posttoday

เปิดผลวิจัยเลือกตั้ง 24 มี.ค.!!ชี้ชัดระบบจัดสรรปันส่วนผสมสร้างปัญหาสารพัด

26 กันยายน 2562

'ปริญญา'ชำแหละเลือกตั้ง 24 มี.ค.ผลวิจัยชี้ชัดระบบจัดสรรปันส่วนผสมทำวุ่นวายซื้อเสียงเพิ่มขึ้น แนะ ต้องแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง

'ปริญญา'ชำแหละเลือกตั้ง 24 มี.ค.ผลวิจัยชี้ชัดระบบจัดสรรปันส่วนผสมทำวุ่นวายซื้อเสียงเพิ่มขึ้น แนะ ต้องแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์? นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวผลการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาของการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดทำวิจัย เรื่อง “ปัญหาของระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ2560 และปัญหาการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และแนวทางแก้ไข

ทั้งนี้ นายปริญญา กล่าวว่า ได้เก็บข้อมูลวันเลือกตั้งจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเสร็จแล้ว3,250 คน ใน 4 ภาค 20 จังหวัด และเก็บข้อมูลจากผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวน 73 คนจาก 40 พรรคการเมือง การสนทนากลุ่ม 5 ครั้ง ใน 4ภาค รวมถึงสอบถามกับผู้ปฏิบัติงานสำนักงาน กกต. จังหวัด สำนักงาน กกต.เขต กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้นำพรรคการเมืองใหญ่ 5 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ โดยจากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์และสรุปผลการศึกษาได้เป็น 5 ประการ ประกอบด้วย

ประการที่ 1 ปัญหาของระบบเลือกตั้งแบบ "จัดสรรปันส่วนผสม" เบื้องต้นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พยายามอธิบายว่าเป็นระบบการเลือกตั้งที่ง่าย แต่จากการศึกษาวิจัยพบปัญหา 7 ประการ ประกอบด้วย (1) ปัญหาความยุ่งยากในการคำนวณจำนวนส.ส.เนื่องจากระบบเลือกตั้งแบบนี้มีเพียงคะแนนเดียวทำให้การคำนวณจำนวนที่นั่งส.ส.ที่แต่ละพรรคจะได้รับและจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อมีความยุ่งยากและซับซ้อนกว่าการเลือกตั้งแบบมีบัตรสองใบ

นอกจากนี้ วิธีการคำนวณหาจำนวนส.ส.มีการตีความว่าสามารถคำนวณได้หลายวิธี และกกต.ไม่ได้มีการประกาศวิธีการคำนวณให้ชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าสูตรการเลือกตั้งมีความเกี่ยวข้องกับการตั้งรัฐบาลหรือไม่ ขณะเดียวกัน ด้วยเหตุที่ใช้คะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในการกำหนดจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคเปลี่ยนแปลงไปทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเลือกตั้งซ่อม เช่น กรณีการเลือกตั้งซ่อม เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ชนะการเลือกตั้ง แต่พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม ทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทรักธรรมเป็น ส.ส.ได้เพียง 3วัน ด้วยเหตุ กรธ. จึงได้กำหนดให้หากมีการเลือกตั้งใหม่ ภายใน1ปีจะต้องมีคำนวณสัดส่วนส.ส.กันใหม่

(2) ประชาชนไม่สามารถเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อแตกต่างคนละพรรคได้อีกต่อไป จากการสุ่มตัวอย่างจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งพบว่ามีเพียง 35.08%เท่านั้นที่ไม่มีปัญหาดังกล่าว เนื่องจากผู้สมัครอยู่ในพรรคที่ชอบหรือพรรคส่งผู้สมัครที่ชอบ แต่มีผู้ที่ต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งสูงถึง 64.9% ซึ่งหมายความว่าปัญหานี้มีอยู่จริง โดยประชาชนที่ประสบปัญหานี้เลือกจากพรรคมากกว่าเลือกจากผู้สมัคร ซึ่งสอดคล้องกับการเก็บข้อมูลที่พบว่าประชาชนตัดสินใจโดยเลือกเพราะนโยบายพรรค 42.1% เลือกเพราะผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 10.36% และ 33.9% เลือกจากว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค

