posttoday

จับตา'เศรษฐา'ถกครม.ศก.ของบกลางปี67แก้ปมGDPไทยโตต่ำสุดในอาเซียน

23 พฤษภาคม 2567

เศรษฐกิจไทยติดบ่วง จีดีพีไตรมาสแรกปี67 โต1.5ต่ำสุดในอาเซียน จับตานายกฯเศรษฐา-รองนายกฯพิชัยและรมว.คลังประชุมครม.เศรษฐกิจนัดพิเศษ ของบฯกลางปี 1.22แสนล้านบาท พิสูจน์ฝีมือดิ้นเพื่อหาช่องบริหารจัดการใช้จ่ายงบฯ

เศรษฐกิจไทยเวลานี้ รัฐบาลทั้งนายกฯเศรษฐา ทวีสิน และพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯรมว.คลัง ยอมรับตรงกันว่า อยู่ในสภาวะติดบ่วง ซึ่งในไตรมาสแรกของปี67 ไทยมีอัตราการเติบโตของจีดีพี อยู่ที่1.5 เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เวียดนามและฟิลิปปินส์ มีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจเท่ากันที่ 5.7  อินโดนิเซียที่5.1 มาเลเซีย 4.2 และสิงคโปร์ 2.7 ทำให้เกิดวาระพิเศษนัดประชุมครม.เศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า 27พ.ค.67

"ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปีนี้ที่2.5% เทียบกับหลายประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เติบโตมากกว่าไทย โดยหลายประเทศเติบโตมากกว่า ถ้าเราเติบโตแค่2.5%แม้จะเป็นตัวเลขที่ดีกว่า แต่เราไม่ควรจะพึงพอใจแค่นี้ ควรหามาตรการทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ตามศัยภาพ หรือโตมากกว่า 2.5% โดยศักภาพเราคิดว่าไทยจะเติบโตได้มากกว่านี้ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องเร่งหามาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ" พิชัย ระบุถึงเหตุผลของการนัดประชุมครม.เศรษฐกิจ วาระพิเศษดังกล่าว

การประชุมครม.เศรษฐกิจวาระพิเศษมีการวางกรอบที่จะขอเพิ่มงบประมาณกลางปี67 จำนวนสูงสุด 1.22แสนล้านบาท เพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นเศรษฐกิจไทยในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ทว่าปัญหาว่าด้วยเรื่องงบประมาณและปัญหาเศรษฐกิจ ผูกติดอยู่กับรัฐบาลเพื่อไทย การลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายภาครัฐล้วนแล้วแต่ติดล่มทั้งสิ้น ดังนั้นจึงต้องมาแก้ไขงบประมาณภาครัฐก่อน

แต่การขอ"งบประมาณกลางปี67" จำนวนสูงสุด 1.22แสนล้านบาทเป็นเรื่องที่ครม.ยังตกลงกันไม่ได้ เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผอ.สำนักงบประมาณชี้ว่า "การของบกลางปี 67"มีข้อจำกัดจาก"งบประมาณปี67"ที่มีการจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยงานต่างๆแล้ว อีกทั้งได้มีการออกมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบฯ และเหลืองบฯไม่มาก ขณะที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว และปลายปีจะมีการโอนงบฯกรณีหากหน่วยงานรัฐมีการใช้ไม่หมดและต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือน เพื่อนำไปสนับสนุนโครงการเงินดิจิทัลวอเล็ต อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวลง  

ดังนั้น กรรมวิธีการดิ้นเพื่อหาช่องในการใช้จ่ายงบฯให้ไทยรอดพ้นจีดีพีตกต่ำในกลุ่มอาเซียน จึงเป็นสิ่งท้าทายฝีมือรัฐบาลนายกฯเศรษฐา อีกประการคือที่มาของการชง"งบกลางปี67" เนื่องจากการบริหารจัดการ"งบประมาณรายจ่ายประจำปี2567"วงเงิน 175,000 ล้านบาท ที่มีวงเงินไม่เพียงพอเพราะมีการปรับลดงบประมาณรายจ่ายของหน่วยราชการต่างๆไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และอีกสิ่งหนึ่งที่จะกดทับก็คืออัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจากเงินกู้ทำให้กลายเป็นปัญหาที่"สลัดไม่หลุด"

การจัดตั้งงบฯกลางปี67 จำนวน1.22แสนล้านบาท จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตา สอดรับกับคำมั่นของ พิชัย รองนายกฯและรมว.คลัง ที่ยืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้ จะเป็นไปตามกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้อง3ฉบับทั้งพ.ร.บ.งบประมาณ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ รายละเอียดทั้งหมด สำนักงบฯจะเสนอคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง พิจารณารายละเอียดและจะเสนอครม.อีกครั้ง 28พ.ค.67