เร่งปฏิรูประบบสาธารณสุขด้วย Telemedicine
Telemedicine คือ ระบบดูแลสุขภาพทางไกลในพื้นที่ชนบท ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี พร้อมอุปกรณ์การแพทย์
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อดีต รองประธาน กสทช.
จากการที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข มีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล และปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข โดยนายอนุทิน ได้มอบหมายให้พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และยังควบตำแหน่งโฆษกของพรรคอีกด้วย ให้ช่วยงานผลักดันนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุข คือ การปฏิรูประบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้ระบบโทรเวชกรรม หรือ Telemedicine มาเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงาน
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขถือว่า เป็นแหล่งรวบรวมแพทย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไว้มากมาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เป็นผู้ช่วยชีวิตผู้คนและเป็นวีรบุรุษที่เสียสละ และต้องทำการตอบสนองผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา แต่ในปัจจุบันในประเทศไทยและในหลายๆประเทศทั่วโลก ล้วนประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยต่อแพทย์มากเกินไป ทำให้แพทย์มีเวลาในการดูแลผู้ป่วยไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาต้องใช้เวลารอคอยเป็นเวลานานหลายชั่วโมง และแพทย์เองก็อาจมีความเสี่ยงที่จะตัดสินใจผิดพลาด เนื่องจากความเหนื่อยล้า
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าเฉลี่ยแพทย์ 1 คน ต่อจำนวนประชากร 439 คน แต่ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยแพทย์ 1 คน ต่อจำนวนประชากร 2,065 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4.7 เท่า และในหลายประเทศทั่วโลกก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน จนทำให้ทั่วโลกกำลังมีการวางแผนพัฒนาระบบแพทย์ทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Telemedicine) เพื่อนำเทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสารเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ซึ่งในที่สุด Telemedicine จะช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
เมื่อถามว่า มีมุมอื่นใดหรือไม่ที่เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมสามารถช่วยทำให้วงการสาธารณสุขดีขึ้น พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า เนื่องจากความรู้และผลการวิจัยด้านการแพทย์ใหม่ๆ มีออกมาทุกนาที ซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่าแพทย์จะสามารถติดตามข้อมูลใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ อย่างดีที่สุดก็อาจมุ่งเน้นไปที่ผลการศึกษาทางการแพทย์เพียงแค่บางส่วนเท่านั้น จากการศึกษาพบว่าในปี 2014 เพียงปีเดียวได้มีการเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ประมาณ 750,000 เรื่อง และจากการศึกษาเหล่านั้น 150,000 เรื่อง เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ว่าแพทย์ที่ศึกษาทางด้านโรคมะเร็งจะสามารถนำผลการศึกษาทั้งหมดมารวบรวมและนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้ ดังนั้นการนำเอาเทคโนโลยี Big data และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีความชาญฉลาดในการวิเคราะห์และประมวลผลอย่างรวดเร็วมาใช้ ก็จะทำให้สามารถเลือกแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับวงการแพทย์ไทยได้ ซึ่งในปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วโลกได้เริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ว่าสามารถลดภาระการทำงานที่ซ้ำซากได้หรือไม่ ระบบดูแลสุขภาพที่นำ AI มาใช้ จะทำให้กระบวนการทางการแพทย์ถูกดำเนินการด้วยอัลกอริทึมที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำหรับแพทย์ สามารถลดข้อผิดพลาดของมนุษย์และลดเวลาที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค เช่น Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google กำลังได้รับการฝึกอบรมเพื่อระบุเนื้อเยื่อมะเร็ง และความเสียหายของจอประสาทตา และพบว่า AI มีความแม่นยำสูงกว่าผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์ที่มีความรู้มากที่สุดได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันการวัดและการบ่งชี้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งโดยแพทย์ยังคงต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง และแพทย์มักจะทำภายหลังเวลาเลิกงานแล้ว ซึ่งทำให้แพทย์เกิดความเครียดที่ไม่จำเป็นอีกด้วย ดังนั้นการบ่งชี้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำด้วย AI จึงเข้ามาช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
