เทียบนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง ก่อนเลือกตั้ง 66
เปิดนโยบายเศรษฐกิจ และนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รวมถึงนโยบายอิงประชานิยม ยกแรก ของพรรคการเมือง รับเลือกตั้ง 2566
การเมืองไทยเดินหน้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง66 เต็มตัว แม้ยังไม่มีการยุบสภาจากรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อประกาศเลือกตั้งใหม่อย่างเป็นทางการ พรรคการเมือง และ นักการเมืองมีการเคลื่อนไหวคึกคัก ทั้งย้ายคนย้ายพรรค แต่งตัวเตรียมรับการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ในความเคลื่อนไหวดังกล่าวพรรคการเมืองใหญ่ เล็กเริ่มเปิดนโยบายสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งออกมาบ้างแล้ว
วันนี้ Post Today จะมาเปิดนโยบายเศรษฐกิจเบื้องต้น และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก ที่บรรดาพรรคการเมืองทยอยออกมาให้ประชาชนได้รับรู้ ถือเป็นยกแรกของการเสนอนโยบาย ส่วนพรรคใหนจะเป็นนโยบายเชิงประชานิยมขนาดใหน และจะมีการเสนอนโยบายออกมาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
เปิดนโยบายเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค มีสาระสำคัญดังนี้
1 การประกันรายได้ จ่ายเงินส่วนต่าง ข้าว มัน ยาง ปาล์ม และข้าวโพด
2 ช่วยชาวนาที่ปลูกข้าว30,000 บาท ต่อ 1 ครัวเรือน (มีอยู่ประมาณ 4.7-4.8 ล้านครัวเรือน)
3 ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน
4 เงินอุดหนุนประมง 1 แสนบาทต่อปี 2.8 พันแห่ง
5 ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี แก้ปัญหาของพี่น้องที่ไม่มีที่ดินทำกิน อยู่ในที่รกร้างว่างเปล่า
6 ออกกรรมสิทธิ์ทำกิน ให้กับพี่น้องเกษตรกรที่อยู่ในที่ดินต่าง ๆของรัฐ
7 ธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาททั้งประเทศ
พรรคเพื่อไทย(พท.)
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยประกาศเมื่อ 6 ธ.ค.2565 โดยวางเป้าหมายนโยบายในปี 2570 มีสาระสำคัญดังนี้
1. นโยบายเศรษฐกิจ
1.1 ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส ดัน(GDP) ของประเทศเติบโตอย่างต่ำเฉลี่ยร้อยละ 5% ต่อปี ใช้แนวคิด “รดน้ำที่ราก” เพื่อให้ต้นไม้งอกงามได้ทั้งต้น ทั้งที่น้ำมีจำกัด
1.2 ใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ( Soft Power) ทำให้มีรายได้คนละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปี ประเทศไทยมี 20 ล้านครอบครัว สามารถสร้างงานทักษะสูงได้ 20 ล้านตำแหน่ง และมีรายได้รวมกันถึงปีละ 4 ล้านล้านบาท
1.3 ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน เงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป
1.4 สร้างแนวทางหารายได้ใหม่ให้กับประชาชนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่คู่ขนานไปกับรายได้ดั้งเดิม เพื่อล้างหนี้จนหมดสิ้น
2 หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค อัพเกรด หรือยกระดับขึ้น สามารถรักษาได้ทั่วประเทศ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว
มีโรงเรียน 2 ภาษาในทุกท้องถิ่น ซึ่งสอนภาษาต่างประเทศเช่น ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ตั้งแต่ ป.1
3 นโยบายด้านพลังงาน ราคาพลังงาน ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส ค่าไฟ ลดลงทันที จะรณรงค์และส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับครัวเรือน ทำให้ลดการพึ่งพาน้ำมันลง
พรรคสร้างอนาคตไทย(สอท.)
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย ประกาศเมื่อครั้งไปเยือนภาคอีสาน เมื่อ 5 พ.ย. 65
1 บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ต่อยอดจากเดิม ยืนยันเป็นต้นคิดโครงการ)
2 ปุ๋ยคนละครึ่ง
3 พักหนี้ พักเงินต้น พักดอกเบี้ย เป็นเวลา 5 ปี เติมเงินใหม่
4 สิ้นค้าโอทอป (ต่อยอดโอทอป ให้ไปถึงระดับหมู่บ้านโอทอป)
5 กองทุนหมู่บ้าน (ต่อยอดกองทุนหมู่บ้านที่มีมากกว่า 70,000 หมู่บ้าน)
พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.)
