ชาวนาทั่วไทยเริ่มไถหว่านในวันพืชมงคลเชื่อจะได้ผลดี
เกษตรกรถือฤกษ์วันพืชมงคลเริ่มไถหว่านทำนาปี เชื่อว่าจะเป็นสิริมงคลทำให้ต้นข้าวเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์และได้ผลผลิตดี ถึงแม้จะไม่มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ถ้าได้หว่านข้าวในวันที่เป็นมงคลจะทำให้ข้าวที่หว่านในวันนี้เจริญงอกงามได้
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ จ.นครพนม ได้มีเกษตรกรหลายพื้นที่ต่างออกมาปรับพื้นที่การเกษตร เพื่อเตรียมเพาะปลูกทำการเกษตร ทำไร่ ปลูกพืชผักสวนครัว รวมถึงเตรียมพร้อมพื้นที่ในการทำนาปี เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนที่จะเป็นการเริ่มไถหว่านทำนาปี โดยถือฤกษ์วันพืชมงคลเป็นวันเริ่มฤดูการทำนาตามประเพณีความเชื่อจะส่งผลให้ได้ผลผลิตการเกษตรอุดมสมบูรณ์ แต่ปีนี้เกษตรกรได้รับผลกระทบหนัก ทั้งปัญหาสภาพอากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส รวมถึงภัยแล้ง ทำให้ลำน้ำสาขาสายหลักแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ลำน้ำสงคราม ลำน้ำก่ำ และลำน้ำอูน มีปริมาณน้ำต่ำกว่าทุกปี มีปริมาณเก็บกักประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงน้ำโขงปัจจุบันมีปริมาณต่ำในรอบหลาย 10 ปี อยู่ที่ระดับ ประมาณ 1 -2 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติล้นตลิ่งประมาณ 10 เมตร ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร และทำนาปี ต้องเลื่อนการทำนาปีออกไปช้ากว่าทุกปี
นายเกีรติศักดิ์ ผัดวัง ผอ.โครงการส่งน้ำเเละบำรุงรักษาน้ำก่ำ จ.นครพนม เปิดเผยว่า โครงการส่งน้ำเเละบำรุงรักษาน้ำก่ำ อ.ธาตุพนม ซึ่งดูแลควบคุมการระบายน้ำ จากลำน้ำก่ำที่ไหลมาจากพื้นที่หนองหาร จ.สกลนคร ระยะทางยาวกว่า 120 กิโลเมตร ก่อนไหลระบายลงน้ำโขง ที่ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต ในโครงการพระราชดำริ ได้เร่งกักน้ำที่มีการระบายมาจากน้ำหนองหาร จ.สกลนคร เพื่อเก็บกักน้ำให้มากที่สุด ไว้รองรับภัยแล้ง ช่วยเหลือเกษตรกร ในช่วงการทำการเกษตรนาปี เนื่องจากปัจจุบัน มีปริมาณน้ำต่ำประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของความจุ หากไม่เพียงพอจะต้องผันน้ำโขงเข้ามาใช้ในระบบชลประทาน พร้อมแจ้งเตือนให้เกษตรกร ชะลอการเตรียมพื้นที่หว่านกล้าข้าวทำนาปี รอจนกว่าจะมีปริมาณฝนเพียงพอ และงดการทำการเกษตรในพื้นที่ไม่มีระบบชลประทาน ลดความเสียหาย ซึ่งทางโครงการส่งน้ำเเละบำรุงรักษาน้ำก่ำ จะเร่งกักน้ำให้มากที่สุด ให้เพียงพอต่อพื้นที่การเกษตร กว่า 5,000 ไร่ ในพื้นที่รับผิดชอบ
ขณะที่ จ.นครราชสีมา ชาวนาบ้านจารตำรา ต.ท่าหลวง อ.พิมาย ถือฤกษ์ดีวันพืชมงคลเริ่มลงมือไถปรับพื้นที่นาและหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งเป็นความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ถึงจะยังประสบปัญหาภัยแล้งมาต่อเนื่องกันเป็นเวลากว่า 2 ปีก็ตาม แต่เชื่อว่าหากเริ่มลงมือไถหว่านข้าวในวันพืชมงคลจะเป็นสิริมงคลทำให้ต้นข้าวเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์และได้ผลผลิตดี เชื่อว่าถึงแม้จะไม่มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ก็ตาม แต่ถ้าได้หว่านข้าวในวันที่เป็นมงคลก็จะทำให้ข้าวที่หว่านในวันนี้จะเจริญงอกงามได้
อย่างไรก็ตาม ชาวนาได้ฝากถึงรัฐบาลให้ดูแลช่วยเหลือพยุงราคาข้าวไม่ให้ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 15 บาท หรือตันละ 15,000 บาท เหมือนกับปีที่ผ่านมาที่ถูกผู้ประกอบการกดราคาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 7-8 บาทเท่านั้น สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรกันถ้วนหน้า เพราะถึงแม้จะได้ผลผลิตข้าวดีแต่หากราคาตกต่ำก็ไม่สามารถจะอยู่รอดได้ ยิ่งในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการอาหารทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ก็ได้แต่หวังว่าราคาข้าวจะเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการบริโภคอาหาร ชาวนาจะได้ลืมตาอ้าปากได้เสียที