ศบค.กางแผนกระจายวัคซีนโควิด8แสนโดส 22 จว.-แจงปมขยาย "พรก.ฉุกเฉิน"
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กางแผนกระจายวัคซีนโควิด 8 แสนโดสแบ่ง 3 ส่วน ใน 22 จังหวัด แจงปมขยาย "พรก.ฉุกเฉิน" ขออดทนอีกนิดสถานการณ์กำลังดีขึ้น
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 64พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงว่า สำหรับแผนการกระจายวัคซีนซิโนแวค 8 แสนโดสที่จะได้มาในเดือน เม.ย.นั้น จะมีการกระจายไปใน 22 จังหวัด โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดใน 6 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร กทม. อ.แม่สอด จ.ตาก ปทุมธานี สมุทรปราการ และนนทบุรี ส่วนที่สอง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในจังหวัดท่องเที่ยว 8 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ ขอนแก่น กระบี่ พังงา เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต และส่วนที่สาม เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัดชายแดน 8 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สระแก้ว เชียงราย มุกดาหาร นราธิวาส ระนอง หนองคาย และจันทบุรี
พญ.อภิสมัย ตอบข้อซักถามถึงกรณีที่ประชาชน เกิดความสงสัยว่าขณะนี้หลายพื้นที่มีการกระจายวัคซีนไปแล้ว บางคนฉีดเข็มแรก บางคนฉีดครบสองโดส หากเป็นเช่นนี้แสดงว่าเราไม่ต้องป้องกัน ไม่ต้องระมัดระวังตัวเองเหมือนที่ผ่านมาได้หรือไม่ ผ่อนคลายมาตรการทำให้ใช้ชีวิตตามปกติเหมือนก่อนจะมี โควิด-19 ได้หรือไม่ ว่า สิ่งที่สำคัญในการรายงานข่าวทุกๆวัน คือการรายงานถึงต่างประเทศที่ได้ฉีดวัคซีนกันเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วเกิน 300ล้านโดส รวมทั้งบางประเทศซึ่งมีหลายประเทศที่ฉีดครบสองโดสแล้วแต่เราก็ยังเห็นการรายงานตลอดเวลาว่ายอดผู้ติดเชื้อกลับไม่ได้ดูลดลงสักเท่าไหร่ โดยเราสามารถดูตัวอย่างจากทางกรมควบคุมโรคที่นำเสนอเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เราพบว่าหลายประเทศมีจุดอ่อน 1. มีการกำหนดมาตรการผ่อนคลายที่เร็วเกินไป ส่วนหนึ่งจะเห็นว่าไม่ได้มีการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา จึงเกิดการติดเชื้อมากยิ่งขึ้นแล้วจึงเริ่มกำหนดมาตรการ และอีกหลายพื้นที่ยังไม่ได้มีการกำหนดการยกเว้นการเดินทางระหว่างประเทศ เช่น รัสเซีย ซึ่งเราจะเห็นว่ายังให้คนที่เดินทางมาจากยุโรปเดินทางเข้าออกรัสเซียซึ่งก็จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่ควบคุมได้ยาก และสิ่งที่สำคัญบางประเทศประชาชนไม่เข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข หรือแม้แต่บางแห่งระบบบริการสาธารณสุขที่มีอยู่นั้นอาจจะไม่มีการเตรียมความพร้อมที่จะรองรับระบบการระบาดที่แพร่ไปทั่วโลกเช่นนี้ ซึ่งถ้าดูแล้วระบบสาธารณสุขของประเทศไทยรวมถึงส่วนที่สำคัญที่เราได้เน้นย้ำกันมาโดยตลอดคือบ้านเรามี อสม. ที่เดินพูดคุยได้ถึงบ้าน กรมควบคุมโรค ที่เดินทางกันอย่างเหน็ดเหนื่อย หากเราเรียนรู้จากประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศต่างๆที่มีการฉีดวัคซีนกันแล้วก็อาจจะตอบคำถามนี้ได้ด้วยตัวท่านเอง ว่า การฉีดวัคซีนครบแล้วเราควรดำเนินชีวิตแบบเว้นระยะห่าง สวม หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ ไม่พูดคุยกันในสถานที่แออัดเกิน 5 นาที พยายามไม่ไปสัมผัส กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำ ที่ยังต้องเน้นย้ำกันอยู่เสมอ และอาจจะเป็นนายจ้าง สถานประกอบการ แพทย์ บุคลากรสาธารณสุข หมอฟัน เภสัชกร มีการรายงานชัดเจนว่าการที่บุคลากรเหล่านี้ให้ความสำคัญเมื่อมีคนมาทำฟันก็เตือนกันว่าอย่าลืมสวมหน้ากาก ซึ่งจะได้ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักและได้รับการย้ำเตือนบ่อยๆจะได้ไม่เผลอลืม และทำให้ประเทศไทยได้นำตัวอย่างจากต่างประเทศมาเรียนรู้ จะได้ไม่ซ้ำรอย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วยอธิบายเหตุผลที่ศบค. ตัดสินใจขยายระยะเวลาประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินออกไปอีกสองเดือน พญ.อภิสมัย กล่าวว่า คำถามดังกล่าวศบค. ต้องขออนุญาตถามกลับไปด้วยว่าหลายครั้งที่ได้ย้ำไปเสมอว่า เราต้องการเห็นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่การแถลงข่าวเพื่อรายงานข้อมูลทุกวันนี้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เป็นข้อมูลที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกัน ศบค. ชุดเล็กได้จากการร่วมแรงของทุกฝ่าย ประชุมกันทุกวันไม่มีวันหยุด ร่วมกันระหว่างทุกกระทรวงไม่มีเว้น และมีพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ก็รีบประชุมเพื่อให้มีการรายงานอย่างต่อเนื่อง เมื่อสถานการณ์ที่เกิดตัวเลข มีคลัสเตอร์ มีกลุ่มก้อน มีการแพร่ระบาด มีสะเก็ดไฟจาก ตลาดที่สองไปตลาดที่สาม จังหวัดที่หนึ่งไปจังหวัดที่สอง สาม อย่างนี้ทำให้ศบค. ก็มีความหนักใจ แต่อย่างไรก็ตามทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความเป็นห่วงทั้งประชาชน ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นผู้สัมผัสหรือเป็นผู้ติดเชื้อ แต่มีความเป็นห่วงบุคลากรที่ทำงานอยู่ด่านหน้าด้วย ดังนั้นพ.ร.ก. ฉุกเฉิน มีประโยชน์เพียงอย่างเดียวคือช่วยให้สถานการณ์นั้นพื้นที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เช่น ช่วงที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่จะต้องลงพื้นที่ตรวจโรงงาน ตรวจชุมชน หากไม่มีการบังคับใช้มาตรการ คนที่อยู่ในโรงงานหรือสถานประกอบการก็อาจจะไม่ได้เกิดความร่วมมือกันขนาดนี้ ต้องเรียนว่าศบค. ไม่ได้ออกมาตรการที่มาจากศบค.เอง แต่เกิดจากการนำเสนอโดยบุคลากรผู้ที่ทำงานในพื้นที่แต่ละจังหวัดเสนอมาว่าขอให้ยังคงมาตรการ ขอให้ยังมีพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อให้เขาสามารถประสานงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยอมรับว่าทุกครั้งที่มีการนำเสนอให้ออกมาตรการศบค. มีความหนักใจเพราะหลายคนก็เห็นว่าเราเป็นหน่วยงานที่บริหารความขัดแย้ง เช่นเมื่อครั้งที่พิจารณาว่าโรงเรียนจะเปิดได้หรือไม่ ก็มีความเห็นทั้งสองฝ่าย สงกรานต์จะจัดได้หรือไม่ ก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้น อย่างที่เรียนว่าการทำงานเพื่อที่จะเลือกทิศทางที่ดีที่สุด และปลอดภัยที่สุดสำหรับประชาชน การควบคุมโรคยังอยู่ในมาตรฐานที่ควบคุมได้ ขณะเดียวกันภาคเศรษฐกิจ และสังคม การดำเนินชีวิตของประชาชนยังต้องทำได้ จึงต้องขอกำลังใจให้ศบค. ด้วยเช่นกัน ท้ายนี้จึงขอฝากว่า สิ่งที่ทุกคนทำได้ดีมาอย่างต่อเนื่องก็ยังขอความร่วมมือต่อไป อย่าเพิ่งเหนื่อยล้า เพราะไวรัสยังไม่หยุดพักกับเรา ขอความร่วมมืออดทนอีกสักนิดเพราะสถานการณ์กำลังดีขึ้น