เมื่อถามว่า ในมุมของผู้ป่วย เทคโนโลยีจะช่วยทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร มีตัวอย่างที่จับต้องได้หรือไม่ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า นอกจากแพทย์ที่ทำงานหนักแล้ว การที่ผู้ป่วยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเอง ก็เป็นปัญหาในการดูแลรักษาสุขภาพ ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการให้ข้อมูลย้อนกลับไปยังผู้ป่วย โดยเทคโนโลยีอย่างเช่นสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ จะช่วยให้ผู้คนสามารถตรวจสอบสุขภาพของตนเองได้แบบเรียลไทม์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลในแบบเฉพาะบุคคล ทำให้ผู้คนมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพของตัวเอง และยังช่วยพัฒนาอัลกอริทึมการฝึกอบรมทางการแพทย์ที่ได้มาจากข้อมูลที่รวบรวมมานับล้านๆ รายการ ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็เป็นวิธีการที่ทำให้เราสามารถลดความจำเป็นในการไปพบแพทย์ได้ เนื่องจากแอปพลิเคชั่นและเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้เข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ อย่างเช่นนาฬิกาที่มีเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจในระดับที่สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ได้ ซึ่งสามารถตรวจจับและวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในทำนองเดียวกันแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับโรคเบาหวานก็สามารถตรวจสอบการรับประทานอาหารและระดับน้ำตาลได้ สามารถลดโอกาสของการเกิดอันตรายในระยะยาวได้ มีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ วิดีโอแชทช่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถพบแพทย์ได้อย่างสะดวกสบายที่บ้านโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อบทบาทของเทคโนโลยีชัดเจนขึ้น ก็ย่อมมีประเด็นปัญหาในเรื่องของความไม่แน่นอนของกฎระเบียบ กฎหมาย ประสิทธิภาพ และการเข้าถึง ดังนั้นการนำ Telemedicine มาใช้ ก็อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาความท้าทายที่เกิดขึ้นนี้ได้
เมื่อถามว่า มีตัวอย่างกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงแล้วในประเทศใดบ้าง ที่เห็นผลอย่างชัดเจน พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศทางแถบแอฟริกา ได้มีการพัฒนา Telemedicine และเริ่มนำมาใช้งานแล้ว เนื่องจากปัจจุบันแอฟริกาต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญด้านการดูแลสุขภาพ เนื่องจากมีจำนวนประชากรที่มีรายได้ต่ำ โดยพบว่า มีผู้ที่มีรายได้น้อยกว่าหนึ่งดอลลาร์ต่อวันมากถึงร้อยละ 36 ซึ่งทวีปนี้มีประชากรร้อยละ 14 ของประชากรโลก แต่มีบุคลากรทางการแพทย์ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ปัญหาจำนวนประชากรที่เติบโตอย่างมาก ทำให้แอฟริกามีสัดส่วนภาระโรคสูงถึงร้อยละ 25 และมีโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 ในช่วงระหว่างปี 2010 และ 2020
มีประชากรเพียงร้อยละ 30 ของประชากรแอฟริกาเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ และหลายๆประเทศในแอฟริกายังคงเผชิญกับความท้าทายทางการแพทย์ที่สำคัญ เนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องเพียงพอที่จะนำมาใช้กับประชาชนได้ ดังนั้น ทางออกสำหรับการพัฒนาทางสังคมในแอฟริกาอย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือระบบ Telemedicine และระบบการศึกษาทางไกล (Tele-education) ทางด้านการแพทย์ เพื่อให้โครงการ Telemedicine สามารถใช้งานได้ดีขึ้น
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า แอฟริกามีโครงการ telemedicine โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลในอินเดีย 11 แห่ง ที่มีการเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลใหญ่ 33 แห่งในแอฟริกา มีการให้คำปรึกษาทางไกลระหว่างประเทศขึ้นในบางประเทศ เช่น ลิเบีย, มาลาวี, โมซัมบิก, โซมาเลีย และ ยูกันดา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนักเรียนกว่า 1,700 คนจากประเทศในแอฟริกา ที่ลงทะเบียนเรียนกับมหาวิทยาลัยของอินเดีย ภายใต้โครงการ Tele-education โดยบริการ Telemedicine จะเป็นการให้บริการในเรื่องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เช่น การบริการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และบริการคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ การตรวจติดตามผู้ป่วย การศึกษาด้านการแพทย์ และข้อมูลด้านสุขภาพ
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าาว่า ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน Telemedicine ของประเทศยูกันดาให้มีความยืดหยุ่น มีความจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานสำหรับนโยบายสุขภาพแห่งชาติ โดยการนำ Telemedicine มาใช้ในยุกันดาก็เพื่อให้ประชาชนสามารถการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพสูง ซึ่งมีการใช้ telepathology หรือการส่งภาพชิ้นเนื้อจากกล้องจุลทรรศน์ หรือส่งรายงานผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา เพื่อให้แปลผล วินิจฉัย และให้คำปรึกษา ซึ่งโครงการ telepathology ในยูกันดานี้ เริ่มต้นจากการใช้ภาพนิ่ง ที่ถือได้ว่ามีต้นทุนต่ำ ทั้งในการรวบรวม จัดเก็บ และส่งต่อภาพดิจิทัลแต่ละภาพหรือเป็นแกลเลอรี่ภาพ สำหรับการวินิจฉัยทางไกล โดยแนบไปกับอีเมล แต่ในปัจจุบันได้มีการแลกเปลี่ยนภาพทางพยาธิวิทยาและรังสีวิทยา รวมถึงการประชุมทางไกลระหว่างโรงพยาบาล ซึ่งหนึ่งในความสำเร็จคือ การวินิจฉัยและความแม่นยำของการตรวจสอบโดยใช้ระบบ telepathology ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยในปัจจุบันสามารถใช้กล้องจุลทรรศน์ ได้จากระยะไกล เพื่อดูและแปลผลจากภาพในระยะไกล ซึ่งสามารถประสบความสำเร็จ ในเครือข่ายการให้บริการสำหรับห้องปฏิบัติการสุขภาพแห่งชาติ โดยการใช้กล้องในแผนกจุลพยาธิวิทยา จากระยะไกลในพื้นที่ที่ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น โรคผิวหนัง เนื้องอก และโลหิตวิทยา
