ศาลฎีกาพิพากษาแก้ ยกฟ้องคดีถังดับเพลิงใต้SCBรั่วเมื่อปี59
ยกประโยชน์แห่งความความสงสัย! ศาลฎีกาพิพากษาแก้ ยกฟ้อง "วิศวกร-บจก.เมก้า ฯ"พ้นข้อหาประมาทคดีถังดับเพลิงใต้ SCBรั่วคนงานตาย8
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 23 ก.ย.64 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีสารเคมีระบบดับเพลิงไพโรเจนฟุ้งกระจายจนมีผู้เสียชีวิต 8 ราย ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เมื่อคืนวันที่ 13 มี.ค.59
คดีนี้ พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 7 และครอบครัวของนายวิรัช ดีดพิณ, นายพีรพัฒน์ กอยประโคน, น.ส.กรรณิการ์ ประจิตร์ หรือสินศิริ คนงานที่เสียชีวิตระหว่างติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัย ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นาย ณ.พงษ์ สุขสงวน อายุ 49 ปี ประธานกรรมการบริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด, นายอดิศร โฟดา อายุ 55 ปี ผู้บริหาร บจก.เมก้า ฯ, นายจิระวัฒน์ เปรมปรีดิ์ อายุ 34 ปี วิศวกรโครงการปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยของ บจก.เมก้า ฯ, นายสมคิด ตันงาม อายุ 63 ปี กก. บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด, นายสมคิด จันทร์หอม อายุ 40 ปี หัวหน้าช่าง บจก.โจนส์ แลง ฯ, นายตรีภพ ยังประเสริฐกุล อายุ 41 ปี ผู้จัดการดูแลอาคาร บจก.โจนส์ แลง ฯ, น.ส.ขจรจิตร พรหมดีราช อายุ 49 ปี พนักงานบริษัท เอบิต มัลติซิสเต็ม จำกัด ที่รับช่วงต่อจาก บจก.เมก้า ฯ ควบคุมดูแลการวางท่อระบบดับเพลิงภายในอาคาร, นายบุญเสริม กระจาด อายุ 40 ปี วิศวกร บจก.เอบิต มัลติซิสเต็ม ที่คุมคนงาน, บริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด โดย นาย ณ. พงษ์ สุขสงวน และนายอดิสร โฟดา กรรมการผู้มีอำนาจ, บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด โดย นายสมคิด ตันงาม กรรมการผู้มีอำนาจ เป็นจำเลยที่ 1 – 10 ในคดีหมายเลขดำ อ.1764/2559 ความผิดฐานร่วมกันกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายแก่กายและอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390
ตามฟ้องอัยการโจทก์เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.59 สรุปว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค.59 เวลากลางคืน จำเลยทั้งหมด ซึ่งมีนายณ.พงษ์ จำเลยที่ 1 และนายอดิศร จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานต่างๆ ของ บจก.เมก้าฯ จำเลยที่ 9 ควบคุม สั่งการ และมอบนโยบายในการดำเนินงานแก่พนักงานของจำเลยที่ 9 เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2558 จำเลยที่ 9 ได้ทำสัญญากับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) รับจ้างปรับปรุงและบำรุงรักษาระบบ Fire Risk Assessment โดยให้จำเลยที่ 9 ทำการติดตั้งระบบดับเพลิงแบบไนโตรเจน ที่ห้องเอกสารสำคัญชั้นบี 2 (ใต้ดิน) ประตู 5 อาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กทม.จำเลยที่ 1-3 รู้อยู่แล้วว่าเป็นสถานที่มีการติดตั้งระบบดับเพลิงไพโรเจนที่ใช้สารเคมีแอโรซอลซึ่งเป็นสารเคมีอันตราย จำเลยที่ 1-3 มีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัย แต่จำเลยที่ 1-3 ไม่ได้แจ้งให้ลูกจ้างและบุคคลอื่นที่ว่าจ้างมาทำงานทราบถึงการทำงานของระบบดับเพลิงไพโรเจนที่อาจเป็นอันตรายซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานเจาะกำแพง , เพดาน อีกทั้งไม่ได้จัดให้มีการฝึกอบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการทำงานของเครื่องดับเพลิงไพโรเจน และอุปกรณ์เพื่อให้ลูกจ้างสวมใส่คุ้มครองความปลอดภัย , ไม่ได้แจ้งถึงวิธีการออกจากสถานที่เมื่อเกิดเหตุระบบดับเพลิงทำงานที่จะปล่อยสารแอโรซอลออกมา รวมทั้งไม่ได้หาอุปกรณ์ตรวจจับควัน ดังนั้นเมื่อลูกจ้างของจำเลยที่ 1-3 และบุคคลอื่นที่จำเลยว่าจ้างมา ได้ใช้สว่านไฟฟ้าเจาะกำแพง , เพดาน ภายในห้องเก็บเอกสารสำคัญที่เป็นสถานที่ปิด จึงเกิดควันและฝุ่นจำนวนมากสะสมอยู่ภายในห้อง แล้วเมื่อเครื่องตรวจจับควัน สามารถตรวจจับฝุ่นควันได้ จึงทำให้ระบบดับเพลิงไพโรเจนทำงานแล้วปล่อยสารแอโรซอลออกมา เป็นผลให้ลูกจ้างของจำเลยสูดหายใจเอาสารแอโรซอลเข้าไปในร่างกายจำนวนมาก กระทั่งนายวิรัช ดีดพิณ, นายพีรพัฒน์ กอยประโคน, นายสายฝน แล่นโคตร, นายยุทธนา คนการ, นายเพชร มหาสนิท, นายนัฒฐวุฒิ นาสมพงษ์, น.ส.วิลัย ขันทอง และน.ส.