posttoday

"ก้าวไกล"ยื่นญัตติด่วนขอแก้คำถามประชามติ ลดเสี่ยงไม่ผ่านรอบแรก

04 กรกฎาคม 2567

ก้าวไกล ยื่นญัตติด่วน เสนอรัฐสภาเห็นชอบ แก้ไขคำถามประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญ ลดความเสี่ยงไม่ผ่านรอบแรก ทันเวลาก่อนที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติประกาศบังคับใช้และก่อนครม.จะประกาศคำถามประชามติอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 4ก.ค.67 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ยื่นญัตติด่วนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบการทำประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยคำถามที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ”

นายพริษฐ์ กล่าวว่า สาเหตุที่พรรคก้าวไกลยื่นเสนอญัตตินี้ เพราะเมื่อย้อนกลับไปวันที่ 23 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางเกี่ยวกับการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเห็นว่าควรมีการทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง และควรให้คำถามประชามติในครั้งที่ 1 เป็นคำถามที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์”

พรรคก้าวไกลยืนยันอย่างหนักแน่นว่าเราสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เรามีความกังวลว่าการตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดและไม่ประสบความสำเร็จ ด้วย 3 เหตุผล คือ 

1.คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีเสนอเป็นการถาม 2 ประเด็นใน 1 คำถาม โดยมีการบรรจุเงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยในตัวคำถาม ซึ่งอาจทำให้ประชาชนบางคนที่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับอีกบางส่วนของคำถาม มีความลังเลใจว่าควรจะลงมติเช่นไรที่สะท้อนเจตจำนงหรือจุดยืนของตนเอง ทำให้ในบรรดาคนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะลงคะแนน “เห็นชอบ” เหมือนกันอย่างเป็นเอกภาพ

2.คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีเสนอเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบปัญหาในเชิงกฎหมาย  หากไม่เปิดให้มีการแก้ไขข้อความในหมวด 1 และหมวด 2 ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

3. คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีเสนอเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่สามารถแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองในบริบทปัจจุบันได้ 

ดังนั้น เพื่อเสนอคำถามประชามติที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว พรรคก้าวไกลจึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ประชามติ พ.ศ. 2564 มาตรา 9(4) เพื่อเสนอญัตติด่วนให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยคำถามดังกล่าว ซึ่งเงื่อนไขเรื่องการไม่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและรูปแบบรัฐ เป็นเงื่อนไขที่ถูกล็อกไว้อยู่แล้วในรัฐธรรมนูญมาตรา 255

ทั้งนี้ เข้าใจว่ารัฐบาลมีจุดยืนที่ต่างกับพรรคก้าวไกลในเรื่องการล็อกหมวด 1 และหมวด 2 แต่หากรัฐบาลเลือกใช้คำถามประชามติตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ และประชามติดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากประชาชน 

ขั้นตอนถัดไปคือการที่คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐสภาจะต้องเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับรายละเอียดการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา (เช่น จำนวน ที่มา และอำนาจของสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ซึ่งในขั้นตอนนี้ หากรัฐบาลประสงค์ รัฐบาลสามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ได้ว่า สสร. มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกหมวด ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งก็สอดคล้องกับรายละเอียดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอเข้าสู่รัฐสภา

ดังนั้น การเลือกคำถามประชามติที่พรรคก้าวไกลเสนอในวันนี้ จะทำให้รัฐบาลยังคงเลือกที่จะล็อกหมวด 1 และหมวด 2 ได้เช่นเดิมตามจุดยืนของรัฐบาล แต่จะช่วยลดความเสี่ยงที่ประชามติรอบแรกจะไม่ผ่าน  และเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้พิจารณาและลงมติเรื่องคำถามประชามติให้เสร็จสิ้นตามกระบวนการ ทันเวลาก่อนที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติจะประกาศบังคับใช้ และก่อนที่ ครม. จะประกาศคำถามประชามติอย่างเป็นทางการ 

พรรคก้าวไกลหวังว่าญัตติดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพรรค และจากสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ เพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบความสำเร็จ

ส่วนจะหาจุด ตรงกลางของคำถามได้หรือไม่หากฝ่ายรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลมีความเห็นไม่ตรงกัน นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถ้าไปถามเรื่อง สสร. ในตัวคำถามประชามติจะมีความสุ่มเสี่ยงว่ามีคนไปยื่นให้ความว่าขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เราจึงรับฟัง และกลับมาเป็นคำถามที่เรียบง่าย 

นายพริษฐ์ ยังกล่าวว่า เรื่องวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่จะมองว่ามี 2 เรื่องสำคัญ อย่างแรกคือคุ้มครองสิทธิประชาชน และสอง ออกแบบสถาบันการเมืองให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ซึ่งทั้ง 2 เรื่อง ทุกครั้งที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื้อหาจะมีความสัมพันธ์กัน และเนื้อหาที่อาจจะต้องมีความจำเป็นแก้ไขในหมวด 1-2 อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันก็ได้