สำหรับ ในประเทศอินเดีย พบว่า 60% ของประชากรชาวอินเดียอาศัยอยู่ในชนบท แต่ 80% ของสถานบริการด้านการดูแลสุขภาพอยู่ในเขตเมือง ประชากรในชนบทของอินเดียจึงต้องใช้บริการจากศูนย์บริการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Center: PHC) ที่ไม่สามารถให้บริการที่ซับซ้อนได้ ดังนั้นจึงมีระบบ Telemedicine เกิดขึ้นในอินเดีย โดยจุดมุ่งหมายหลักของระบบ Telemedicine ในอินเดีย คือการให้บริการในราคาที่ไม่แพง ผ่านโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่ง ปัจจุบันมีหน่วย Telemedicine จำนวน 550 แห่ง ในเขตชานเมืองและชนบทของประเทศอินเดีย มีการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลชั้นนำกว่า 70 แห่ง ตัวอย่าง Telemedicine ในอินเดีย เช่น โครงการ Apollo Telemedicine Networking Foundation (ATNF) ที่มีศูนย์บริการ 106 แห่งในอินเดีย และ 9 แห่งในต่างประเทศ
เมื่อถามว่า ในประเทศไทยของเรา โครงการ Telemedicine มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและการประยุกต์ใช้งานบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชนบท Telemedicine เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่ชนบทผ่านโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) และพื้นที่ชายขอบ (Zone C+)
Telemedicine คือ ระบบดูแลสุขภาพทางไกลในพื้นที่ชนบท ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ เหมือนผู้ป่วยได้เดินทางไปรับคำปรึกษาจากแพทย์ด้วยตัวเอง ทำให้ได้รับคำปรึกษาได้อย่างทันเวลา และยังช่วยลดความแออัดของจำนวนคนไข้ ลดภาระของแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมือง เป็นการยกระดับการรักษาพยาบาลให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งระบบโทรคมนาคมเฉพาะทางเพื่อรองรับระบบดูแลสุขภาพทางไกล เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการคัดกรองโรค ระบบให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางไกล เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการทางการแพทย์โดยไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล โดยมีเป้าหมายขยายไปสู่พื้นที่ชนบทอื่นทั่วประเทศ
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ในขณะนี้ กสทช. ได้ดำเนินการตามกรอบความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข โดยในระยะเริ่มต้นมี 8 จังหวัดนำร่องที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ จ.เชียงราย เพชรบูรณ์กำแพงเพชร กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี และ สงขลา ครอบคลุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 15 แห่ง คลินิกหมอครอบครัว (รพ.สต ขนาดใหญ่) จำนวน 4 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จำนวน 5 แห่ง และ โรงพยาบาลประจำจังหวัด จำนวน 8 แห่ง รวมถึงศูนย์เฉพาะทางโรคตา ศูนย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง และในอนาคตจะขยายไปสู่พื้นที่ชนบทอื่นทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม การนำ Telemedicine มาใช้จะทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการรอคอยแพทย์นานๆ อีกต่อไป และผู้ป่วยยังสามารถได้รับความช่วยเหลือในกรณีเร่งด่วนได้อย่างทันท่วงที โดยประโยชน์ที่สำคัญของ Telemedicine คือสามารถเพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุหรือคนพิการที่เคลื่อนที่ลำบาก สามารถพบและปรึกษาแพทย์จากที่บ้านหรือหมู่บ้านของตนได้ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับทั้งแพทย์และผู้ป่วย และยังช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายทางด้านการดูแลสุขภาพ เนื่องจาก Telemedicine สามารถลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบแพทย์ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่เดินทางลำบาก"
“ ท่าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้กล่าวกับผมเสมอว่า เราต้องทำตามสัญญากับเจ้านายของเรา นั่นคือประชาชน และกำชับมอบหมายให้ผม ผลักดันให้โครงการ Telemedicine เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยด่วนที่สุด ซึ่งผมถือว่าได้รับเกียรติและถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งที่ต้องตอบแทนคุณแผ่นดินและพี่น้องประชาชนที่เลือกพวกเราเข้ามาทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้” พ.อ.ดร. เศรษฐพงค์