอง จากการก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยโดย สุเทพ เทือกสุบรรณประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนำทีมอดีต สส.สุราษฎร์ธานี ย้ายสังกัดเข้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย และลงแข่งขันชิงชัยกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อนเก่า
แม้ว่าจะสูญเสียอดีต สส.ไป แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็คัดตัวผู้ที่จะมาลงสมัครแทน ซึ่งมีคุณสมบัติที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน เมื่อบวกกับกระแสความนิยมของพรรคในฐานะเจ้าของพื้นที่มาอย่างยาวนาน การแข่งขันระหว่างพรรครวมพลังประชาชาติไทย ภายใต้การนำของตระกูลเทือกสุบรรณ กับพรรคประชาธิปัตย์ ใน จ.สุราษฎร์ธานี จึงไม่ควรกะพริบตา
เขตเลือกตั้งสุราษฎร์ธานีที่น่าจับตาคือ เขต 1 ธานี เทือกสุบรรณ หรือกำนันเล็ก น้องชายสุเทพ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ย้ายมาพรรครวมพลังประชาชาติไทย ต้องพบกับ ภาณุ ศรีบุศยกาญจน์ อดีตรองนายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เขต 4 เชน เทือกสุบรรณ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ น้องชายสุเทพ พบกับ สมชาติ ประดิษฐ์พร ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และเขต 6 ภูมิ เทือกสุบรรณ อดีต สจ.สุราษฎร์ธานี หลานชายสุเทพ ต้องพบกับ ธีรภัทร พริ้งศุลกะ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของเก้าอี้เดิม ซึ่งเป็นบุตรชาย นิภา พริ้งศุลกะ อดีต สส.หลายสมัยสำหรับพื้นที่อื่นๆ ที่น่าจับตา ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ บรรดาขาใหญ่ต่างสับหลีกพื้นที่ไม่ลงปะทะกันโดยตรง คงมีเพียงพื้นที่เขต 1 ซึ่ง พรชัย จิตรนวเสถียร อดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ อดีตผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ สวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ พบกับ ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์อดีต สส.พรรคเพื่อไทย
จ.เชียงราย ในเขตเลือกตั้งที่ 1 ซึ่ง สามารถ แก้วมีชัย อดีต สส.จากพรรคเพื่อไทย จะต้องมาพบกับ รัตนา จงสุทธานามณี อดีต สส.และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ซึ่งสวมเสื้อพรรคพลังประชารัฐ
จากภาคเหนือตอนบนลงมาถึงตอนล่าง เมืองสองแคว จ.พิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 ซึ่ง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ขุดคุ้ยกรณีทุจริตโครงการจำนำข้าว ต้องมาพบกับ เศรษฐา กิตติจารุรักษ์ หรือ สจ.ใหญ่ ซึ่งครั้งนี้ได้แรงหนุนจากการลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ
อีกเขตเลือกตั้งเมืองสองแควที่น่าจับตาคือ เขต 5 ซึ่งเจ้าของพื้นที่เดิม นคร มาฉิม โบกมือลาพรรคประชาธิปัตย์ มาสังกัดพรรคเพื่อไทย ครั้งนี้ต้องพบกับคู่แข่งที่จะประมาทไม่ได้อย่าง มานัส อ่อนอ้าย เลขานุการนายก อบจ.พิษณุโลก ซึ่งสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์บ้านเก่าซึ่งส่ง คณิศ รมาดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกะท้าว อ.นครไทย หลานชายของนครมาลงชิงชัย
พื้นที่ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา น่าจับตาเขตเลือกตั้งที่ 1 ซึ่ง เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร อดีต สส.ผูกขาดเจ้าของพื้นที่ ย้ายจากชาติไทยพัฒนาไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย โดยครั้งนี้ต้องพบกับคู่แข่งเก่า สุรเชษฐ์ ชัยโกศล อดีต สส.พรรคพลังประชาชน อดีตนายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งครั้งนี้มาสังกัดพรรคเพื่อไทย และเขต 2 ครั้งนี้ ชาตรี อยู่ประเสริฐ อดีตรองนายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา ตัดสินใจ ลงการเมืองระดับชาติในนามพรรคพลังประชารัฐ โดยต้องพบกับ นพ ชีวานันท์ แห่งพรรคเพื่อไทย ซึ่งต้องรักษาเก้าอี้แทน พ้อง ชีวานันท์ อดีต สส.ที่ เสียชีวิต และอีกหนึ่งที่น่าจับตาคือ กุมพล สภาวสุ อดีตสว.พระนครศรีอยุธยา ที่สวมเสื้อพรรคภูมิใจไทย
จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 อ.เมือง กุยบุรี และสามร้อยยอด ซึ่งมี มนตรี ปาน้อยนนท์ อดีต สส.หลายสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ครั้งนี้ต้องพบกับ วิชิต ปลั่งศรีสกุล อดีต สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งเปลี่ยนมาลงระบบเขต
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี เขต 2 ซึ่งพรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าของพื้นที่มาอย่างเหนียวแน่น มาครั้งนี้อาจถูก เจาะยาง โดย นพ.วิชัย ชัยจิตวณิชกุล อดีต สส.หลายสมัย ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากคดียุบพรรคไทยรักไทยเมื่อ ปี 2550 หวนคืนสังเวียนการเมือง สวมเสื้อพรรคพลังประชารัฐ ลงชนกับ อนัน ศรีพันธ์ อดีต สส.เจ้าของพื้นที่พรรคเพื่อไทย
อีกพื้นที่หนึ่งคือ จ.นครราชสีมา เขต 9 บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีต สส.ภูมิใจไทย ซึ่งครั้งนี้ย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ต้องพบกับ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด อดีตรองโฆษกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย
นี่คือส่วนหนึ่งของสัญญาณการแข่งขันที่ดุเดือดในศึกเลือกตั้ง 2562 ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นในการรับสมัครเลือกตั้ง สส.เพียงแค่วันแรก ซึ่งไม่แน่ว่าจวบจนวันสุดท้ายของกำหนดการรับสมัคร จะมีสัญญาณใดๆ ให้เห็นกันอีกหรือไม่
แต่ที่แน่ๆ การเลือกตั้งครั้งนี้มิอาจกะพริบตาได้เลย
บรรยายภาพ - บรรยากาศการรับสมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตของ กทม. ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กรุงเทพฯ