posttoday

วังวนประวัติศาสตร์ทุก 20 ปีการเมืองไทย เปลี่ยนฝั่ง เปลี่ยนขั้ว เปลี่ยนแปลง!

28 กรกฎาคม 2566

พาย้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทยทุกรอบ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2435 เกิดการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนฝั่ง แปรพักตร์ และจบอำนาจลงอย่างไร?

จุดเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่าง อนุรักษ์ - ก้าวหน้า - อำนาจนิยม บนแผ่นดินสยาม

 

2435    การปฏิรูปการปกครองในปี พ.ศ. 2435 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างระบบรัฐราชการภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้นมาอย่างสมบูรณ์  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหาของการปกครอง ซึ่งส่งผลต่อสังคมไทยโดยรวม

พระองค์ทรงจัดโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินเสียใหม่เป็น 12 กรม  ส่วนหนึ่งในนั้นคือ กรมมหาดไทย และกรมกลาโหม ฯลฯ  ผลภายหลังจากการกำเนิดกรม ทำให้เกิดข้าราชการใหม่ ซึ่งเป็นชนชั้นกลางในเวลาต่อมา และเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดด้านการเมืองใหม่ๆ ในอีกหลายสิบปีถัดไป

 

2455     คือปีที่เกิดความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยกำลังทหารครั้งแรกของประเทศสยามในชื่อ คณะเก๊กเหม็ง ร.ศ.130  โดยพยายามจะเปลี่ยนประเพณีปกครองแผ่นดินโดยการลดพระราชอำนาจพระเจ้าแผ่นดิน แต่อยู่ในการโต้เถียงกันว่าจะให้อยู่ใต้พระธรรมนูญดีหรือจะไปถึงการเป็นสาธารณรัฐ แต่หลังจากการประชุมไปเพียงหนึ่งครั้งคณะเก๊กเหม็งโดนจับและถูกคุมขัง

หนึ่งปีหลังคณะ ร.ศ. 130 ได้รับอิสรภาพจากการถูกคุมขัง ประเทศสยามผลัดแผ่นดินสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 สมาชิกกลุ่มนี้หลายคนเข้าสู่วงการสื่อสารมวลชนและ “ได้ร่วมความคิดปรึกสาหารือไนการเขียนปลุกไจไห้ประชาชนนิยมลัทธิประชาธิปไตย” ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หรือในอีก 20 ปีถัดมา

 

2475   การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เป็นเหตุการณ์เปลี่ยนระบอบการปกครองของสยามจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ นำโดยคณะบุคคลที่เรียก คณะราษฎร โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการกำเนิดของข้าราชการใหม่ซึ่งเป็นชนชั้นกลางหลังการปฏิรูปขยายระบบราชการในปี 2435

ต่อมาพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกจัดตั้งรัฐสภาขึ้น ทว่าความขัดแย้งในสภาระหว่างรัฐบาลกับคณะราษฎร ได้นำไปสู่การรัฐประหารโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยเขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปี

 

คณะราษฎร

 

2494-2495  รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494 ของคณะทหาร สืบเนื่องจากปัญหาทางการเมืองของร่างรัฐธรรมนูญ 2492  ที่กำหนดโครงสร้างทางการเมืองที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการควบคุมทางการเมืองผ่านรัฐสภา

อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้กีดกันคณะรัฐประหารออกไปจากการเมือง  โดยห้ามเอกชน คณะบุคคลและพรรคการเมืองใช้กำลังทหาร ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามบริหารราชการแผ่นดินด้วยความยากลำบาก

ด้วยเหตุนี้ การรัฐประหาร 2494 จึงเป็นการยุติอำนาจกลุ่มอนุรักษ์นิยมออกไปจากการเมืองไทย ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่างคณะทหารที่มีจอมพล ป. กับผู้นำที่มาจากคณะราษฎร และกลุ่มอำนาจเก่าที่ยังคงดำรงอยู่ภายหลังการปฏิวัติ 2475

 

