เปิดแผนงาน ซอฟต์พาวเวอร์ 'มหาสงกรานต์2567' กับเป้าหมาย โกยรายได้ 4 หมื่นล้าน
แผนงานซอฟต์พาวเวอร์2567 ทั้ง11อุตสาหกรรม กับการเตรียมจัดงานมากถึง 1 หมื่นกิจกรรม ภายใต้วงเงิน 5.1 พันล้านบาท ปักหมุด มหาสงกรานต์ ตลอดเดือนเมษายน ทุกภูมิภาค คาดว่าจะโกยรายได้เข้าประเทศ 4 หมื่นล้านบาท ความคาดหวังที่ตั้งเป้าจะได้กลับมา จะคุ้มค่ากับที่ทุ่มลงไปหรือไม่
ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) กำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่าย แนวทางการขับเคลื่อน แผนงาน รูปแบบ กิจกรรม งบประมาณ คณะทำงาน ที่แต่ละส่วนล้วนมีส่วนสำคัญต่อ การขับเคลื่อน อำนาจละมุน จะสร้างเม็ดเงิน สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ ไปพร้อมกับ สร้างงาน สร้างคน สิ่งที่ปักหมุดทางความคิด ผ่านการทำงานในโปรเจคต่างๆ จะคุ้มค่ากับ สิ่งที่ได้ลงทุนไปหรือไม่
‘แพทองธาร ชินวัตร’ ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวว่า
'แผนงานปีหน้า เริ่มแล้วค่ะ ประชุมคณะกรรมการการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เมื่อวานนี้(30พ.ย.) ทั้ง 12 คณะ จาก 11 อุตสาหกรรม ได้เสนองบประมาณเพื่อเตรียมดำเนินการในปีหน้า โดยหลังจากนี้เราจะเสนองบประมาณตามลำดับขั้นตอนต่อไป
และอีกหนึ่งเรื่องใหญ่และน่าตื่นเต้น คือแผนงานใหญ่ปีหน้า วันสงกรานต์จะไม่ใช่แค่เทศกาลแบบในอดีตที่ผ่านมา แต่เราจะจัดงานใหญ่ มหาสงกรานต์ World Water Festival - The Songkran Phenomenon
เราจะปักหมุดให้สงกรานต์ในไทยปีหน้า เป็นเทศกาลที่คนทั้งโลกต้องบินมาเล่นที่บ้านเรา และสงกรานต์ปีหน้า เราจะไม่เล่นน้ำแค่ 3 วันนะคะ แต่จะจัดงานกันทั้งเดือน ทยอยจัดกันทั้งประเทศ 77 จังหวัด เตรียมวางแผนกันได้เลยนะคะว่าสัปดาห์ไหนของเดือนเมษายน อยากจะไปเล่นน้ำสงกรานต์กันที่จังหวัดไหนค่ะ
มาร่วมกันทำให้สงกรานต์บ้านเรา เป็นเทศกาลที่ทั่วโลกต้องปักหมุดมาเล่นน้ำที่บ้านเรา และทำให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศสุดยอดเฟสติวัลโลกค่ะ'
'นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี' รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ออกมาเปิดเผยรายละเอียด การขับเคลื่อน อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยทั้ง 11 ด้าน ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 5,164 ล้านบาท ไปพร้อมกับแจกแจง ที่มางบประมาณที่จะนำมาจัดงาน มหาสงกรานต์
‘งบประมาณที่จะนำมาใช้จัดกรรมมหาสงกรานต์นี้ อาจจะต้องขอใช้งบกลาง เนื่องจาก งบประมาณปกติ จากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ สภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จในวาระที่ 3 ได้ทันต่อการจัดกิจกรรมมหาสงกรานต์ครั้งนี้ โดยคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ จะมีการสรุปงบประมาณทั้งหมด ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป’
‘ชฎาทิพย์ จูตระกูล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และรองประธานกรรมการ บริษัท สยามพารากอน รีเทล จำกัด
นอกจาก เปิดเผยถึงแผนงานปี2567 ได้มีการจัดเตรียมกิจกรรมไว้กว่า 10,000 กิจกรรม 365 วันทั่วไทย โดยวาระแห่งชาติคือการจัดกิจกรรม มหาสงกรานต์ World water Festival ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าแห่งสงกรานต์โลก ที่ไม่มีใครสามารถอ้างสิทธิ์ได้ โดยจะจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ผ่านงานมหาสงกรานต์ ตลอดเดือนเมษายน