(3) เกิดความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองระหว่างผู้สมัครแบบแบ่งเขตกับผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ เนื่องจากคะแนนแบบเบ่งเขตจะนำมาคิดเป็นจำนวน "ส.ส.พึงมี" ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งลึกๆ เพราะผู้สมัครแบบเบ่งเขตที่สอบตกรู้สึกว่าตนเองต้องเหนื่อยในการหาเสียง แต่ผลที่ได้ไปตกกับผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อที่ได้เป็น ส.ส. จากการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่าพรรคอนาคตใหม่มีปัญหานี้มากที่สุด เนื่องจากมีส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากที่สุดและมากกว่าจำนวนส.ส.ระบบแบ่งเขตผู้สมัครแบบแบ่งเขต ต่างจากพรรคเพื่อไทยที่ไม่มีปัญหาดังกล่าวเลย เพราะไม่มีส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว

(4) จำนวนผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตมากเกินไปจนเกิดปัญหาการจัดการเลือกตั้ง ปัจจุบันมีจำนวนเฉลี่ยของผู้สมัคร 28 คนต่อเขตเลือกตั้ง ต่างจากการเลือกตั้งในอดีตที่มีจำนวนเฉลี่ยน 6.5 คนต่อเขตเลือกตั้งเท่านั้น การที่มีจำนวนผู้สมัครในแต่ละเขตที่มากขึ้นถึงเกือบ 4 เท่า ทำให้การจัดการเลือกตั้งมีความยุ่งยากมากขึ้น และเกิดการใช้ทรัพยากรทุกอย่างเพิ่มขึ้น เช่น เอกสารแนะนำตัว และงานธุรการต่างๆ ที่ต้องจัดทำในปริมาณมากกว่าเดิมถึง 4 เท่า เป็นต้น เมื่อผนวกกับการที่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตพรรคเดียวกันมีหมายเลขแตกต่างกัน จึงเชื่อว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ในการเลือกตั้งคราวนี้มีบัตรเสียสูงถึง 5.57%

(5) ปัญหาผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งพรรคเดียวกันแต่ต่างหมายเลขกัน จากการเก็บข้อมูลพบว่าเรื่องนี้ก่อให้เกิดผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากบัตรเลือกตั้งทั้ง 350 เขตจะแตกต่างกันหมด ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งล่วงหน้า และในบัตรเลือกตั้งก็ไม่มีชื่อผู้สมัครด้วยทั้งๆที่หมายเลขแตกต่างกันแล้ว ทำให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเกิดความสับสนเรื่องหมายเลขของผู้สมัคร โดยจากการทำแบบสอบถามแบบสุ่มตัวอย่างผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 42.38% ตอบว่าตนเองลำบากมากขึ้นและค่อนข้างลำบาก สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับหัวหน้าพรรคการเมืองมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบต่อการหาเสียง

(6) มีพรรคการเมืองที่มีส.ส.มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน โดยมีพรรคเล็กเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จำนวนพรรคการเมืองที่มีผู้สมัครส.ส.ได้รับเลือกตั้งมากถึง 27 พรรค ขณะที่ พรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวนมากส่งครบทุกเขตหรือเกือบครบทุกเขต เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะพรรคส่งผู้สมัครเพราะต้องการคะแนนมาคิดเป็นที่นั่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือ กรณีหัวหน้าพรรคของพรรคการเมืองขนาดเล็กใหม่ๆ จำนวนมากที่พอจะมีทุนก็มีการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตโดยหวังว่าคะแนนจากทั้งประเทศจะทำให้ตนเองได้เป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ผลลัพธ์ คือ มีพรรคการเมืองที่มีส.สเพียงคนเดียวถึง 13 พรรค จาก 27 พรรค ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง และนำมาซึ่งปัญหาในเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล

