posttoday

ดีเอสไอ ปปง. แจงคืบหน้าโกงหุ้นStark เร่งตามทรัพย์ บี้เอาผิด คนเอี่ยวฟอกเงิน

10 กรกฎาคม 2567

ดีเอสไอ ปปง.ร่วมแถลงคดีโกงหุ้นStark ยุทธนา เผย เร่งตามเส้นทางการเงิน รับ มีไหลออกนอกประเทศ เตรียมแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาใหม่ 5 รายเอี่ยวฟอกเงิน ปปง. แจง ยอดเงินผู้เสียหายกว่า 1.5 หมื่น ตามคืนแค่ 3 พันล้าน ชี้ ผู้ต้องหาโยกทรัพย์ ย้ำ ไม่นิ่งนอนใจ เร่งตามทรัพย์คืนผู้เสียหาย

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)  พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาการอธิบดีดีเอสไอ นายวิทยา นีติธรรม โฆษกสำนักงานปปง. พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกดีเอสไอ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารมว.ยุติธรรม ร่วมแถลงความคืบหน้าคดีหุ้น STARK 

พ.ต.ต.ยุทธนากล่าว่า การดำเนินคดีผู้บริหารStark และบริษัทในเครือ หลังดีเอสไอ ได้ตัวผู้ต้องหารายสุดท้าย นายชนินทร์ เย็นสุดใจ หนึ่งในผู้บริหารบริษัทStark มาจากทางการยูเออี เมื่อ23มิ.ย. ต่อมาพนักงานอัยการสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาอยู่ในเรือนจำ ไม่ได้รับการประกันตัว ดีเอสไอ ได้ขยายผล ติดตามเส้นทางการเงินเพิ่มเติม พบว่า เส้นทางการเงินไหลออกไปจากกลุ่มผู้ทำความผิดที่ถูกขังในเรือนจำ ประมาณ 7 ราย มียอดตั้งแต่ 50ล้าน 100 ล้าน รวมทั้งสิ้นกว่า 380 ล้านบาท ต้องสอบสวน เรียกมาแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล เพื่อดำเนินคดีกลุ่มคนเหล่านี้เพิ่มเติม 

ในส่วนของดีเอสไอดำเนินการ เป็นความผิดฐานฟอกเงิน อาญา ที่เอาผิดคนที่โอน รับทรัพย์สินที่กระทำความผิดมูลฐาน คดีนี้ผู้ต้องหาหลักที่เราดำเนินคดีที่ถูกขังอยู่เป็นความผิดมูลฐาน แต่เงินมีการโอนไปอีกทอด ตอนนี้ตรวจพบประมาณ 7 ราย มีซ้ำทั้งผู้ต้องหาเดิมอยู่บ้าง และมีผู้ต้องหาใหม่ 5 ราย การรับโอนเป็นการรับโอนทรัพย์สินที่ทำความผิด เป็นความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ในส่วนของทางแพ่ง เป็นเรื่องของปปง. สำหรับผู้ต้องหาอื่นที่ไม่ใช่ผู้ต้องหาเดิม ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ แต่เป็นผู้ได้รับโอนเงินจากผู้ต้องหา และจะพยายามรวบรวมหลักฐานให้เร็วที่สุด จากนั้นจะได้แจ้งข้อกล่าวหา พฤติการณ์ให้เขาทราบ คงใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จากนี้คงจะทยอยเอาผิดบางบุคคลได้

ดีเอสไอ ปปง. แจงคืบหน้าโกงหุ้นStark เร่งตามทรัพย์ บี้เอาผิด คนเอี่ยวฟอกเงิน

นายวิทยากล่าวว่า นับแต่ ปปง. ได้รับรายงานและข้อมูลจาก ดีเอสไอ เมื่อกลางปี2566 ปปง.ได้รวบรวมพยาน หลักฐาน เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรม และทำการอายัดทรัพย์กว่า 3,245 ล้านบาท ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์ของผู้เสียหาย ตามหลัก ปปง.ต้องยื่นเรื่องเพื่อขอให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน แต่เนื่องจากทรัพย์ดังกล่าวมีผู้เสียหาย ปปง.จึงได้ประกาศ 90 วัน คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ตั้งแต่ 29 พ.ย.66 - 26 ก.พ.67  มีผู้ขอรับการคุ้มครองสิทธิ 4,724 ราย มูลค่าเสียหาย 1.59 หมื่นล้านบาท เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับชื่อคุ้มครองสิทธิ์แล้ว เราจะตรวจสอบ เมื่อรวบรวมหลักฐานเสร็จ รวบรวมส่งต่อไปเข้าประมวลคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อยื่นต่ออัยการ และส่งต่อศาล 