ขั้วมวลชนถือกำเนิด

ภายหลังเหตุการณ์ 2480 เป็นต้นมาคือช่วงเวลาการปกครองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งพยายามจะรักษาฐานอำนาจของตนเอง โดยการถ่วงดุลอำนาจของทหารและตำรวจ ภายหลังมีความคิดที่จะดึงพลังจากกลุ่มมวลชนขึ้นมาใช้เป็นอำนาจต่อรอง จนนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2500 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ถูกเรียกว่า สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์

หลังจากนั้นในช่วง 2510 -2540 คือช่วงเวลาของการต่อสู้ระหว่างมวลชนที่และรัฐบาลทหาร หลังจากการพัฒนาด้านการศึกษาของชาติเติบโตขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับยุคก่อน

 

2500     เกิดการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ จอมพล ป. ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์กลับได้เสียงตอบรับจากมวลชนมากกว่า  เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฎว่าจอมพล ป.ได้รับชัยชนะ จึงสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับนิสิต นักศึกษา ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยที่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ความไม่พอใจของมวลชน กดดันให้ผู้นำทางการเมืองแตกคอกัน จอมพล ป. ไม่สามารถรักษาสมดุลสามเส้าไว้ได้อีก เป็นเหตุให้ วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์นำคณะทหารเข้าล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม

  • 14 ตุลาคม 2516    คนรุ่นใหม่ซึ่งเติบโตขึ้นมาในบรรยากาศของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในสมัยจอมพลสฤษดิ์  ได้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย อีกทั้งยังตั้งคำถามต่อความไม่พัฒนาของการเมืองการปกครองไทยที่มีการสืบทอดอำนาจกันอยู่ในหมู่ของทหาร จากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สู่จอมพลถนอม กิตติขจร และทำท่าจะสืบทอดไปยังจอมพลประพาส จารุเสถียร  ซึ่งทำให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมานานเกือบ 15 ปี จนทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดที่เรียกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา  ผลคือมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ซึ่งสมาชิกผู้ร่างประกอบด้วยประชาชนในภาคส่วนต่างๆ และทำให้อำนาจของทหารหมดลง แต่แล้วด้วยเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่ที่ไม่มากพอ จึงนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดในปี 2519

 

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยค

 

6 ตุลาคม 2519    มีข่าวลือว่าจอมพลถนอมพยายามซึ่งหนีออกนอกประเทศ พยายามจะกลับเข้ามามีอำนาจในประเทศอีกครั้ง โดยอ้างอาการเจ็บป่วยของบิดา  สร้างความไม่พอใจต่อขบวนการนิสิต นักศึกษา ซึ่งไม่อยากกลับไปอยู่ภายใต้ระบอบทหารดังเดิม ..  เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นการล้อมปราบนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งเป็นข้อห้าร้ายแรง ซึ่งนักศึกษาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด ...   การกวาดล้างนักศึกษาในครั้งนั้น ทางรัฐบาลของ นายเสนีย์ ปราโมช ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่ง กลายเป็นข้ออ้างให้ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่  ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้นทำรัฐประหาร ประกาศยึดอำนาจ พร้อมกล่าวประณามความไร้ประสิทธิภาพของระบอบประชาธิปไตย    

  • พฤษภาทมิฬ 2535   เหตุการณ์นี้เริ่มต้นขึ้นจากคณะ รสช. นำโดยพล.อ. สุจินดา คราประยูรทำรัฐประหาร พล.อ.ชาติชาย โดยอ้างว่ามีการทุจริตในปี 2534  ต่อมาเมื่อพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งก่อตั้งโดยเครือข่าย รสช. ได้คะแนนเสียงมากที่สุดก็เลือกให้พล.อ.สุจินดาที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. เป็นนายกฯ ประชาชนจึงเกิดความไม่พอใจออกมาคัดค้านและบอกว่านี่คือการ  ‘ตระบัดสัตย์’  จนทำให้เกิดคำพูด ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ของพล.อ.สุจินดา และนำมาซึ่งการชุมนุมที่ยืดเยื้อโดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำการชุมนุม และเกิดการเข้าปราบปราบที่รุนแรงจากฝั่งทหาร  นำไปสู่การเข้าเฝ้าฯ ร.9 และยุติเหตุการณ์ลง หลังจากนั้นมีการจัดเลือกตั้งใหม่ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง ทำให้นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรค ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