(7) ปัญหาการซื้อเสียงที่กลับมามีบทบาทมากขึ้น ในอดีตจากการทำวิจัยที่ผ่านมาจะพบว่าเงินเข้ามามีปัจจัยน้อยลง เพราะพฤติกรรมของประชาชน คือ จะรับเงินจากทุกคนที่ให้ แล้วจะเลือกพรรคหรือคนที่อยากเลือก ส่งผลให้เงินมีบทบาทน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ครั้งนี้เนื่องจากคะแนนเหลือเพียงคะแนนเดียว และเป็นคะแนนที่ทุกคะแนนมีความหมาย ทำให้แรงจูงใจกับผู้สมัครและพรรคการเมือในการ "ใช้เงิน" เพิ่มขึ้นมาอีกครั้ง ดังที่ปรากฎจากการเก็บข้อมูลผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่ตอบว่าเงินเป็นปัจจัยหลีกต่อการตัดสินใจสูงถึง 9.15% เมื่อเทียบกับการเก็บข้อมูลในการเลือกตั้งปี 2554 มีผู้ตอบว่าเงินเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเพียง 4% เท่านั้น โดยมีหัวคะแนนทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมรายชื่อไป "ขอเงิน" ซึ่งเท่าที่เก็บข้อมูลได้อยู่ที่หัวละ 700-1,000 บาท โดยในหลายพื้นที่มีกรณีที่หัวคะแนนจะหักเงินไว้ 100-200 บาท

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่คือ 55% ตอบว่าเงินไม่มีผลต่อการตัดสินใจ ประชาชนรับเงินทุกคนที่ให้แล้วเลือกคนที่อยากเลือก ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้ตรงกัน ทั้งในการทำสนทนากลุ่มและจากหัวหน้าพรรคการเมือง

สำหรับความคิดเห็นของผู้นำพรรคการเมืองในเรื่องระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม และหมายเลขผู้สมัครพรรคเดียวกันที่เป็นคนละหมายเลขกันนั้น มีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างพรรคฝ่ายรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน โดยผู้นำพรรคที่เป็นรัฐบาล คือ พรรคพลังประชารัฐที่ให้สัมภาษณ์เชิงลึกเห็นด้วยกับเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ซึ่งตรงกันข้ามกับพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ไม่เห็นด้วยและเห็นว่าต้องมีการแก้ไข สำหรับผู้นำพรรคประชาธิปัตย์เห็นสอดคล้องกับพรรคฝ่ายค้านว่าควรต้องแก้ไข ส่วนผู้นำพรรคภูมิใจไทยแม้จะเห็นว่าระบบเป็นปัญหาแต่ท่าทีอาจจะยังไม่ชัดเจนว่าควรแก้ไขหรือไม่ แต่เรื่องหมายเลขผู้สมัครที่พรรคเดียวกันแต่หมายเลขต่างกันเห็นไปในทางเดียวกันเกือบทุกพรรคว่าต้องแก้ไข มีเพียงพรรคพลังประชารัฐที่เห็นต่างออกไป

ประการที่ 2 ปัญหาเรื่องการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2560 มีปัญหามากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญพ.ศ2560 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 2561 และ ระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งหลายฉบับ โดยจากการเก็บข้อมูลพบปัญหาตามลำดับ ดังนี้

(1) ปัญหาบัตรเลือกตั้ง การที่มีผู้สมัครมากทำให้ตัวหนังสือเล็กและช่องกากบาทที่มีอยู่ห่างจากหมายเลขทำให้มีการกากบาทผิด โดยมีการกาในช่องเครื่องหมายพรรคและกลายเป็นบัตรเสีย

(2) ปัญหาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง เนื่องจากจำนวนเขตเลือกตั้งลดลงเหลือเพียง 350 เขตและต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งกันใหม่ ทั้งนี้ การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ได้มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 16/2561 ที่ให้อำนาจกกต.ในการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งโดยไม่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็น ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่อง Gerrymandering คือ การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม

(3) ปัญหาที่เกิดจากการขยายเวลาการปิดหีบเลือกตั้ง โดยมีการขยายเวลาเป็น 8.00-17.00น. แม้จะมีเจตนาที่ต้องการให้ประชาชนได้มาใช้สิทธิเลือกตั้งได้มากขึ้นแต่จากการเก็บข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งพบว่าการเริ่มนับคะแนนจึงต้องไปทำในตอนเวลาใกล้ค่ำ ทำให้การดำเนินกระบวนการเลือกตั้งยุ่งยากมากขึ้น ซึ่งคิดว่าเป็นปัญหาที่ควรมีการแก้ไข เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง การเลือกคั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิเพียง 74.69% น้อยกว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา การขยายเวลาปิดหีบจึงไม่น่าจะได้ผลตามที่ตั้งใจ

