posttoday

ย้อนรอย 4 นักการเมืองหญิง ถูกตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต

21 กันยายน 2566

ศาลฎีกา พิพากษา ตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต ช่อ-พรรณิการ์ วานิช โพสต์ข้อความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ผลการกระทำในอดีต ส่งผลถึง ปัจจุบัน พรรณิการ์ ไม่ใช่ นักการเมืองรายแรก แต่ยังมี นักการเมืองหญิง ตกในชะตากรรมเดียวกันด้วยข้อหาต่างกรรม ต่างวาระอีกหลายคน

ภายหลังจาก ศาลฎีกามีคำพิพากษา ตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต ช่อ-'พรรณิการ์ วานิช' อดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และ แกนนำคณะก้าวหน้า จากการโพสต์ข้อความไม่เหมาะสม เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ผลจากการกระทำในอดีต ส่งผลมาถึง ปัจจุบัน

เหตุจากการ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่ง บางคนเปรียบโทษนี้ เท่ากับ โทษประหารชีวิตทางการเมือง ช่อ-พรรณิการ์ ไม่ใช่ นักการเมืองรายแรก เพราะยังมี นักการเมืองอีกหลายคน เคยเผชิญชะตากรรมเดียวกันมาก่อน

วันที่7 เม.ย.2565 ศาลฎีกา พิพากษาตัดสินคดีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหา 'ปารีณา ไกรคุปต์' ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง บุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ 711 ไร่ทำฟาร์มไก่ใน จ.ราชบุรี 
ศาลฎีกาฯ พิพากษาให้น.ส.ปารีณา พ้นจากส.ส.ทันที เหตุฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เหตุรุกที่ป่าสงวนครอบครอบที่ดินโดยไม่คืนที่ดินสู่การปฏิรูป

โดยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี ทำให้ไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. และส.ว.และตำแหน่งการเมืองตลอดชีวิต 

 

วันที่22 ก.พ.66 ศาลฎีกา นัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ คมจ.2/2565 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ร้อง กับ 'กนกวรรณ วิลาวัลย์' รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้คัดค้าน เรื่อง การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณีรุกป่าเขาใหญ่


ศาลฎีกา มีคำพิพากษาให้ นางกนกวรรณ  มีความผิดฐานฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ตัดสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต และ เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี 

 

วันที่4 ส.ค.66 ศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ คมจ.2/2564 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องกรณี 'ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์' ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ผู้คัดค้าน มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง กรณีเสียบบัตร ส.ส.แทนกันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร


ศาลฎีกา มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรค (3) และวรรค (4) พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 ประกอบมาตรา 81 


วันที่ 20 ก.ย.66 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ คมจ.1/2565 หมายเลขแดงที่ คมจ.5/2566  ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ร้อง 'พรรณิการ์ วานิช' ผู้คัดค้าน

โดยผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านโพสต์ภาพถ่าย และข้อความตามคำร้องข้อ 4.1 (1) ถึง (6) ในลักษณะเป็นการกระทำอันมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊ค

 พฤติการณ์ของผู้คัดค้านเป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพ และเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 6 มาตรา 50 (1) และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6 การที่ผู้คัดค้านไม่ลบหรือนำภาพ ถ่าย และข้อความดังกล่าวทั้งหมดออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งที่สามารถกระทำได้เพื่อไม่ให้ปรากฎอยู่และเพื่อไม่ให้บุคคลใดสามารถเข้าถึงภาพถ่ายและข้อความทั้งหกกรณีดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย


การกระทำของผู้คัดค้าน จึงเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 ประกอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6 ประกอบ ข้อ 29 (1) ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 (3) และ (4) แต่ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 5 จึงยังไม่เห็นสมควรเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้าน

ผลจากการ ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ 4 นักการเมืองหญิง ด้วยข้อหาต่างกรรม ต่างวาระ นำมาสู่ การวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ในเชิงนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ โดยเฉพาะ คดีพรรณิการ์ จะกลายเป็น บรรทัดฐานใหม่ ส่งผลไปถึง นักการเมืองคนอื่นๆ ที่อาจจะตกอยู่ใน ชะตากรรมเดียวกันกับ พรรณิการ์ อีกหรือไม่