"ชัชชาติ" น้อมรับผลโพล คะแนนนิยมลด เร่งปรับปรุงการทำงาน
"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ยอมรับผลโพลนิด้า หลังเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนตลอด 1 ปีการทำงานในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีคะแนนนิยมลดลง ชี้ คำติเหมือนแรงผลักดัน พร้อมนำความเห็นจากประชาชนเร่งปรับปรุงการทำงาน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงผลสำรวจนิด้าโพล ที่สำรวจพึงพอใจการบริหารกรุงเทพมหานครตลอด 1 ปีที่ผ่านมาลดลง ว่า ส่วนตัวไม่ได้มีความกังวลใดๆได้แค่นี้ก็ถือว่าดีแล้วและจะนำสิ่งที่ประชาชนคิดเห็นไปปรับปรุง เปรียบนักการเมืองก็เหมือนรถใหม่ วันแรกที่ถอยรถออกมาราคาปกติ จากนั้น ราคาก็ลดลง แต่ย้ำว่า จะนำความเห็นทุกอย่างมาปรับปรุงให้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องคุยกับรัฐบาลใหม่ด้วย โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพของประชาชน
"ไม่เป็นไร เป็นเรื่องธรรมดา พร้อมน้อมรับและนำมาปรับปรุงดีแล้วที่มีคนติ ถ้ามีคนชมอย่างเดียวเราไม่รู้จะปรับปรุงตรงไหน เราก็ต้องเดินหน้าเต็มที่ คำติเหมือนเป็นแรงผลักดันของเรา ยิ่งกว่าคำชมอีก เรายิ่งต้องเปลี่ยนมาเป็นพลังบวกให้ได้ ก็ขอบคุณ 1 ปี เราทำเต็มที่แล้ว เชื่อว่าเราได้รับความร่วมมือหลายๆ ด้าน" นายชัชชาติกล่าว
อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้วิเคราะห์ว่าคะแนนนิยมที่ลดลงมาจากสาเหตุใด แต่ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาต่อการทำงานย่อมมีคนชอบและไม่ชอบ แต่ก็ได้มอบหมายให้ทีมงานแต่ละด้านไปวิเคราะห์จุดอ่อน และจะพยายามทำงานอย่างเต็มที่เช่นเดียวกับ 1 ปีที่ผ่านมา พร้อมขอบคุณผลสำรวจโพลที่ทำให้ทราบรายละเอียดที่ต้องแก้ไข
ส่วนการรับมือกับฤดูฝนที่กรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ เชื่อว่า สถานการณ์ปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะได้ทำตามแผนการระบายน้ำและลอกท่อ รวมถึงโครงการหลายอย่างได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปบ้างแล้ว โครงการประตูระบายน้ำที่เสร็จสิ้นไปแล้วร้อยละ 50 และเตรียมความพร้อมแบบชั่วคราวในการรับมือด้วย เรายอมรับเป็นห่วงจุดก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย ที่จะต้องไปดูว่ามีการกีดขวางทางระบายน้ำหรือไม่
ขณะที่ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ จะมีการหารือกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และว่าที่ ส.ส. กทม.พรรคก้าวไกล โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า มี 17-18 ประเด็นในการหารือ ส่วนตัวมองว่าไม่ว่าเป็นใครก็ตาม ที่เป็นรัฐบาลก็ต้องหารือในประเด็นนี้ โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรหลักในการเข้ามาสนับสนุนการทำงานในกรุงเทพมหานคร ทั้งใช้พื้นที่ใต้ทางด่วนปลูกต้นไม้ การคมนาคมขนส่ง การจราจร สาธารณสุข สวนสาธารณะ บางเรื่องกรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจเต็มโดยตรง
ส่วนพื้นที่เสี่ยงในกรุงเทพมหานคร มีตรงจุดคลองเปรมประชากร, คลองลาดพร้าว และคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งถือเป็นครองหลัก โดยเฉพาะคลองลาดพร้าวที่มีการรุกล้ำพื้นที่เป็นจำนวนมาก ไปขุดลอกคลองลำบาก
ส่วนคลองประเวศบุรีรมย์ ที่มีการเสนอโครงการระบายน้ำไปฝั่งตะวันออก ก็ยังอยู่ในแผนเนื่องจากมีเส้นทางยาว แต่ขณะนี้ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วเพื่อที่จะระบายน้ำไปยัง อ.แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา ได้มากขึ้น
ขณะเดียวกันยืนยันว่า กว่า 500 จุดที่มีปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร จะนำมาเป็นบทเรียน จัดทำเป็นแผนที่ในการแก้ไขแล้ว พร้อมย้ำอีกว่า อุโมงค์ระบายน้ำก็มีประสิทธิภาพอยู่ ที่ผ่านมาไม่ใช่ปัญหา แต่พบว่าน้ำไม่ไปถึงอุโมงค์ระบายน้ำ
ดังนั้น จะต้องทำโครงการเส้นเลือดฝอยให้เข้มแข็ง ทั้งการดูแลปั้มสูบน้ำ การลอกท่อ ซึ่งจะต้องเข้มแข็งเพื่อไปสู่เส้นเลือดใหญ่ ส่วนการลอกท่อได้ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 3,000 กิโลเมตร และภายในปีนี้จะสามารถลอกท่อได้ 100% ซึ่งก็ยอมรับว่าประชาชนรับทราบน้ำมีการระบายได้เร็วขึ้น และย้ำว่า ใน 4 ปี ประชาชนจะได้เห็น 200 นโยบายที่ประกาศไว้ อาจจะมีบางข้อที่จะต้องปรับปรุงเนื่องจากไม่ทันสมัย
ขณะเดียวกัน คาดว่าสัปดาห์หน้าเว็บไซต์ที่ติดตาม 200 นโยบายจะแล้วเสร็จซึ่งจะเป็นการติดตามงานได้มากขึ้น เพราะทุกเขตจะมีการรายงานทุกปัญหาเข้ามา