ดูเหมือนว่า ไฮไลท์หลักของซอฟต์พาวเวอร์ ในช่วงไตรมาส1-2 ของปี2567 คณะทำงาน จะตั้งความหวังเอาไว้ที่ การจัดงาน มหาสงกรานต์ เอาไว้มากเป็นพิเศษ ขณะที่ฝ่ายตรวจสอบจากหลายแวดวง อดแสดงความเป็นห่วงไม่ได้
'รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์' อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิทยาศาสตร์ แชร์ข่าวและโพสต์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า
'แต่ปีหน้า น้ำแล้ง เพราะเอลนีโญนะครับ'
'พรรณิการ์ วานิช' แกนนำคณะก้าวหน้า ก็ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นหลายประเด็น ความคุ้มค่าที่จะได้กลับมา นโยบาย หนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ รวมทั้งงบประมาณ ที่จะทุ่มลงไป
‘อย่าลืมว่างบประมาณ 5,164 ล้านบาท ที่ถูกเปิดออกมาล่าสุด มีถึง 1,009 ล้านบาท ในส่วนของเฟสติวัล ทั้งที่มีถึง 11 กลุ่มอุตสาหกรรม การที่กลุ่มอุตสาหกรรมเฟสติวัลได้มากที่สุด ทำให้เกิดคำถามที่ว่า สุดท้ายจะลงเอยด้วยการจัดอีเวนท์แล้วก็จบหรือไม่'
ร้อนถึง สมาชิก-กองเชียร์พรรคเพื่อไทย ต้องช่วยกันออกมาตอบโต้ โดยเฉพาะความเห็นใน โลกโซเชียลที่วิพากษ์วิจารณ์ไปไกลในทำนอง จะมีการจัดกิจกรรมสาดน้ำ เทศกาลสงกรานต์กันตลอดทั้งเดือน 30วัน ทั้ง 77 จังหวัด ว่า ไม่เป็นความจริง
พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุถึงแผนงาน ตามที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเฟสติวัล นำเสนอ
สัปดาห์แรก : แถลงข่าวงาน ‘Thailand Water Festival’ ที่ยิ่งใหญ่ผลักดันประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศ สุดยอดเฟสติวัลของโลก
สัปดาห์ที่สอง (เข้าสู่ช่วงประเพณีสงกรานต์) : จะมีพิธีเปิดงาน Thailand Water Festival ซึ่งจะจัดในพื้นที่หลักๆ ของกรุงเทพมหานคร ภายใต้การร่วมมือกันของ 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์(อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรีหนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น) ร่วมนำเสนอใน Soft Power Avenue รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น รวมถึงจะมีการทยอยจัดงานขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั้งประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน
กรุงเทพมหานคร
- สงกรานต์ กทม. ชวนใส่ดอกออกเที่ยว ณ ลานคนเมือง
- สงกรานต์ @คลองผดุง (คน) กรุงเกษม
- เทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์
- S2O Songkran Music Festival
- SIAM Songkran Music Festival
- Waterbomb Bangkok
- International Amazing Splash
- สงกรานต์ถนนข้าวสาร
- ไอคอนสยาม มหัศจรรย์เจ้าพระยา มหาสงกรานต์
- Central World Songkran Festival
- Asiatique เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย Water Festival Thailand
- เพลินสงกรานต์ อาหารย่านถิ่น ฟินการเงิน ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
- Songkran Summer Illusion สถานีสาดความสนุก
ภาคกลาง
- สงกรานต์ถนนข้าวสุก จ.อ่างทอง
- สงกรานต์มอญสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
- งานประเพณีสงกรานต์กรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา
- Songkran festival Suphanburi 2024 จ.สุพรรณบุรี
- สงกรานต์อุทยาน ร.2 จ.สมุทรสาคร
ภาคเหนือ
- ประเพณีสงกรานต์ประเพณีปี๋ใหม่เมือง จ.เชียงใหม่
- สงกรานต์ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่
- ประเพณีสรงนำโอยทาน สงกรานต์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
- งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง จ.ลำปาง
ภาคใต้
- อันดามันสงกรานต์เฟสติวัล จ.ภูเก็ต
- HATYAI MIDNIGHT SONGKRAN จ.สงขลา
- งานเทศกาลมหาสงกรานต์แห่นางดานเมืองนคร จ.นครศรีธรรมราช
ภาคตะวันออก
- สงกรานต์แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา
ภาคอีสาน
- เทศกาลดอกคูณเสียงแคนและถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น
- สงกรานต์ถนนข้าวปุ้น จ.นครพนม
- สงกรานต์วัดไชยศรีบ้านสาวะถี จ.ขอนแก่น
- Elephant Songkran Festival จ.สุรินทร์
สัปดาห์ที่สาม
- ประเพณีสงกรานต์ เด่นชัย จ.แพร่
- งานวันไหลบางแสน จ.ชลบุรี
- งานวันไหลนาเกลือ ณ ลานโพธิ์นาเกลือ จ.ชลบุรี
- งานวันไหลพัทยา ณ ชายหาดพัทยากลาง จ.ชลบุรี
- งานวันไหลบางเสร่ จ.ชลบุรี
สัปดาห์ที่สี่
- งานวันไหลบ้านบึง จ.ชลบุรี
- งานสงกรานต์พระประแดง จ.สมุทรปราการ
การทุ่มงบประมาณกว่า 5 พันล้าน ในการดำเนินโครงการ ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ทั้ง 11 อุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งบกลางจำนวนหนึ่งที่จะขอมาจาก รัฐบาล เพื่อมาจัดงาน ‘Thailand Water Festival’ หรือ มหาสงกรานต์
ตัวเลข ที่คณะกรรมการตั้งเป้า จากการจัดกิจกรรมนี้ จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ให้เดินทางมาประเทศไทย และจะสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศมหาศาล จะเป็นไปตามเป้าอย่างที่คาดการณ์ไว้ได้หรือไม่
ในปี2567 สถานการณ์ต่างๆ ล้วนยากคาดเดา ไม่ว่าจะเป็น โรคอุบัติใหม่ โควิด จะกลับมา สร้างความวิตกให้มวลมนุษยชาติอีกหรือไม่
สถานการณ์ความตึงเครียดในประเทศต่างๆ จะส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาเมืองไทยหรือไม่ ที่ผ่านมามาตรการของรัฐบาล อย่าง ฟรีวีซ่าชาวจีน จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา พลาดเป้าจากที่รัฐบาลตั้งความหวังเอาไว้ ทั้งที่เป็นช่วงไฮซีซั่น แถมยังมีการคืน Slot เที่ยวบินจำนวนมาก
แม้กระทั่งภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะประเทศไทย มีความสุ่มเสี่ยงจะเกิดภาวะแห้งแล้ง เหมือนเช่นทุกปี การรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก ในสถานที่จำกัด ในแง่สิ่งที่ไม่คาดคิด ไม่คาดฝัน ทั้งในแง่ความปลอดภัย หรือเรื่องต่างๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่น่ากังวล
ซอฟต์พาวเวอร์ ตลอดปี 2567 โดยเฉพาะ เทศกาลมหาสงกรานต์ ถูกชูเป็น ไฮไลท์หลัก ในการเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเยือนเมืองไทยมากถึง 35 ล้านคน ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศมากถึง 4 หมื่นล้าน ขณะเดียวกันในอีกแง่มุม จะเป็นอีกตัวสะท้อน ดัชนีชี้วัด หลังจาก บิ๊กโปรเจคนี้ ผ่านพ้นไป มันคุ้มค่ากับสิ่งที่ ภาครัฐ เอกชน จับมือร่วมกันทุ่มทุนสร้างอย่างมหาศาลหรือไม่