posttoday

ผ่าแนวคิดกลาโหม ยุคสุทิน ผุดไอเดียตั้ง กองทัพไซเบอร์ สู้ภัยคุกคามเทคโนโลยี

21 มิถุนายน 2567

ถกงบประมาณ68 วงเงิน3.75ล้านล้าน สส.ก้าวไกล อัด กลาโหมจัดงบ ไม่มียุทธศาสตร์ ข้องใจกองทัพอากาศ จัดซื้อเครื่องบินทดแทน 1.95 หมื่นล้าน แนะ ไทยผลิตอาวุธเอง สุทิน เล็งตั้ง กองทัพไซเบอร์ รองรับสู้รบทุกรูปแบบ จิรายุ แย้มตั้งเป้าผลิตกำลังพล500คนต่อปี สู้ภัยคุกคามเทคโนโลยี

วันที่ 19-21มิ.ย. นายวันมูหะมัดนอร์  มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายปดิพัทธ์ สันติภาดา นายพิเชษฐ์  เชื้อเมืองพาน ผลัดเปลี่ยนทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท

ตลอดเวลาการประชุม2วันที่ผ่านมา เป็นไปอย่างเรียบร้อย พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปัตย์ ต่างตั้งข้อสังเกต ให้คำเสนอแนะต่อการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล ในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การนำงบประมาณเพื่อมาดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท จากสส.พรรคก้าวไกลอย่างกว้างขวาง ในแง่ความคุ้มค่าของโครงการ สิ่งที่ประชาชนจะได้รับ จะเกิดภาวะหมุนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่างที่รัฐบาลคาดหวังได้หรือไม่ เนื่องจากมีการใช้งบประมาณสำหรับโครงการดังกล่าวสูงถึง 5 แสนล้านบาท

ด้านสังคม ความห่วงใยในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การอภิปรายวันที่ 20 มิ.ย.มีการอภิปราย ให้ข้อเสนอแนะหลากหลายทั้งด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ต่างประเทศ รวมทั้งด้านความมั่นคง ที่เกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ให้กับเหล่าทัพต่างๆ
 

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งข้อสังเกตตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ความมั่นคงในแนวชายแดนไทย-เมียนมา ฝ่ายความมั่นคงทราบมีการใช้โดรนพลีชีพ ระเบิดนำวิถี มีแนวโน้มการกระทำผิดดฎหมาย ยาเสพติด ค้ามนุษย์ ของเถื่อน กองทัพบก ยังให้ความสำคัญกับโดรนต่ำมาก แม้จะมีการจัดซื้อในปีงบประมาณ 2568 ก็แค่ 10 ตัว ส่วนระบบ Anti-โดรน มีงบประมาณสนับสนุนเล็กน้อยแค่ 540 ล้าน สะท้อนการประเมินสถานการณ์ต่ำ และล้าหลัง ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ 

งบประมาณผูกพันการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนระยะที่1 วงเงินสูงถึง 19,500 ล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในงบกองทัพ เรียกร้องให้การจัดซื้อ คำนึงถึงนโยบายการชดเชยที่ทำให้ประชาชน ได้ประโยชน์ร่วมด้วย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่ใช่นำเงินไปซื้ออย่างดื้อๆ 
 

การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่คำนึงบริบทความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทำให้เชื่อได้ว่า งบประมาณกระทรวงกลาโหม2568 จะสร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติ และประชาชนได้ งบประมาณปี2568 ไม่ได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ รัฐมนตรีเป็นเพียงหุ่นเชิด เป็นโฆษกของกองทัพ ดำเนินนโยบายต่อของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สามารถทำได้ดีกว่าพลเอกประยุทธ์ด้วยซ้ำ ดังนั้น พรรคก้าวไกล จึงไม่อาจรับหลักการร่างงบประมาณฯ ฉบับนี้ได้ 

