posttoday

เปิดวาระร้อนรอรับ 200สว. เคาะชื่อบุคคลองค์กรอิสระ กฎหมายการเงิน แก้รธน.

07 กรกฎาคม 2567

แม้กกต.ยังไม่กำหนดวันชัด ประกาศรับรองผล 200สว.ปี67 กกต.จะเลือกวิธี ประกาศก่อนสอยทีหลังหรือไม่ แต่ไม่ช้าก็เร็ว สว.ชุดใหม่ ต้องไปทำหน้าที่ มีภารกิจร้อนรอรับจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น เคาะชื่อบุคคลดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ โหวตกฎหมายการเงิน มีส่วนร่วมแก้รธน. เป็นต้น

KEY

POINTS

  • การเลือกสว.67 จบลงตั้งแต่ 26มิ.ย. ภายหลังผู้สมัครสว.ร้องเรียน กระบวนการเลือกสว.ไม่ชอบธรรม คัดค้านการประกาศรับรองสว. ทำให้3 ก.ค.ที่เคยคาดว่าจะประกาศผล ถูกเลื่อนออกไป
  • กกต.ถูกจับตามองอาจเลือกวิธี ประกาศรับรองผล200สว.ไปก่อน แล้วค่อยไปตาม สอยทีหลัง 
  • นับตั้งแต่ 200 สว. ที่มี สว.สายสีน้ำเงิน เข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯเกินครึ่ง เกิดความหวั่นเกรงจะเข้าไปควบคุมกลไกต่างๆเบ็ดเสร็จ
  • มีภารกิจร้อนรอรับสว. เช่น การให้ความเห็นบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การให้ความเห็นชอบพ.ร.บ.งบประมาณพ.ศ.2568 พิจารณากลั่นกรองกฎหมาย การมีส่วนร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ปี2567 จบลงไป ท่ามกลาง กฎกติกาอันสลับซับซ้อน เลือกกันเองระหว่างกลุ่มสาขาอาชีพ และไขว้กลุ่ม ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ คัดให้เหลือ 200 สว.ที่ไปทำหน้าที่ และอีก 100 สว.บัญชีสำรอง 


การเลือกจบลง มีกลุ่มสว.อิงพรรคการเมือง 'สว.สายสีน้ำเงิน' ตบเท้าไปทำหน้าที่มากกว่า 140 คน ยึดสภาสูงเบ็ดเสร็ต การเลือกสว.จบลง แต่ผู้สมัครสว. ไม่ได้จบลงไปด้วย มีผู้สมัครหลายคน หลายกลุ่มเดินทางไปร้อง กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คัดค้านการเลือก ยื่นเอกสาร หลักฐาน ชี้ให้เห็นถึงการเลือกครั้งนี้ ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ขอให้ กกต.ชะลอการประกาศผลรับรองสว.ออกไป เลยทำให้ กำหนดการเดิม 3ก.ค.67 ที่จะต้องประกาศผล ต้องทอดยาวออกไป


ไม่ช้า หรือเร็ว กกต.คงจะประกาศผลออกมา ส่วนผู้ที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ทำความผิด คงไปตาม สอยทีหลัง 

สว.67 ถูกจับจ้องตั้งแต่กระบวนการ สรรหา คัดเลือก แต่ถึงอย่างไร ด้วยภารกิจ การงานต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าสว. ชุดนี้ จะเข้าทำหน้าที่ช้าหรือเร็ว แต่ยังมีเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ รออยู่อีกมาก โดยเฉพาะ การพิจารณา ให้ความเห็น บุคคลที่จะไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ องค์กรตุลาการ หลายตำแหน่ง

 

ศาลรัฐธรรมนูญ

16พ.ย.67       นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ    ครบวาระการทำหน้าที่
26พ.ย. 67      นายปัญญา อุดมชาญ        ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ    ครบวาระการทำหน้าที่

 

ผู้ตรวจการแผ่นดิน

22 พ.ค.67    นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์   ผู้ตรวจการแผ่นดิน         ลาออกจากตำแหน่ง 

 

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)

9 ก.ย.67  พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ   ประธานป.ป.ช.  พ้นจากตำแหน่งอายุครบ 70 ปี
30 ธ.ค.67  นายวิทยา อาคมพิทักษ์            กรรมการป.ป.ช.   ครบวาระการทำหน้าที่
30ธ.ค.67   นางสุวณา สุวรรณจูฑะ             กรรมการป.ป.ช.    ครบวาระการทำหน้าที่  

 

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 

24 เม.ย.67  นางสาวจินดา มหัทธนวัฒน์     กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน   อายุครบ 70 ปี
22ก.ย.67   พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ          ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน  ครบวาระการดำรงตำแหน่ง
22ก.ย.67   นางยุพิน  ชลานนท์นิวัฒน์        กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน             ครบวาระการดำรงตำแหน่ง
22ก.ย.67   นายพิมล  ธรรมพิทักษ์พงษ์      กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน               ครบวาระการดำรงตำแหน่ง
22ก.ย.67   นายสรรเสริญ พลเจียก            กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน               ครบวาระการดำรงตำแหน่ง
22ก.ย.67    นางอรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน              ครบวาระการดำรงตำแหน่ง

นอกจากนี้ สว. ยังเตรียมรับไม้ต่อจาก สส. หลังจากลงมติวาระ2-3 ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2568 ต่อไปจะถึงคิวสว. ที่ต้องให้ความเห็นชอบ

ขณะเดียวกัน ยังมีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.... 2 ฉบับ รอ ประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระ ฉบับแรกเป็นของพรรคเพื่อไทย ฉบับแรก นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ นำเสนอ อีกฉบับ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นำเสนอ เนื้อหา 2 ฉบับ เกี่ยวกับการให้เพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ยังไม่นับ กฎหมายที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ วาระรายงานประจำปีของแต่ละหน่วยงาน ที่ต้องส่งให้สว.พิจารณา

กฎหมายสำคัญๆ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องใช้เสียงสว.1 ใน3  การพิจารณาให้ความเห็น บุคคลที่ต้องไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การพิจารณากลั่นกรองกฎหมายที่ส่งมาจากสภาผู้แทนราษฎร ฯ

เป็นเพียงบทบาท ภารกิจ หน้าที่ว่าที่ 200สว. ชุดใหม่ ท่ามกลาง 'สว.สีน้ำเงิน' ยึดครองสภาฯสูงเกินครึ่ง จะเข้ามาควบคุมกลไกลต่างๆ เกิดการต่อรอง ขบเหลี่ยม 'สภาสูง-สภาล่าง' ขณะเดียวกันยังต้องแบก ความคาดหวังสังคม เฝ้าจับตาตรวจสอบไปอีก 5 ปี ของวาระการดำรงตำแหน่ง