"คำถาม ที่อาจจะสงสัย มูลค่าความเสียหาย 1.59 หมื่นล้าน แต่ทำไมยึดได้ 3 พันกว่าล้าน ต้องเรียนตรงๆ มูลคดีเกิดตั้งแต่ปี2564 กว่าปปง. ดีเอสไอ ทราบเรื่อง ก็1-2ปีหลังจากนั้น เนื่องจากขบวนการดังกล่าวมีความรู้ มีการเตรียมพร้อมพอสมควร ดังนั้นทรัพย์ต่างๆจึงถูกโยกย้าย แต่เราก็ได้ติดตามทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด แต่คงลงรายละเอียดเชิงลึกไม่ได้ หากมีความคืบหน้าอย่างไร จะมาแจ้งให้ทราบต่อไป"นายวิทยากล่าว
 
นายวิทยากล่าวว่า มาตรการทางแพ่ง ไม่มีอายุความ เหมือนกับคดีของนายราเกซ สักเสนา แต่เราคงพูดอะไรมากไม่ได้ ไม่เช่นนั้น ทรัพย์จะเคลื่อนไปหมด โดยทรัพย์สิน ต้องมาดูว่า ศาลจะพิจารณาว่าทรัพย์ได้จากการกระทำความผิดจริงหรือไม่ ส่วนของผู้เสียหาย ศาลต้องมาดูว่าเป็นของผู้เสียหายจริงหรือไม่ และมูลค่าเท่าไหร่ 

ถามว่าเจอทรัพย์ที่ไหลออกไปต่างประเทศหรือไม่ คาดว่าจะตามคืนมาได้หรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า มีร่องรอย แต่การตามทรัพย์จากต่างประเทศ มีหลายขั้นตอน เริ่มจาก การพิสูจน์ทราบทรัพย์ปลายทาง มาจากต้นทางการกระทำผิดหรือไม่ คงต้องใช้เวลาพอสมควร 

ดีเอสไอ ปปง. แจงคืบหน้าโกงหุ้นStark เร่งตามทรัพย์ บี้เอาผิด คนเอี่ยวฟอกเงิน

พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า ประเด็นเกี่ยวกับคดีอาญาฐานฟอกเงิน ดีเอสไอ ได้สอบสวน ขยายผล กลุ่มบุคคลที่ได้รับโอน โอน เปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สินจากการทำความผิด ได้รับเป็นคดีพิเศษ 32/2567 อยู่ระหว่างการทำงานกับปปง.และกำลังทำการสอบสวน 

นายสมบูรณ์กล่าวว่า เหตุผลตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษา รวบรวม เพื่อใช้เป็นบทเรียนไม่ให้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นซ้ำอีก การดำเนินงานของคณะทำงาน จะไม่ไปเกี่ยวข้องหรือแทรกแซงการทำงานของดีเอสไอ โดยคดีนี้เป็นคดีอาญา มีผู้ต้องหา เหลือเพียงการฟอกเงิน ที่ดูว่าจะไปถึงใครบ้าง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งนายพิชัย นิลทองคำ เป็นประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) (STARK) ต่อมานายพิชัยฯ แจ้งความประสงค์ขอถอนตัวจากการเป็นประธานคณะทำงานฯ ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจึงได้มีคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 171/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ยกเลิกคำสั่งเดิม และมีคำสั่งแต่งตั้งนายพงศ์เทพ  เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานคณะทำงานแทน และมีการเพิ่มเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และนายกสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เข้ามาเป็นคณะทำงานฯ เพื่อทำหน้าที่ศึกษาแผนประทุษกรรมกรณีดังกล่าวต่อไป