posttoday

สรรเพชญ อัด อิ๊งค์ ชี้ อุปสรรคฟื้นเศรษฐกิจไม่ใช่ ธปท. แต่คือความดื้อรั้นรบ.

03 พฤษภาคม 2567

สรรเพชญ อัด แพทองธาร โจมตี ธปท.อุปสรรคแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ชี้ ธปท.ต้องอิสระ ยกบทเรียนยุคทักษิณ เอาคนสนองความต้องการ ไม่ควรเกิดขึ้นอีก แนะ รัฐบาล เร่งหารายรับใหม่ ไม่ใช่มุ่งแต่ดัน แจกเงินดิจิทัล ไม่เห็นด้วย เล่นแร่แปรธาตุดึงเงิน ธ.ก.ส. ใช้ในโครงการแจกเงิน

KEY

POINTS

  • สรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ โต้ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาโจมตี ธปท. เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
  • สรรเพชญ ไม่เห็นด้วย รัฐบาลมุ่งเน้นแต่จะแจกเงินดิจิทัล และ การดึงเงินจาก ธ.ก.ส.มาใช้ในโครงการนี้ 

นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุ กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอิสระจากรัฐบาล ซึ่งการเป็นอิสระจากรัฐบาลนั้นเป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นทุกปี จากการที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณแบบขาดดุลมาโดยตลอดว่า การที่กฎหมายพยายามให้ความเป็นอิสระของธปท. นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว รัฐบาลควรภูมิใจที่มีกฎหมายลักษณะนี้เพราะเป็นเกราะคุ้มครองรัฐบาลไม่ให้มีข้อครหาในการดำเนินงาน การที่ น.ส.แพทองธาร คิดแบบนั้น เป็นการคิดแบบไม่เข้าใจบทบาทของตนเองในฐานะพรรคแกนนำของรัฐบาล

โดยหลักการแล้ว การทำหน้าที่ของธนาคารกลางทั่วโลกที่ได้รับมอบหมายคือการควบคุมเสถียรภาพของเศรษฐกิจหรือเงินเฟ้อ ต้องรักษาความเป็นองค์กรอิสระให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงและกดดัน บทเรียนในอดีตที่ผ่านมา ธปท. เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ขาดความเป็นอิสระและได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จากความพยายามในการใช้หนี้ IMF ก่อนกำหนด แต่พอผู้ว่าการ ธปท. ในสมัยนั้น ไม่เห็นด้วยก็กดดันให้ออกจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้งคนใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของนายทักษิณ มาดำรงตำแหน่งแทน สิ่งนี้จึงไม่ควรเกิดขึ้นอีกในอนาคต 

นอกจากนี้ในเรื่องของการขาดดุลงบประมาณที่รัฐบาลใช้เป็นวิธีการในการบริหารงบประมาณมาโดยตลอดนั้น สาเหตุเนื่องมาจากรายจ่ายที่ต้องใช้ของรัฐบาลมีมากกว่ารายรับที่ได้รับในแต่ละปี รัฐบาลควรหาวิธีการที่จะสร้างรายรับใหม่ให้รัฐบาล ไม่ใช้ดึงดันคิดแต่จะทำให้เงินบาทเป็นเงินดิจิทัลแล้วเอาเงินดิจิทัลไปแลกเงินบาทเป็นวงจรซ้ำไปซ้ำมาให้ประชาชนเกิดความสับสน ว่าจะมีการตั้งแบงก์ชาติแห่งที่ 2 มาปั้มเงินเข้าระบบอีกหรือไม่

การกระทำในลักษณะนี้ กังวลว่า อาจจะขาดการตรวจสอบและมีความสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมายฯ และสามารถปั๊มเงินได้โดยที่ไร้การควบคุม เสมือนว่า รัฐบาลอยากจะให้มีธนาคารแห่งประเทศไทยแห่งที่ 2 ขึ้นภายใต้การควบคุมของรัฐบาล อาจเป็นเพราะรัฐบาลในชุดของนายเศรษฐา ได้รับความเห็นที่ไม่ค่อยอยากฟังเท่าใดนักจาก ธปท. ทั้งในเรื่องของดอกเบี้ยนโยบายและเอกสารที่ได้ส่งความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยมีความเห็นหลักๆว่า ควรให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพและมีแนวโน้มที่จะบริโภคสินค้าภายในประเทศมากกว่าซื้อสินค้านำเข้า 

นายสรรเพชญกล่าวว่า รัฐบาลควรที่จะนำเงิน 500,000 กว่าล้านบาทนั้นไปลงทุนในเรื่องของโครงการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างว่า จะเป็นเรื่องการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ การให้เรียนฟรีอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการ Upskill และ Reskill ให้ประชาชนมีทักษะในการทำงาน สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน หรือการสร้างรถไฟทางคู่ในวงเงินงบประมาณขนาดนี้ก็สามารถพัฒนาได้มากกว่า 10 สาย เป็นต้น สิ่งนี้จะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติมากกว่า ซึ่งจากความเห็นนี้ถือได้ว่าเป็นความเห็นที่จริงใจกับประเทศและกล้าหาญในการทำหน้าที่ของ ธปท. 

นายสรรเพชญกล่าวอีกว่า หากรัฐบาลยังคงดึงดันที่จะทำนโยบาย Digital Wallet โดยใช้แหล่งงบประมาณที่ได้เคยแถลงไปก่อนหน้านี้ว่าจะมีที่มาจาก 3 แหล่ง คือการขยายกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 175,000 ล้านบาท การดำเนินการผ่าน ธ.ก.ส. วงเงิน 172,300 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะรับภาระในการใช้คืนงบประมาณภายหลัง และบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาทนั้น รู้สึกเป็นห่วงการคลังของประเทศเป็นอย่างมาก

ในปี 2568 รัฐบาลเองก็ต้องตั้งงบประมาณแบบขาดดุลและการขยายวงเงินงบประมาณก็ยิ่งจะทำให้งบประมาณในปี 2568 ขาดดุลเพิ่มไปอีก อีกทั้งรัฐบาลก็ต้องหาเงินมาใช้คืนให้กับ ธ.ก.ส. ก็เป็นการสร้างหนี้ให้รัฐบาลเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเล่นแร่แปรธาตุว่า เป็นวิธีการบริหารงบประมาณไม่ใช้หนี้ แต่สุดท้ายแล้วมันก็คือหนี้ที่รัฐบาลต้องชดใช้เช่นเดิม