(4) ปัญหาที่เกิดในการจัดการเลือกตั้งหน้า เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่จากการเก็บข้อมูลพบว่ามีปัญหาหลายประการ เช่น การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าใช้ทรัพยากรทั้งคนและงบประมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องมีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งนอกเขตเลือกตั้งและการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง

(5) ปัญหารายงานผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ (Rapid Report) พบว่าเกิดความคลาดเคลื่อนมากทำให้สับสนและยิ่งกระทบต่อความเชื่อถือที่มีต่อกกต. ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่มีผู้สมัครเป็นจำนวนมากและทุกเขตมีผู้สมัครมากกว่าเดิมถึง 4 เท่า

ประการที่ 3 ปัญหาเรื่องโครงสร้างและบุคลากรในการจัดการเลือกตั้งและการตรวจสอบการเลือกตั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งและระเบียบที่เกี่ยวข้องได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานในหน่วยงาน และส่งผลโดยตรงต่อการจัดการเลือกตั้งหลายประการ ดังนี้

(1) การยกเลิกกกต.จังหวัดและให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งมาแทน แม้จะมีข้อดี คือทำให้การบริหารจัดการในระดับจังหวัดทำได้เร็วขึ้น แต่มีข้อเสียตรงที่ผู้อำนวยการสำนักงานกกต.จังหวัดทำงานยากขึ้น เพราะอาจไม่มีสถานะหรือการยอมรับเพียงพอที่จะเทียบเท่ากกต.จังหวัดได้ ขณะที่ ผู้ตรวจการเลือกตั้งทำงานไม่บรรลุผลซึ่งเป็นปัญหาในเชิงระบบ ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่สามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ เพราะไม่มีสำนวนที่มาจากผู้ตรวจการเลือกตั้งเลย ทั้งหมดนี้นำมาสู่ข้อสรุปที่เป็นข้อเท็จจริงว่าผู้ตรวจการเลยือกตั้งไม่สามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์

(2) การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ทำให้กกต.ขาดภาคประชาชนในการช่วยดูแลการเลือกตั้ง ปัญหาจึงมากขึ้นและความเชื่อถือยิ่งน้อยลง

(3) ผู้สังเกตุการณ์ประจำหน่วยเลือกตั้งจากพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้มีน้อยมาก สาเหตุเกิดจากการให้คิดค่าตอบแทนเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง ไม่ใช่ของผู้สมัคร

ประการที่ 4 ความรับรู้และความเข้าใจของประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ผลจากการสุ่มตัวอย่างสอบถามประชาชน 84.76% ตอบว่าทราบเรื่องบัตรเลือกตั้งเหลือใบเดียว แต่เมื่อถามถึงความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง มีผู้ให้ข้อมูลเข้าใจดีเพียง 14.26% ตอบว่าพอเข้าใจ 60.71% และตอบเข้าใจน้อยและไม่เข้าใจเลย 25.03% แต่เมื่อถามลึกลงไปโดยใช้คำถามทีเป็นการวัดความรู้เรื่องระบบเลือกตั้งเพื่อตรวจสอบว่าเข้าใจระบบเลือกตั้งจริงหรือไม่ กลับตอบว่า "ไม่แน่ใจ" คือ ไม่ตอบสูงถึง 47.76% โดยมีผู้ที่ตอบผิด 24.09% และตอบถูกเพียง 23.66%

ประการที่ 5 ความพึงพอใจและความเชื่อมั่นต่อองค์กรที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง โดยจากการเก็บข้อมูลด้วยการสุ่มตัวอย่างในวันเลือกตั้ง พบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อกกต. 52.73% และไม่เชื่อมั่น 47.27% แม้จะเป็นจำนวนที่ไม่ต่างกันมากแต่ก็เห็นได้ว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นกกต. อย่างไรก็ตาม หากทำการเก็บข้อมูลหลังจากนั้นมาจนถึงประกาศผลการเลือกตั้งส.ส.เชื่อว่าจำนวนผู้เชื่อมั่นกกต.น่าจะลดลง