 

สุจินดา คราประยูร และจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ

 

 

เกมส์มวลชน บนกระดานการเมือง

 

2540    เกิดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540  ที่เรียกว่าเป็น รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ณ ขณะนั้นจึงได้ประกาศยุบสภาในต้นเดือนพฤศจิกายน 2543 และประกาศการเลือกตั้งครั้งใหม่ในต้นเดือนมกราคม 2544

การเลือกตั้งครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นให้แก่บ้านเมืองเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนในการร่างผ่านตัวแทนของตน ไม่ใช่ผลผลิตจากรัฐประหาร

2544-2549     กำเนิดพรรคไทยรักไทย  ... รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ส่งผลให้พรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคใหม่นำโดย ทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจใหญ่ที่ลงมาเล่นสนามการเมืองสามารถชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ได้  คะแนนนิยมของทักษิณได้ใจจากประชาชนซึ่งเรียกว่าเป็นมวลชนรากหญ้าอย่างถล่มทลาย แต่กลับถูกวิจารณ์อย่างหนักจากบางกลุ่มโดยเฉพาะเรื่องของการขายหุ้น และการก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ จนทำให้เกิดการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลืองในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นการชุมนุมของมวลชนขนาดใหญ่ ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลจากการเลือกตั้งและไม่ใช่รัฐบาลทหาร

ในขณะเดียวกันก็กำเนิดกลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาด้วย มวลชนเกิดความแตกแยกกันทางความคิดเห็นด้านการเมืองอย่างสูงสุด จนทำให้เกิดการรัฐประหารโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน  อีกครั้งในรอบ 15 ปี แต่ครั้งนี้ทหารได้รับการต้อนรับจากประชาชน เกิดคำพูดที่ว่า ทหารของประชาชน และทหารของพระราชา

หลังจากนั้น พรรคเพื่อไทย (ไทยรักไทยเดิม) ยังสามารถกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้งในสมัยของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ถูกปฏิวัติอีกครั้งจาก คสช. ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากความพยายามที่จะผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ซึ่งครอบคลุมความผิดของทักษิณ ชินวัตร ส่งผลให้ฝั่งมวลชนส่วนหนึ่งไม่พอใจ

 

ม็อบ กปปส. ที่ออกมาชุมนุม โดยฟางเส้นสุดท้ายคือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

 

2560    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจหลายอย่าง ตั้งแต่ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมถึงเป็นผู้ร่วมตัดสินใจว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

  • 2561    กำเนิดพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีแนวคิดก้าวหน้า  โดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล  หลังจากนั้นพรรคถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 และสมาชิกเดิมส่วนใหญ่ย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล
  • 2566    การเลือกตั้งในปี 2566 ส่งผลให้พรรคก้าวไกลคว้าชัยชนะเป็นอันดับ 1 จากฐานอำนาจของมวลชนที่ซื้อหลักการ ‘มีลุงไม่มีเรา’  กลับมายึดหลักไม่เอาอำนาจทหารอีกครั้ง และประชาชนไม่ต้องการความขัดแย้งแบบแดง-เหลือง จากท่าทีของทักษิณ ชินวัตร ที่จะกลับเข้ามายังประเทศไทยในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง นอกจากนี้ กระแสความต้องการเห็น ประเทศไทย เปลี่ยน จากสภาพเดิมๆ นักการเมืองเดิมๆ หนุนส่งพรรคก้าวไกลให้ชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคที่ได้รับจำนวน ส.ส.ถึง 151 ที่นั่ง มากเป็นอันดับ 1  อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลก็ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยสาระสำคัญอยู่ที่ สว. และสส. จากพรรคอื่นไม่เห็นด้วยโดยอ้างถึงนโยบายการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์

 

วินาทีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังจากไม่ผ่านการโหวตเป็นนายกฯในรอบแรก

               ท่ามกลางความไม่ลงรอยทางความคิดดังกล่าว  ก็ทำให้ ณ ทุกวันนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถมีรัฐบาลใหม่มาขับเคลื่อนประเทศ  แม้การเลือกตั้งจะผ่านมากว่า 2 เดือนแล้วก็ตาม