เผยความหมายตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก62
คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์พระราชพิธีฯเผยความหมาย "ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562"
คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์พระราชพิธีฯเผยความหมาย "ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562"
เมื่อวันที่ 28 มี.ค.62 คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้เผยแพร่ ความหมาย "ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒" โดยมีรายละเอียดดังนี้
อักษรพระปรมาภิไธย วปร
พื้นอักษรสีขาวขอบเดินทอง อันเป็นสีของวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพ ภายในอักษรประดับเพชร วปร อยู่บนพื้นสีขาบ (น้ำเงินเข้ม) อันเป็นสีของขัตติยกษัตริย์ ภายในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์สีทองสอดสีเขียวอันเป็นสีซึ่งเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ
กรอบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อัญเชิญมาจากกรอบที่ประดิษฐานพระมหาอุณาโลม อันเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
พระมหาเศวตฉัตร
เบื้องหลังพระมหาพิชัยมงกุฎประดิษฐาน พระมหาเศวตฉัตร อันมีระบายขลิบทองจงกลยอดฉัตรประกอบรูปพรหมพักตร์อันวิเศษสุด ระบายชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง แสดงถึงพระบารมีและพระบรมเดชานุภาพที่ปกแผ่ไปทั่วทิศานุทิศ
แถบแพรพื้น
เบื้องล่างกรอบอักษรพระปรมาภิไธยมีแถบแพรพื้นสีเขียวสนิมทอง ขอบขลิบทอง มีอักษรสีทองความว่า "พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช ๒๕๖๒"
ปราบแถบแพรเบื้องขวามีรูปคชสีห์กายม่วงอ่อน ประคองฉัตร ๗ ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายทหาร
เบื้องซ้ายมีรูปราชสีห์กายขาวประคองฉัตร ๗ ชั้น หมายถึง ข้าราชการฝ่ายพลเรือนผู้ปฏิบัติราชการสนองงานแผ่นดินอยู่ด้วยกัน
ข้างคันฉัตรด้านในทั้งสองข้างมีดอกลอยกนกนาค แสดงถึงปีมะโรงนักษัตรอันเป็นปีพระบรมราชสมภพ สีทองหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองยิ่งของประเทศชาติและประชาชน
แวดล้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช ได้แก่
พระมหาพิชัยมงกุฎ (๑) และเลขมหามงคลประจำรัชกาลอยู่เบื้องบน หมายถึงทรงรับพระราชภาระอันหนักยิ่งของแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
พระแสงขรรค์ชัยศรี (๒) หมายถึงทรงรับพระราชภาระปกป้องแผ่นดินให้พ้นจากภยันตราย
ธารพระกร (๓) หมายถึงทรงดำรงราชธรรมเพื่อค้ำจุนบ้านเมืองให้ผาสุกมั่นคง
พระแส้จามรี (๔) กับพัดวาลวิชนี (๕) หมายถึงทรงขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์
ฉลองพระบาทเชิงงอน (๖) หมายถึงทรงทำนุบำรุงปวงประชาทั่วรัฐสีมาอาณาจักร