posttoday

'พิธา' ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ ย้ำก้าวไกลไม่ถอย แก้ไขมาตรา112

19 กรกฎาคม 2566

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ ก่อนรัฐสภาเปิดประชุมโหวตนายก รอบ2 ยันก้าวไกล เดินหน้าทำตามคำสัญญาประชาชน แก้ไขมาตรา 112 ปฏิรูปกองทัพ-ปิดทุนผูกขาด

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันที่18 ก.ค.66 ระบุว่า เขายินดีที่จะปรับแผนปฏิรูปต่างๆที่ทางพรรคได้เสนอไว้ หากได้รับ การรับรองให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ยืนยันว่า จะไม่ยอมถอยหรือล้มเลิกแผนที่สัญญาไว้ว่าจะเดินหน้า แก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 112

ในการให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ที่จะเกิดขึ้นในวันพุธที่ 19 กรกฎาคมนี้ นายพิธา ระบุว่า ความพยายามของฝ่ายที่มีกองทัพหนุนหลังเพื่อสกัดกั้นตนไม่ให้ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลนั้นเป็นเหมือน “แผ่นเสียงตกร่อง” และว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคศักราชใหม่ที่ประชาชนปรารถนาที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว
 

หัวหน้าพรรคก้าวไกลวัย 42 ปี ที่จะเข้าสู่การโหวตรับรองเป็นครั้งที่สองในวันนี้ กล่าวว่า การลงมติครั้งแรกนั้นเป็นไปตามคาดไว้ไม่มีผิด เรื่องเดิม ๆ แบบเดิม ๆ เป็นเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง แต่ความรู้สึกของยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น(ในการโหวตครั้งที่สอง) สังคมได้เริ่มเดินไปข้างหน้าแล้ว และเรียกร้องสิ่งใหม่ ๆ ด้วย

แม้พรรคก้าวไกลจะสามารถกวาดเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา และได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เห็นด้วยกับแผนการปฏิรูปต่าง ๆ แต่ “พิธา” แคนดิเดตนายกฯของพรรคก้าวไกล ก็ไม่สามารถเรียกเสียงโหวตสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลรักษาการได้ตามเป้า โดยในการลงมติรอบแรกเมื่อสัปดาห์ก่อน (13 ก.ค.) มี ส.ว.เพียง 13 คนเท่านั้น ที่ออกเสียงสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี

ในการลงมติรอบสองสัปดาห์นี้ พิธาร้องขอให้ ส.ว.พิจารณาการลงมติให้ดีอีกครั้ง พร้อมย้ำว่า คะแนนเสียงของแต่ละคนนั้นไม่ใช่เพื่อตัวของเขา(นายพิธา) แต่เพื่อหลักการแห่งประชาธิปไตย โดยกล่าวว่า

“มันคงเป็นความแปลกประหลาดที่ไม่สมเหตุสมผลที่พรรคที่ชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคที่ชนะเป็นอันดับสองถึง 4 ล้านเสียง หรือต่างกันถึง 10% จะกลายมาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน และไม่ได้เป็นแม้กระทั่งสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล... เราคงอธิบายเรื่องนี้ให้ทั่วโลกฟังไม่ได้”

และแม้จะต้องเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ ที่รออยู่ ตั้งแต่ความพยายามของ ส.ว. บางรายที่แย้งว่า ไม่ควรมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ซ้ำรอบสอง ไปจนถึงการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญต่อคำฟ้องให้ประกาศว่า หัวหน้าพรรคก้าวไกลขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) เพราะกรณีการถือครองหุ้นในบริษัทสื่ออย่างไอทีวี นายพิธายืนยันว่า พรรคก้าวไกลจะยังเดินหน้าทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ ทั้งเรื่องการเสนอญัตติแก้ไขมาตรา 112 การจัดการกับประเด็นการผูกขาดในภาคธุรกิจ รวมทั้งการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และการทำให้กองทัพและการเมืองแยกจากกัน

“การตัดสินของศาล กฎเกณฑ์ของรัฐสภา รวมทั้ง ส.ว. ล้วนเป็นอุปสรรคขัดขวางที่บังเอิญมาเกิดขึ้นในวันเดียวกัน แต่ก็ไม่เป็นไร มันเป็นอะไรที่มีการวางแผนมาก่อนแล้ว”

ทั้งนี้ นายพิธายืนยันว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 112 หรือ ม.112 นั้นไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อสถาบัน แต่มีจุดประสงค์เพื่อทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า กฎหมายดังกล่าวจะไม่ถูกนำไปใช้อย่างผิด ๆ พร้อมกล่าวเสริมว่า หนทางที่พรรคก้าวไกลพิจารณาในการเดินหน้าแผนงานนี้มีความยืดหยุ่นอยู่ และว่า ในที่สุดแล้ว ประเด็นดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการตัดสินขั้นสุดท้ายอยู่ดี

ข้อมูลอ้างอิง

Thai PM hopeful vows no retreat from party's reform agenda 

Can Thailand's Pita succeed in a second PM vote?