posttoday

เอกนัฏ ลั่น ขอ 2 เดือน เคาะเงื่อนไขหนุน SME บุกตลาดนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

05 ตุลาคม 2567

“เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” ขีดเส้น 2 เดือน เคาะเงื่อนไขส่งเสริม SME เข้านิคมอุตสาหกรรม พร้อมกำหนดเป้าโรงงานขนาดใหญ่ใช้สินค้า SME ด้าน WHA รับลูก ชี้ SME ไทยศักยภาพสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ เผยสามารถทำงานร่วมกับ EV ได้

          นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นโยบายเร่งด่วนที่ได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คือ การช่วยเหลือส่งเสริม SME ไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ให้ผู้ประกอบการ SME รายเล็ก เข้ามาอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ด้วยการจัดพื้นที่ และสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีอยู่ภายในนิคมฯ ให้กับ SME เพื่อช่วยทั้งในแง่ของการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งทุน และการสร้าง ซัพพลายเชนให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมนั้น ๆ 

          ทั้งนี้ไม่เพียงแต่นิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้ กนอ.จำนวน 62 นิคม ซึ่งกระจายอยู่ใน 18 จังหวัด ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง จำนวน 15 นิคม และนิคมอุตสาหกรรมที่ร่วมดำเนินงานกับผู้พัฒนา จำนวน 48 นิคม เท่านั้น กระทรวงฯยังร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมเอกชน รวมถึงพันธมิตรที่เกี่ยวข้องอื่นๆด้วย อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ในการนำนวัตกรรมมาช่วย และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่มีกลุ่มผู้ประกอบการ SME รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นต้น 

          เมื่อประเทศไทยมีมาตรการดึงดูดนักลงทุน เข้ามาสร้างโรงงานขนาดใหญ่ในประเทศ ตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ แล้ว ภารกิจที่สำคัญของ กนอ.คือ ต้องมีการส่งเสริมให้บริษัทใหญ่เหล่านี้ใช้สินค้าของ SME ด้วย คาดว่าภายใน 2 เดือนจะเห็นความชัดเจนว่า แต่ละนิคมอุตสาหกรรมจะต้องมีเป้าหมายในการช่วยเหลือ SME กี่เปอร์เซ็นต์ 

          นอกจากนี้จะมีการแก้ไขกฎ ระเบียบต่างๆ ปรับกระบวนการขออนุมัติบัตรส่งเสริมการลงทุนให้มีความกระชับมากขึ้น และลดระยะเวลาพิจารณาอนุมัติบัตรส่งเสริมการลงทุน รวมถึงพิจารณาการจัดตั้งหน่วยงานที่เป็น One-Stop Permit and License Approval Authority เพื่อให้มาขออนุญาตจบในที่เดียว

          รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การทำงานระหว่างโรงงานขนาดใหญ่ และ SME สามารถทำงานร่วมกันได้ ยกตัวอย่างเช่น โรงงานประกอบรถยนต์ แม้ว่าแนวโน้มการใช้รถ EV กำลังกลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ แต่ในระบบการผลิตรถยนต์ก็ยังมีส่วนประกอบอื่นๆของรถสันดาปที่ยังใช้ร่วมกันได้ ทำเป็นระบบไฮบริด ระหว่างรถสันดาปและEV

          ด้านนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งในเรื่องของโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะรถสันดาป ซึ่งตนมองว่า การทำรถ EV ก็ยังต้องใช้ เบาะ หรือ พวงมาลัย ของรถสันดาป ยกเว้นแค่ แบตเตอรี่ เท่านั้นที่โรงงานรถสันดาปทำไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของ SME หากนักลงทุนต่างชาติ มีนโยบายใช้สินค้าของ SME ไทย ก็ต้องมีสิทธิประโยชน์ในการดึงดูดด้วย 

          ทั้งนี้ประเทศไทยมีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเรื่อง พลังงานสะอาด บุคลากร สิทธิประโยชน์ต่างๆในการดึงดูดการลงทุน และซัพพลายเชนในระบบ หากเป็นเวียดนาม แรงงานส่วนใหญ่จะเน้นทำของปริมาณมากที่เน้นใช้แรงงาน ขณะที่อินโดนีเซีย เป็นการผลิตสำหรับตลาดภายในประเทศ