ขณะที่นายชยพล สท้อนดี สส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายเสนอให้กองทัพ ใช้กลไกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดยสร้างอาวุธสัญชาติไทยให้เกิดขึ้นจริง และยกระดับคุณภาพอาวุธสัญชาติไทย และการส่งออกอาวุธให้กับประเทศอื่นๆ เปลี่ยนจากการซื้ออาวุธมาแล้วใช้ไป เป็นการพัฒนา อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหมชี้แจงตอนหนึ่งว่า การจัดซื้อโดรนของกองทัพ ที่รูปแบบสงครามเปลี่ยนไปนั้น ยืนยันว่า โดรนยุทธศาสตร์ของกองทัพ มีเพียงพอ สามารถผลิตได้เอง รวมถึงสถาบันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย กำลังลงนามร่วมลงทุนกับต่างชาติ รวมถึงไทย เดินหน้าผลิตโดรน จะตอบโจทย์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ลดการซื้ออาวุธ และสามารถส่งออกได้

“มีแนวคิดในการเพิ่มกองทัพอีก 1 กองทัพ เป็นกองทัพที่ 4 กองทัพไซเบอร์แอนด์สเปซ (ไซเบอร์ และอวกาศ) โดยยกระดับศูนย์บัญชาการไซเบอร์ทางทหาร เพื่อรองรับการรบทุกรูปแบบ รวมถึงทางไซเบอร์ด้วย และให้บรรจุกีฬาอีสปอร์ต ลงไปในการแข่งขันของกองทัพ”นายสุทินกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่25พ.ค.นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า นายสุทิน ได้มอบนโยบายในที่ประชุมสภากลาโหม ถึงเรื่องสงครามและภัยคุกคามของโลกรูปแบบใหม่ โดยมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการโจมตีหรือเข้าล้วงความลับของหน่วยงานความมั่นคงในหลากหลายประเทศทั่วโลก โดยกระทรวงกลาโหม ได้ให้กองบัญชาการกองทัพไทย ดำเนินการตั้งศูนย์การต่อสู้โดยให้ยกระดับขีดความสามารถ ในการทำสงครามไซเบอร์ โดยให้จัดตั้งเป็นระดับกองบัญชาการไซเบอร์ทหารอย่างเร่งด่วนโดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 1 ต.ค. 2567

“การจัดตั้งศูนย์บัญชาการไซเบอร์ครั้งนี้จะเป็นการรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยกองทัพบก จะดำเนินการปรับโครงสร้างหน่วยไซเบอร์ภายใต้หน่วยปฏิบัติการดิจิตอล เข้าด้วยกัน ส่วนกองทัพเรือจะมีการปรับเพิ่มกองสงครามอิเล็กทรอนิกส์ศูนย์ไซเบอร์กองทัพเรือ ด้านกองทัพอากาศ จะปรับย้ายกองสงครามเครือข่ายไปอยู่ภายใต้ศูนย์ไซเบอร์กองทัพอากาศ ปรับศูนย์ไซเบอร์กองทัพอากาศไปอยู่ภายใต้กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทหารอากาศ” นายจิรายุกล่าว

นายจิรายุกล่าวว่า กองบัญชาการกองทัพไทย ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมด้านไซเบอร์ ในประเทศชั้นนำ ที่มีประสบการณ์เคยถูกโจมตีเรื่องไซเบอร์ เพื่อนำมา เป็นแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถ ของกองบัญชาการกองทัพไทย โดยมีเป้าหมายหลักให้เป็นศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และเพื่อการพัฒนาบุคลากรทางไซเบอร์ของประเทศไทย ได้ร่วมมือกับทุก หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และเอกชนรวมทั้งหน่วยงานความมั่นคงต่างๆของประเทศไทย มีเป้าหมาย เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความชำนาญในด้านนี้ปีละประมาณ 300-500 นาย

นายจิรายุกล่าวว่า นอกจากนี้ยังเตรียมการจัดตั้งโรงเรียนไซเบอร์ทหาร เพื่อเป็นหน่วย สายวิทยาการด้านไซเบอร์และเป็นแหล่งผลิตบุคลากร ด้านไซเบอร์ให้กับกองทัพและหน่วยงานภายนอก เพื่อรับมือกับสถานการณ์โลกที่ปัจจุบันมีการโจมตีด้วยเทคโนโลยีไซเบอร์เป็นจำนวนมากทั้งรูปแบบการเข้าไปควบคุมอาวุธยุทโธปกรณ์ การเข้าไปทำลายฐานข้อมูลต่างๆทางด้านความมั่นคงซึ่งกระทรวงกลาโหมตระหนัก ถึงภัยสงครามรูปแบบใหม่ที่ ประเทศไทยจะต้องเร่งปฏิบัติการให้สอดรับกับสถานการณ์โลกในภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยปลอดภัย