posttoday

"ไทยสร้างไทย" ห่วง พ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้าน ชี้ 7 ปีที่ผ่านมารัฐกู้ชดเชยขาดดุลทุกปี

26 พฤษภาคม 2564

"ไทยสร้างไทย"กังวลรัฐกูเพิ่ม 7 แสนล้าน เหตุที่ผ่านมางบขาดุล 7 ปี แนะต้องใช้เพื่อเรียกความเชื่อมั่นในการลงทุน

วันที่ 26 พ.ค. พรรคไทยสร้างไทยออกแถลงการณ์แถลงความกังวลต่อ พ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้านบาท โดยระบุว่า

บันทึกแสดงความกังวล(Letter of concern)

ของพรรคไทยสร้างไทย ต่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565

โดยพรรคไทยสร้างไทย เห็นว่า การจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่นอกจากจะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว

รัฐบาลยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม “ความจำเป็นของสถานการณ์และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการใช้งบประมาณอันเป็นเงินของแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชนอีกด้วย”

สำหรับสถานการณ์อันเป็นวิกฤตของประเทศไทยโดยตรง ในขณะนี้ คือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่เสียหายมาแล้วตั้งแต่การรัฐประหาร ต้องทวีความเสียหายมากขึ้น รัฐบาลต้องกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นทุกปี เมื่อรวมกับเงินกู้ที่ใช้แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาท และกำลังขอกู้เพิ่มอีก7แสนล้าน ทำให้ฐานะการคลังของรัฐบาลอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการขาดวินัยการเงินการคลัง กระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ

พรรคไทยสร้างไทยได้พิจารณาโครงสร้างและนโยบายงบประมาณปี 2565 ประกอบกับฐานะการคลังของรัฐบาลแล้วเห็นว่า การจัดทำงบประมาณที่ขาดดุลจำนวนสูงถึง 700,000 ล้านบาท ยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตของประเทศ รายจ่ายบางประเภทยังคงถูกจัดสรรให้ทั้งที่ไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน พรรคไทยสร้างไทยจึงขอแสดงความกังวลต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังนี้

(1) ภาครายได้ (งบประมาณโดยสังเขปหน้า 59) แสดงให้เห็นว่าผลจากการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 ทำให้เศรษฐกิจได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล ประชาชนส่วนใหญ่ขาดกำลังซื้อทำให้การจัดเก็บภาษีอากรได้ต่ำกว่าประมาณการมาโดยตลอด โดยล่าสุดปีงบประมาณ 2563 จัดเก็บภาษีอากรได้ต่ำกว่าประมาณการถึง 398,450 ล้านบาท หรือต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ถึงร้อยละ 13.4

(2) ภาครายจ่าย (งบประมาณโดยสังเขปหน้า 61) นับจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในจำนวนที่สูงขึ้นทุกปี เริ่มจาก 250,000 ล้านบาท ล่าสุดปีงบประมาณ 2565 ต้องกู้เงินถึง 700,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินสูงสุดตามที่กฎหมายงบประมาณอนุญาตให้กู้ได้

(3) เมื่อพิจารณารายได้ รายจ่าย และการกู้เงินของรัฐบาลในแต่ละปีงบประมาณเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ส่งผลให้หนี้สาธารณะ ต่อจีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 น่าจะสูงเท่าหรือสูงเกินกรอบความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ซึ่งนอกจากจะทำให้รัฐบาลเสียวินัยการเงินการคลังแล้วยังทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศลดลงอีกด้วย

(4) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายตามลักษณะงาน (งบประมาณโดยสังเขปหน้า 68) กลับพบว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อการป้องกันประเทศซึ่งไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน มากกว่าการให้ความสำคัญกับการปกป้องชีวิตของประชาชนซึ่งเร่งด่วนกว่าเพราะประชาชนเป็นผู้หารายได้ด้วยการเสียภาษีให้ประเทศ ดังนั้น การที่รัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลงบประมาณที่ต้องกู้เงินในจำนวนที่สูงขึ้นทุกปี เมื่อรวมกับการกู้เงินที่ต้องนำมาใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การขาดดุลงบประมาณอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อวินัยและฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว รัฐบาลจึงต้องมีแนวทางหรือนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณดังกล่าว

พรรคไทยสร้างไทยตระหนักดีว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณเพื่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ แต่การจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จะต้องจัดทำขึ้นโดยคำนึงถึงวิกฤตของประเทศที่เป็นอยู่ ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยเห็นว่าภารกิจสำคัญที่รัฐบาลต้องทำให้สำเร็จโดยเร็ว คือ

การสร้างความเชื่อมั่น (trust) ว่ารัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตของประชาชนได้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ (confidence) ที่จะออกมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถให้กับประชาชน รวมทั้งการขจัดอุปสรรคทั้งหลายเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และให้อิสระ (liberate) แก่ประชาชนในการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้อันจะนำมาซึ่งภาษีที่เป็นรายได้ของรัฐ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องมีแนวทางหรือนโยบายสำคัญที่เน้นการลงทุนภาครัฐเพื่อสร้างฐานรายได้ใหม่หลังโควิด-19 ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศ เช่น การท่องเที่ยว การสาธารณสุข หรืออาหารปลอดภัย เป็นต้น ที่สำคัญคือรัฐบาลจะต้องมีแนวทางลดรายจ่ายประจำที่เป็นภาระแก่งบประมาณ เข่น ลดขนาดของส่วนราชการที่มีมากเกินความจำเป็น ได้แก่ กองทัพ เป็นต้น เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาประเทศ แต่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กลับไม่มีการจัดสรรงบประมาณที่จำเป็นต้องกระทำและไม่มีแนวทางที่จะลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นตามที่พรรคไทยสร้างไทยได้ตั้งเป็นข้อสังเกตดังกล่าว

พรรคไทยสร้างไทยจึงขอแสดงความกังวลอย่างยิ่งและขอสัญญาว่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบการจัดทำงบประมาณปี 2565 อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนต่อไป

#พรรคไทยสร้างไทย

25 พฤษภาคม 2564

\"ไทยสร้างไทย\" ห่วง พ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้าน ชี้ 7 ปีที่ผ่านมารัฐกู้ชดเชยขาดดุลทุกปี