posttoday

ไทยลงนาม FTA ฉบับแรกกับยุโรป มุ่งขยายการค้า-การลงทุน

24 มกราคม 2568

นายกฯ ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลง FTA ไทย-EFTA หวังส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และส่งเสริม SMEs

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ตามเวลาท้องถิ่นเมืองดาวอส นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ (EFTA) (TH-EFTA FTA) กับผู้แทนจากรัฐบาลไทยและประเทศสมาชิก EFTA ที่เข้าร่วม ได้แก่

 

(1) นายกี ปาร์เมอแล็ง (H.E. Mr. Guy Parmelin) รองประธานาธิบดีและรมว. กระทรวงเศรษฐกิจ การศึกษาและวิจัย สมาพันธรัฐสวิส ในฐานะเจ้าภาพ และโฆษกการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป

(2) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย

(3) นางสาวเซซิเลีย มีร์เซท (H.E. Ms. Cecilie Myrseth) รมว. ด้านการค้าและอุตสาหกรรม ราชอาณาจักรนอร์เวย์ ในฐานะประธาน รมว. สมาคมการค้าเสรี แห่งยุโรป (EFTA) ปี ค.ศ. 2025

(4) นาย Martin Eyjolfsson ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (Permanent Secretary of State) ไอซ์แลนด์

(5) นางสาวดอมีนิก ฮัสเลอร์ (Ms. Dominique Hasler) รัฐมนตรีต่างประเทศ การศึกษา และกีฬา ลิกเตนสไตน์ (Minister for Foreign Affairs, Education and Sport of Liechtenstein )

(6) นายเคิร์ท เยเกอร์ (Mr. Kurt Jager), เลขาธิการ EFTA (Secretary-General EFTA)

 

FTA ไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ซึ่งประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ เป็น FTA ฉบับแรกที่สำเร็จภายใต้รัฐบาลนี้ ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับ EFTA แล้ว FTA นี้ยังจะส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในสาขาต่างๆ เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง การพัฒนาทุนมนุษย์ การส่งเสริม SME และการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

ไทยลงนาม FTA ฉบับแรกกับยุโรป มุ่งขยายการค้า-การลงทุน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า FTA ฉบับนี้จะนำสู่การเจรจา FTA กับอียู และมีหลายประเทศหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น ไทยต้องเร่งให้มี FTA มากขึ้น ให้มากกว่าหรือเท่ากับเวียดนาม เพื่อแข่งขันกับเวียดนามได้ FTA จะเป็นแต้มต่อทำให้ไม่ต้องเสียภาษีและแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ซึ่งมีหลายประเทศ สนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น PCB Data Center หรือ AI และสำหรับผู้ประกอบการไทยเป็นเรื่องที่ดีที่เราต้องปรับตัวให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้นขายของไปทั่วโลก

 

ทั้งนี้ ภายหลังการลงนาม กระทรวงพาณิชย์จะเผยแพร่ผลการเจรจาและเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ และเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว หน่วยงานภายในประเทศของไทยจะต้องดำเนินการออกกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการมีผลบังคับใช้ของ FTA ฉบับนี้ให้เรียบร้อย ไทยจึงจะสามารถให้สัตยาบัน คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี  

ไทยลงนาม FTA ฉบับแรกกับยุโรป มุ่งขยายการค้า-การลงทุน

 

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปี 2567 ไทยกับ EFTA มีมูลค่าการค้ารวม 11,788.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.94 %ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 19.22 %โดยไทยส่งออกไป EFTA 4,225.01 ล้านดอลลาร์และนำเข้า 7,563.35ล้านดอลลาร์

 

สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องสำอาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ข้าว

 

สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากเอฟตา ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ยากำจัดศัตรูพืช เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ สัตว์นำสด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป เคมีภัณฑ์