posttoday

ผ่าร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง เพื่อการแพทย์ หรือการเมือง

08 พฤศจิกายน 2565

เปิดร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับ อนุทิน ท่ามกลางเสียงคัดค้านให้ถอนออกจากสภา ของประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาลประยุทธ์

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 สมัยประชุมสุดท้าย ช่วงสัปดาห์แรก เกิดข้อขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย กรณีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ....ของนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ในฐานะสส.ของพรรคภูมิใจไทยกับคณะเป็นผู้เสนอร่าง

พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคและนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สส.ตรัง คัดค้านการเสนอร่างนี้เพราะเห็นว่า สถานการณ์กัญชา หลังการปลดออกจากบัญชายาเสพติดประเภท5 ที่ผ่านมา กำลังกลายเป็นกัญชาเสรีสุดขั้ว ประชาธิปัตย์ สนับสนุนกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้นแต่ร่างกฎหมายที่มีเสนอเปิดช่องให้นำไปใช้นันทนาการ และร่างกฎหมายสามารถบิดเบือนไปใช้ในด้านอื่นๆ ได้อีกมาก

 

เสียงค้านจากฝ่ายประชาธิปัตย์ ได้รับการชี้แจงนายอนุทิน ในฐานะเจ้าของร่าง ยืนยันว่า ไม่เคยมีนโยบายกัญชาเสรี มีแต่นโยบายที่จะเร่งรัดศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ หากประชาธิปัตย์ในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลมองว่าร่างกฎหมายไม่ดี ไม่สมบูรณ์ ทำไมไม่ค้านไม่แก้ให้สมบูรณ์ในชั้นกรรมาธิการ และหากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง ก็หมายความว่ารัฐบาล มีนโยบายที่โลเล ไม่มั่นคง เช่นนี้ ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน จะมีได้อย่างไร เกษตรกรที่ลงทุนไปแล้ว ใครจะรับผิดชอบ

ส่วนนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อภูมิใจไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการฯยกร่าง พระราชบัญญัติกัญชา-กัญชง ระบุว่า รมว.สาธารณสุขได้ออกประกาศควบคุมและพรรคภูมิใจไทยยังได้เสนอร่างกฎหมายกัญชาฯ ให้มีการควบคุมที่รัดกุมมากขึ้นแล้ว การออกมาทักท้วงถือเป็นกระบวนการที่ผิดปกติ ทั้งที่สามารถเสนอแก้ไขในชั้นรายมาตราได้ ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ เสนอเนื้อหาเพิ่ม 13 ข้อมองสิ่งที่ร่างไว้แล้วดีกว่าและบางเรื่องมีการพิจารณาไปแล้วเช่นกัน

ผ่าร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง เพื่อการแพทย์ หรือการเมือง

จากวิวาทะการเมือง ทำให้ต้องกลับไปสืบค้นหาข้อเท็จจริง ในบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบ ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ที่มีนายอนุทิน เป็นเจ้าของร่าง

หลักการ ให้มีกฎหมายว่าด้วยกัญชา กัญชง 

เหตุผล โดยที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การวิจัยและนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอื่น 

แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพ การป้องกัน บำบัดโรค รักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัย หรือการพัฒนานวัตกรรม 

ฉะนั้น เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการดูแลสุขภาพของตนและส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

ทั้งในด้านการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย ตลอดจนองค์ความรู้แพทย์แผนปัจจุบัน และอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงควรสนับสนุนการนำกัญชา กัญชง มาใช้ในการศึกษาวิจัย การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ การใช้ตามวิถีชุมชน ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ

และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้มีการบริโภคกัญชาอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งิาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สมควรกำหนดมาตรการกำกับดูแล ตควบคุมการขาย การโฆษณาและการบริโภคกัญชา กัญชง เพื่อคุ้มครองสุขภาพของบุคคล จำเป็นต้องตราพระราชบัญญาตินี้

หมวด10 ของร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ได้ให้ความคุ้มครองบุคคลและการป้องกันการใช้ในทางที่ผิดตามความในมาตรา 37 การห้ามจำหน่ายให้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20ปี บริบูรณ์ สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตรและบุคคลอื่นใดที่รมว.สาธารณสุขประกาศกำหนด วรรคสองให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตขายมีหน้าที่ต้องติดป้ายประกาศแจ้ง ณ สถานที่ขาย และตามความในมาตรานี้ ไม่ให้ใช้บังคับแก่การขาย โดยผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรม การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่สั่งจ่ายให้แก่คนไข้เพื่อประโยชน์ในการบำบัดรักษาโรค

หมวด 4 เรื่องการการจดแจ้งและการรับจดแจ้งการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงในครัวเรือน มาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20  บัญญัติถึงหลักเกณฑ์และวิธีการจดแจ้งของผู้ประสงค์จะเพาะ ปลูกโดยกำหนดให้ใบรับจดแจ้งมีอายุ 1ปี นับแต่วันที่รับจดแจ้ง แตกต่างไปจากร่างเดิม ที่ผู้ใดประสงค์จะเพาะปลูกกัญชา หรือกัญชง เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ต้น ต้องจดแจ้งจากผู้รับจดแจ้ง และเมื่อผู้รับจดแจ้งออกใบรับจดแจ้งให้แล้ว จึงจะดำเนินการได้

ท้ายร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ได้บันทึกวิเคราะห์ สรุปถึงเหตุผลและความจำเป็นของการเสนอร่างคือการสนับสนุนให้นำกัญชา กัญชงมาใช้ ตามวิถีชุมชน ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจและเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้มีการบริโภคกัญชา กัญชง อย่างไม่เหมาะสมซึ่งอาจเป็นอันตราย

กำหนดมาตรการกำกับดูแล ควบคุมการขาย การโฆษณาและการบริโภคเพื่อคุ้มครองสุขภาพของบุคคลและในบทเฉพาะกาล ตามมาตรา 37 ระบุว่าภายในระยะเวลา5ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การนำเข้ากัญชา กัญชงให้ทำได้เฉพาะกรณี ดังต่อไปนี้ คือ 1. เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย 2.เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือเพื่อประโยชน์ราชการ

ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ คาดว่าจะเข้าสู่วาระการประชุมสภาฯ ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ประเมินว่าจะพิจารณาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 2 นัด เพราะมีเนื้อหาที่ต้องแก้ไขจำนวนมากทั้งการกำหนดคำนิยาม ที่ยก “กัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษด้วยการกำหนดไม่ให้เป็นยาเสพติดอีกต่อไปรวมไปถึงการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตปลูก ผลิต และนำเข้า หรือ ส่งออกเพื่อทางการแพทย์ แต่หากจะส่งเสริมเศรษฐกิจก็ต้องเน้นให้กับคนทุกระดับเข้าถึงไม่ใช่เพื่อเอื้อกลุ่มทุนที่วางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้าผูกขาดตลาดกัญชา

ร่างพ.ร.บ.กัญชายังเป็นเรื่องที่น่าจับตายิ่งเพราะไม่ใช่เป็นเพียงแค่เป็นพืชเศรษฐกิจแต่กำลังกลายเป็นพืชการเมือง ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังเข้าสู่โหมดใกล้เลือกตั้ง เพราะถ้าคว่ำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์ทางการเมืองบีบรัดจากรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลนำไปสู่การกดดันให้ยุบสภา