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น นายปริญญา เสนอว่า 1.เมื่อสาเหตุหลัก คือ ตัวระบบเลือกตั้งที่ทำให้เกิดปัญหา จึงคิดว่าควรต้องมีการแก้ไข แต่จะแก้ไปสู่ระบบใดยังเป็นประเด็นที่จะต้องมีการประชุมทางวิชาการเพื่อหารือกันต่อไป โดยมีสองทางเลือกระหว่าง ถอยไปหาแบบรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 และ 2550 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระบบคู่ขนานที่ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งได้สองคะแนน ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งระบบนี้พรรคการเมืองใหญ่ที่สุดจะมีความได้เปรียบ หรือจะใช้ระแบบเยอรมัน คือ ระบบสัดส่วนผสม ซึ่งไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองใดได้เปรียบเสียเปรียบ โดยให้ประชาชนมีสองคะแนนเหมือนกัน แต่เอาคะแนนที่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองมาคิดจำนวนส.ส.รวม ไม่ใช่การการเอาคะแนนเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตมาคิดจำนวนส.ส.รวม

"ความเป็นไปได้ในการแก้ไขระบบเลือกตั้ง โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ง่ายนัก ไม่ต้องพูดถึงส.ว.เอาแค่ส.ส. เท่าที่ผมทำการสัมภาษณ์เชิงลึกมาพรรครัฐบาลเองเขาก็ไม่ได้เห็นด้วยว่าต้องมีการแก้ไข แต่ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญมาก เรื่องใหญ่ที่สุด คือ ถ้าไม่แก้ระบบก็ต้องแก้ปัญหาตรงที่มีผู้สมัครมากเกินไป" นายปริญญา กล่าว

2.การแก้ไขเรื่องผู้สมัครที่มีจำนวนมากเกินไป ปัญหาผู้สมัครพรรคเดียวกันแต่ต่างหมายเลขกัน โดยแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ แม้จะมีบางพรรคการเมืองเห็นว่าที่ใช้อยู่นั้นดีอยู่แล้ว แต่ในการเก็บข้อมูลเห็นตรงกันว่าเป็นการสร้างปัญหามากกว่า จึงคิดว่าควรให้พรรคเดียวกันเป็นหมายเลขเดียวกันแบบเดิมน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า 3.การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ควรให้มีการเลือกตั้งนอกจังหวัดเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากน้อยกว่า 4.แก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อปรับปรุงบัตรเลือกตั้งให้มีบัตรเสียน้อยลง 5.เวลาปิดหน่วยเลือกตั้งควรกลับมาปิดเวลา 15.00น. หรือไม่เกิน 16.00น. 6.เปลี่ยนผู้ตรวจการเลือกตั้งไปเป็นกกต.จังหวัดโดยให้มีแค่ช่วงเลือกตั้ง และ 7.ยกเลิกระเบียบยิบย่อยของกกต.ที่เป็นอุปสรรค

"โดยสรุปการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาที่สุด เป็นการเลือกตั้งที่มีปัญหามาก ซึ่งปัญหานั้นเกิดจากตัวระบบเลือกตั้งที่ใช้คะแนนแบบแบ่งเขตมาคิดส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และซ้ำยังให้มีการจับหมายเลขทุกเขตเลือกตั้งที่เป็นที่มาของปัญหาทั้งหมด ผมคิดว่าควรมีการแก้ไขปัญหา ในการดำเนินการถ้าจะพูดถึงในแง่ของการทำให้สำเร็จก็ต้องเอาเรื่องที่ทำง่ายก่อน คือ การปรับปรุงบัตรเลือกตั้งเพื่อให้บัตรเสียน้อยลง และการปิดหีบที่ควรให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม เป็นต้น และควรดำเนินการในบางประการก่อนจะมีการเลือกตั้งต่อไป เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งครั้งหน้าต้องมีปัญหาเหมือนในคราวนี้" นายปริญญา กล่าว