กรรณิการ์ ประจิตร์ หรือสินศิริ รวม 8 รายถึงแก่ความตายเนื่องจากขาดอากาศหายใจเพราะพิษก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และทำให้นายฉัตรชัย ขันทอง ได้รับอันตรายสาหัส เหตุเกิดที่แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กทม. ชั้นพิจารณาจำเลยทั้ง 10 คนให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.60 ว่า นาย ณ.พงษ์ จำเลยที่ 1, นายอดิศร จำเลยที่ 2 และนายจิระวัฒน์ จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 , 390 ซึ่งเป็นกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายแก่กายและอันตรายสาหัส ตามมาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุกจำเลยที่ 1, 2,3 คนละ 2 ปี และปรับ 20,000 บาท ส่วน บจก.เมก้าฯ จำเลยที่ 9 ให้ปรับ 20,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 -3 ไม่เคยต้องโทษมาก่อน อีกทั้งความประมาทที่เกิดขึ้นในการปิดระบบดับเพลิงเดิมก็นอกเหนือจากความสามารถของจำเลย จึงให้โอกาสจำเลยโดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้คนละ 2 ปี ส่วน บจก.เมก้า ฯ จำเลยที่ 9 ให้ปรับ 20,000 บาท และให้จำเลยที่ 1-3, 9 ร่วมกันชดใช้เงินญาติผู้ตาย โจทก์ร่วมด้วย 5 คน รวม 2.1 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันเกิดเหตุ 13 มี.ค.59 ส่วนจำเลยที่ 4–8 และ 10 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริหาร บจก.โจนส์ แลง ฯ ที่ดูแลบริหารอาคารสถานที่ และพนักงานบริษัทเอบิต ฯ ที่รับช่วงมาจาก บจก.เมก้า ฯ ในการจัดหาคนงานนั้นพิพากษา ให้ยกฟ้อง
ต่อมาโจทก์ ยื่นอุทธรณ์ โดยมีการอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 24 ก.ค.62 ซึ่งศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องนาย ณ.พงษ์ ปธ.กก.บจก.เมก้า ฯ และนายอดิศร ผู้บริหาร บจก.เมก้า ฯ จำเลยที่ 1-2 และยกคำร้องที่บังคับให้จำเลยที่ 1-2 ชดเชยค่าสินไหมทดแทนด้วย โดยให้นายจิระวัฒน์ วิศวกรโครงการปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยของ บจก.เมก้า ฯ จำเลยที่ 3 และบจก.เมก้า ฯ จำเลยที่ 9 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ร่วมที่ 1 นับจากวันฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ภายหลังอัยการโจทก์ - ญาติผู้เสียชีวิตโจทก์ร่วม และนายจิระวัฒน์ วิศวกรโครงการปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยของ บจก.เมก้า ฯจำเลยที่ 3, บจก.เมก้า ฯ จำเลยที่ 9 ยื่นฎีกา
ขณะที่วันนี้ นายจิระวัฒน์ วิศวกรโครงการปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยของ บจก.เมก้า ฯจำเลยที่ 3 และผู้บริหาร บจก.เมก้า ฯ ผู้แทนบริษัทจำเลยที่ 9 เดินทางมาพร้อมฟังคำพิพากษา โดยมีญาติและบุคคลใกล้ชิดที่เดินทางมาร่วมให้กำลังใจ
สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปว่า รายงานกองพิสูจน์หลักฐาน สันนิษฐานว่าระบบทำงานเนื่องจาก Smoke Detector ตรวจจับฝุ่นควันได้ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการทำงานเกิดจากการตรวจจับฝุ่นควันได้จริงหรือไม่ ไม่มีข้อมูลว่าก่อนเกิดเหตุธนาคารจะมีการปิดระบบไพโรเจนหรือไม่ และจากคำเบิกความของพยานแสดงให้เห็นว่าระบบดับเพลิงเดิมมีปัญหาในการทำงาน ไม่ได้มีการตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเหตุที่เกิดขึ้นเกิดด้วยสาเหตุใดแน่ น่าสงสัยว่ามีการปิดสวิตช์ระบบดับเพลิงตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุหรือไม่เนื่องจากพบว่าสวิตช์ปิดอยู่ แต่ไม่มีพยานผู้ใดเบิกความว่ามีการปิดสวิตช์ภายหลังเกิดเหตุแล้ว
พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาจึงยังไม่อาจรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ไม่ได้มีการแจ้งให้มีการปิดระบบดับเพลิงเดิมที่จะเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3 ตามฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง และเมื่อปรากฏความดังกล่าวแล้วจึงถือไม่ได้ว่า บจก.เมก้า ฯ จำเลยที่ 9 กระทำการโดยประมาท ดังนั้นจำเลยที่ 3 และ บจก.เมก้า ฯ ที่ 9 จึงไม่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1, 2, 6, 10, 11 ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 9 ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ศาลฎีกา จึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้อง นายจิระวัฒน์ วิศวกรโครงการปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยของ บจก.เมก้า ฯ จำเลยที่ 3 และ บจก.เมก้า ฯ ที่ 9 และให้ยกคำร้องการขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมที่ 1, 2, 6, 10, 11 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์+-