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ประกาศในงานสัมนา และทำWorkshop ของพรรคเมื่อ 10ต.ค.และ16 พ.ย. 2565
1บำนาญประชาชน 3,000 บาท เป้าหมาย 5 ล้านคน (มีสมัครเป็นเครือข่ายบำนาญประชาชนแล้วกว่า 1,100,000 คน)
2 แก้หนี้ โดยเปิดตัว 3 กองทุน คือ
-กองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย “ปลดล็อกเครดิตบูโรให้ประชาชน”
-กองทุน SMEs เพื่อช่วยเหลือในการทำธุรกิจ ทั้งภาคท่องเที่ยว และวิสาหกิจชุมชน และ
-.กองทุนเครดิตประชาชนเพื่อจะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ให้ประชาชนสามารถผ่อนชำระได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดอกเบี้ยต่ำ และผ่อนชำระรายวันได้
พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร.ประกาศในการลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี อังคารที่ 17 ม.ค.66 และศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคให้สัมภาษณ์ 19 ม.ค.66
1 นโยบายบัตรประชารัฐ 700 บาทต่อเดือน รายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท (คนที่เคยได้รับสิทธิตามบัตรมาพิจารณา) ประมาณ 18 ล้านคน คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือ ปีละ1.5 แสนล้านบาท
2 นโยบายที่ดินประชารัฐ
3 ซื้อหน่วยลงทุนก็มาหักภาษีได้ ระดมทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อตั้ง 4 กองทุน คือ
-กองทุนพัฒนาชีวิตผู้พิการ
-กองทุนช่วยแม่เลี้ยงเดียว
-กองทุนผู้ที่ติดคุกมีงานทำ
-กองทุนที่จะช่วยเกษตรไทย
4 ลดค่าแก๊สหุงต้ม ค่าเดินทาง จิปะถะ
พรรคภูมิใจไทย (ภท.)
ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่มีเขียนไว้ในเวปไซต์ของพรรค ดังนี้
1 พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกคนละไม่เกิน 1 ล้านบาท
2 เกษตรกรร่ำรวย รู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกัน Contract Farming ขายข้าว 12,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลิ 18,000/ตัน มันสัมปะหลัง 4 บาท/กก. ปาล์มทลาย 5 บาท/กก. น้ำยางสด 62 บาท/กก. ยางแผ่าน 65 บาท/กก.
3 พลังงานสะอาด ลดรายจ่ายประชาชน
-ฟรีหลังคาโซล่าเซลล์ ลดค่าไฟฟ้า หลังคาเรือนละ 450 บาท
- มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ผ่อน เดือนละ 100 บาท 60 งวด
4 ด้านสาธารณสุข
- เพิ่มค่าตอบแทน อสม. เป็นเดือนละ 2,000 บาท ศูนย์ฟอกไตฟรี "ทุกอำเภอ"
พรรคชาติพัฒนากล้า
เบื้องต้น นายกรณ์ จาติกวานิช หัวหน้าพรรค ได้เสนอนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และ การเข้าถึงระบบสินเชื่อ โดย รื้อระบบเก็บข้อมูลของบริษัทเครดิตบูโร ยกเลิกระบบแบล็กลิสต์ ใช้ระบบ Credit Scoring หรือวิธีประเมินสินเชื่อตามจริงแทน ส่วนนโยบายอื่นๆทั้งหมดจะมีการประกาศในวันอังคารที่ 24 ม.ค. 2566 นี้
ในขณะที่พรรคก้าวไกล ยังไม่มีการประกาศนโยบายที่เป็นรายละเอียดในส่วนของนโยบายเศรษฐกิจ จะมุ่งเน้นในการปฏิรูปในด้านต่างๆ โดยมองว่าหากมีการดำเนินการที่โปร่งใสไม่มีคอรัปชั่นจะทำให้ภาคต่างๆทางเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ และเน้นการกระจายที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานอย่างเป็นธรรม
ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคอื่นๆ ยังไม่มีการประกาศนโยบายที่ชัดเจนออกมา