posttoday

เร่งระดมฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

08 มิถุนายน 2564

สมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ร่วมมือ กระทรวงสาธารณะสุข เร่งระดมฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ พร้อมช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณะสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ชมรมนักขับรถฉุกเฉิน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ จัดกิจกรรม “สูงวัยสู้ภัยโควิด-19” ที่บริเวณลานพระรูปพระบิดาสมเด็จย่า กระทรวงสาธารณะสุข โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งดาราและสื่อมวลชนที่มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

นพ.ฆนัท ครุฑกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ผู้กล่าวรายงาน เรื่องสถานการณ์และผลกระทบของผู้สูงอายุจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ทางสมาคมฯ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาในผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง หรือกลุ่มผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ได้รับการที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด19) ทั้งนี้ทางสมาคมฯ จึงได้ขอความร่วมกับทางกระทรวงสาธารณะสุข และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ เร่งแก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้สูงอายุ ทั้งในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้สูงอายุในชุมชน ในจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงและรวดเร็วที่สุด รวมไปถึงการเยียวยาช่วยเหลือด้านสิ่งของ อุปโภค บริโภคที่จำเป็นแก่ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ และผู้สูงอายุไร้บ้าน ให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและรวดเร็วที่สุด

เร่งระดมฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

ทั้งนี้ หลังจากพิธีเปิดกิจกรรมเรียบร้อย ได้มีการปล่อยขบวนรถหน่วยบริการฉีดวัคซีน ไปตามสถานที่ต่าง ๆใน กรุงเทพมหานคร จำนวน 5 สถานที่ ได้แก่ 1.Dr.seniors เกษตรนวมินทร์ 2.ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ สายใยเนอร์สซิ่งโฮม สาขารามอินทรา ซอยรามอินท 67 3.ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เอเชีย เนอร์สซิ่งโฮม สาขารามอินทรา 4.ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อิชิ (ลาดพร้าว) และ 5.บ้านบุญเย็น ซอยรามคำแหง118 ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนต่าง ๆนี้ ทางสมาคมฯเป็นผู้รับผิดชอบดูแลทั้งหมด ส่วนผู้ที่สนใจร่วมสนับสนุนโครงการฯดังกล่าวกับทางสมาคมฯ สามารถร่วมบริจาค ผ่านทางบัญชี ธนาคารกรุงเทพ ชื่อบัญชี “สูงวัยสู้ภัยโควิด โดยสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ” เลขที่บัญชี 090-7-25578-0 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 เป็นปีที่ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดของผู้สูงอายุไทย ในปี 2564 ประชากรไทยทั้งหมดมี 66.5 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 11.13 ล้านคน หรือ คิดเป็น 16.73 % ในจำนวนของผู้สูงอายุ 11.13 ล้านคน เป็นหญิง 4.9 ล้านคน ชาย 6.2 ล้านคน อายุคาดเฉลี่ย 75 ปี โดยจำนวนผู้สูงวัยทั้งหมด พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในวัยต้น (60-69ปี) 57.5 % ตามด้วยวัยกลาง (70-79ปี) 29 % และวัยปลาย (80ปีขึ้นไป) 13.5 % จากการสำรวจ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเดือนต.ค.2563 พบว่า ผู้สูงอายุทั้งหมด มีจำนวนที่ติดเตียง 0.39 % ติดบ้าน 1.54 % และมากที่สุด คือ ติดสังคม 98.06 % โดยผู้สูงอายุจำนวนประมาณ 1.9 ล้านคน หรือร้อยละ 16 ของผู้สูงอายุทั้งหมดมีสุขภาพไม่ดี โดย 1 ใน 8 ของผู้สูงอายุที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง คิดเป็นจำนวนประมาณ 252,000 คน

นอกจากนั้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2564 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันประเทศไทยยังคงพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ขณะเดียวกันตัวเลขผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเสียชีวิตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มหลักคือผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โดยผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเศรษฐฐานะ ผู้ที่อาศัยอยู่ตามลำพังไม่มีผู้ดูแล และผู้ที่ขาดการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจสังคมและครอบครัว ผู้สูงอายุที่อยู่ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ขาดมาตรการการป้องกันโควิดอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุแล้ว ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้สูงอายุอีกด้วย โดยสถานการณ์ปัจจุบัน มีผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การกักตัวและขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ติดบ้าน และติดเตียงที่ต้องการผู้ดูแลจำนวนกว่า 1.3 ล้านคน ซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดในปัจจุบัน ส่งผลกระทบทางทั้งด้านเศรษฐกิจ การถูกแยกตัวของผู้สูงอายุตลอดจนการรับรู้ข่าวสารในเชิงลบมีผลทำให้ผู้สูงอายุมีความเครียด ซึ่ง 37% แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุมาจากบุตร และ 34% จากการจ้างงาน / การหารายได้ด้วยตนเอง จึงมีผู้สูงอายุเพียง 4% เท่านั้นที่มีรายได้จากการออม หรือมีทรัพย์ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ อาจได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้นได้หากพวกเขา ไม่มีเงินเพียงพอ สำหรับการอยู่อาศัยโดยเฉพาะในครัวเรือนที่พวกเขาต้องพึ่งพารายได้ ของลูก และซ้ำร้ายลูกๆ ของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังประสบผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ซ้ำเติมอีกด้วย

จากการสำรวจ ยังพบว่า ผู้ดูแลผู้สูงอายุยังขาดมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันการติดเชื้อโควิด ทำให้มีโอกาสนำเชื้อโควิดถ่ายทอดไปยังผู้สูงอายุ เราจึงควรเร่งการส่งเสริม และการสร้างเกาะคุ้มกันให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ และผู้ให้การดูแลผู้สูงอายุ โดยคำนึงถึงมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ของบุคคลเหล่านี้ เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีระหว่างประชากรต่างวัยเพื่อลดการตีตราและการโดดเดี่ยวผู้สูงอายุ ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ และผู้ให้การดูแลผู้สูงอายุ