รองนายกฯห่วงหากเลิกพรก.ฉุกเฉินฯ อาจทำให้การป้องกันโรคลำบาก
"วิษณุ" ห่วง หากเลิก พรก.ฉุกเฉิน จะทำให้การทำงานป้องกันโรคลำบาก ยอมรับ สถานการณ์ดีขึ้น อาจปลดล็อกทุกอย่าง
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาผ่อนคลายกิจการหรือกิจกรรมเพิ่มเติม ว่า คณะทำงานกลั่นกรอง จะใช้เวลาช่วง 2 สัปดาห์ของเดือนมิถุนายน เพื่อประเมินว่าจะใช้มาตรการอย่างไรต่อไป ส่วนตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.63จนสิ้นเดือน จะเฝ้าติดตามสถานการณ์ หากสามารถควบคุมสถานการณ์อยู่หรือดีขึ้น อัตราการติดเชื้อคงที่ หรือหากมีการติดเชื้อก็เป็นกรณีที่ติดจากเมืองนอก และถ้าในประเทศมีตัวเลขเป็นศูนย์ และนิ่งต่อกันได้หลายวันอย่างที่ผ่านมา การจะนำไปสู่การปลดล็อกทั้งหลายโดยสิ้นเชิงมันก็เป็นไปได้
"ขณะนี้ได้เตรียมการไว้ทุกรูปแบบ คือกรณีแรก เตรียมการที่จะต่อ พรก.ฉุกเฉิน และกรณีที่สอง เตรียมการที่จะเลิก พรก.ฉุกเฉิน และกรณีที่สาม เตรียมการที่จะต่อ พรก.ฉุกเฉิน แต่งดใช้มาตรการต่างๆ เช่น สามารถที่จะชุมนุมได้ เลิกเคอร์ฟิว ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ขณะนี้ถือว่าสถานการณ์ดี"นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า หากสถานการณ์ดีเช่นนี้ การผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 4 ก็คงจะไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า หากมองจากวันนี้ก็ใช่ แต่หากเราลองปล่อยแล้วเกิดความประมาทชะล่าใจขึ้นมา ตรงนี้ก็น่ากลัว ที่เป็นห่วงคือวันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไปจะเป็นวันหมดอายุ พรก.ฉุกเฉิน และยังเป็นดีเดย์การเปิดภาคเรียนและสนามบินด้วย และในขณะนี้โรงเรียนเขาก็คิดวิธีการของเขาอยู่ ทั้งเรื่องเวลาเด็กเข้าห้องน้ำ เล่นกีฬาจะทำอย่างไร ถ้าทุกอย่างมันคุมกันได้เองเช่นนี้ ก็วางใจได้ หากวันที่ 15-31 มิ.ย.63 มันปลอดภัย เราก็เชื่อว่าวันที่ 1 ก.ค. ก็น่าจะปลอดภัย คนต่างชาติที่เข้ามาก็ไม่ได้เดินไปโรงเรียนอยู่แล้ว โดยอีก 3-4 วันก็จะเป็นวันหยุดยาว ทำให้ต้องนำทุกอย่างมาเป็นปัจจัยคิด ซึ่งยังไม่มีคำตอบในเวลานี้
เมื่อถามว่า มีแนวโน้มจะต่อ พรก.ฉุกเฉิน เพิ่มเติมหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มันก็มีทุกทางอย่างที่ตนบอก พอไปดู พ.ร.บ.โรคติดต่อแล้ว หลายเรื่องไม่สามารถที่จะบริหารจัดการเหมือนอย่างการใช้ พรก.ฉุกเฉิน ได้เลย ทั้งนี้พนักงาน เจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธณาณสุขตั้งขึ้นมา ไม่สามารถที่จะบูรณการทหารพลเรือนเข้ามาได้ แค่การนำคนลงจากเครื่องเข้ามา แล้วนำไปในสถานกักกันของรัฐ สมมติว่าเป็นพื้นที่ค่ายทหาร หากภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน สามารถรับช่วงต่อบูรณาการทำงานกันได้
แต่ยังนึกไม่ออกว่าภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อจะทำอย่างไร เพราะตามกฎหมายนี้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด สมมติว่าไปสัตหีบ ก็ต้องเริ่มต้นที่ผู้ว่า กทม. ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ต้องออกคำสั่งเป็นทอดๆ ไปถึงสัตหีบ ค่าใช้จ่ายใครจะเป็นคนดูแล ทุกวันนี้คือรัฐ เพราะรัฐเป็นคนปิด หรือกรณีที่ผู้โดยสารนั่งเครื่องบินมาแล้วเกิดการติดเชื้อกันมาก สุวรรณภูมิที่อยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กล้าปิดสุวรรณภูมิหรือไม่ ไม่ให้สายการทั้งหมดลง แต่ทุกวันนี้ที่สั่งได้เพราะ พรก.ฉุกเฉิน
เมื่อถามว่า กรณีจะเปิดให้ต่างเข้ามาแบบประเทศต่อประเทศ จะมีการพิจารณาเลิก พรก.ฉุกเฉิน หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เพราะเรามีการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน จึงมีการปิดสนามบิน เป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกัน โดยใช้ พ.ร.บ.การเดินอากาศ ต่างประเทศก็เช่นเดียวกันเมื่อมีการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน จึงปิดสนามบิน ถ้าเราไม่ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน แล้วไปปิดสนามบิน จะอธิบายกับสายการบินไม่ได้ วันนี้เราให้เหตุผลว่าเป็นเพราะการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน จากเหตุโควิด-19 และบางอย่างแม้ไม่ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ก็สามารถดำเนินตามมาตรการได้ เช่น การสวมหน้ากาก และการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล