posttoday

วิษณุ เตือน เศรษฐา ลาออก-ยุบสภาฯ ถ้ากฎหมายกู้เงิน5แสนล้านวาระแรก ไม่ผ่านสภา

25 ธันวาคม 2566

วิษณุ ยก ธรรมเนียมประเพณี เตือน เศรษฐา ถ้ากฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านวาระแรก ไม่ผ่านสภาฯ ต้องลาออกหรือยุบสภา ถือว่า ไม่ได้รับความไว้วางใจ ย้อนอดีต สมัยพล.อ.เปรม จอมพล.ป เคยแสดงความรับผิดชอบ ไม่ขอ ประเมินการเมือง67 มีจุดเปลี่ยนหรือไม่ ย้ำ สว.ชุดใหม่ ไม่มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ

นายวิษณุ​ เครืองาม​ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง​สถานการณ์ทางการเมืองปี2567 จะมีจุดเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่​ว่า ไม่ทราบ ตอบไม่ถูก​ ได้แค่ติดตามจากทางหนังสือพิมพ์เท่านั้น​ ไม่ขอประเมินว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปีหน้า จะมีอะไรเปลี่ยนแปลง

ส่วนกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา​(สว.)​ จะหมดวาระในช่วงเดือนพฤษภาคม2567 นายวิษณุ กล่าวว่า มีสว.ใหม่เข้ามา มีบทบาทอีกแบบหนึ่ง จึงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ เพียงแต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจยังไม่แล้วเสร็จ เพียงแต่เดินหน้าไปถึงจุดหนึ่ง ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก็ยังไม่ทราบ เรื่องนี้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี แต่คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

เมื่อถามย้ำว่าหาก สว. หมดวาระวันที่ 11 พฤษภาคม 2567​ จะไม่มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่​ นายวิษณุ​ กล่าวว่า ไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี​ แต่ยังคงทำหน้าที่สว.ต่อไป​ จนกว่าจะมีการประกาศสว. ชุดใหม่ คาดว่า จะใช้เวลา 2 เดือน​ จนกว่าจะประกาศใบเหลืองใบแดงแล้วเสร็จ
 

นายวิษณุ​ กล่าวถึงกรณีหากร่างพ.ร.บ.กู้เงิน5แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสภาฯ นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่ว่า​ หากไม่ผ่านในวาระแรก เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล คือยุบสภาหรือลาออก เพราะถือว่าไม่ไว้ใจรัฐบาล ตามธรรมเนียมเป็นเช่นนั้น แต่ไม่ถือว่ากฎหมายบังคับ หากไม่ผ่านในวาระ2,3 หรือไม่ผ่านในชั้นวุฒิสภา ไม่เป็นอะไร หากสภาฯรับหลักการในวาระที่1 กฎหมายนั้นก็จะเป็นของสภาฯ​ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ผ่านก็ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล

เมื่อถามย้ำว่า หากไม่ผ่านในวาระรับหลักการ จะไม่ลาออกได้หรือไม่​ โดยใช้เหตุผลไม่มีกฎหมายบังคับ นายวิษณุ​กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นธรรมเนียมประเพณี​ ไม่เช่นนั้นจะถูกตำหนิติเตียน ในสมัยจอมพล ป.​ พิบูลสงคราม​ เมื่อกฎหมายไม่ผ่าน ก็ลาออก ขณะที่ พลเอกเปรม​ ติณสูลานนท์ เมื่อเสนอกฎหมายเข้าไปแล้วไม่ผ่าน ก็ประกาศยุบสภา ในประเทศอังกฤษและญี่ปุ่นก็เป็นเช่นนั้น ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