posttoday

ฟื้นกม.ติดดาบ กมธ. มีอำนาจเรียกชี้แจง ขจัดปมเตะถ่วง-ขวางสอบโกง

25 กรกฎาคม 2567

เปิดที่มาคำวินิจฉัย ศาลรธน.ปี63 ก่อนสภาลงมติฟื้นกม.ติดดาบกมธ.คืนอำนาจเรียก รมต.-ข้าราชการ-เอกสารชี้แจง ขจัดปมถูกสกัดการตรวจสอบความไม่โปร่งใส ที่เกิดจากการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารและข้าราชการ

กรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 24ก.ค.67 มีมติเอกฉันท์ 421 เสียง รับหลักการของร่างพ.ร.บ.อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ....  และได้ตั้งกมธ. 31 คนพิจารณาเนื้อหาโดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ถูกเสนอโดย นายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย

โดยสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ....  เพื่อคืนอำนาจให้กับ กรรมาธิการในการทำงานตรวจสอบประเด็นความไม่โปร่งใสที่เกิดจากการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งจากฝ่ายบริหาร รัฐมนตรี และข้าราชการ

ก่อนนี้อำนาจเรียกบุคคลหรือเอกสารมาตรวจสอบในกมธ.จากข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐตามอำนาจที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 17/2563 เมื่อ 7 ต.ค.2563ว่า  พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 มีความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560

เพราะกำหนดบทลงโทษทางอาญาถือเป็นบทบัญญัติที่ขัดกับมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญ จึงทำให้เป็นปัญหาต่อการทำงานของกมธ.ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่ถูกเชิญให้มาประชุมหรือชี้แจงรายละเอียด

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2563 เมื่อ 7 ต.ค.2563 เกิดจากการยื่นร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ได้รับคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประรัฐ ขณะนั้น ขอให้พิจารณาและมีความเห็นเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

การยื่นตำร้องของนายไพบูลยฺ์ ด้วยเหตุเพราะพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อดีตประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.ในช่วงเวลานั้นจะใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวออกคำสั่งการเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาชี้แจงกรณีการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน

นายไพบูลย์ในฐานะผู้ยื่นเรื่องพบว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวในมาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 129 ส่งผลให้กมธ.สภาผู้แทนฯ และ ส.ว. ไม่สามารถเรียกบุคคลต่างๆ เข้ามาชี้แจงได้

 

 

นอกจากไม่สามารถดำเนินคดีอาญาดังกล่าวแก่บุคคลเหล่านั้นได้แล้ว รวมทั้ง กมธ.ชุดใดที่อยู่ระหว่างมีคำสั่งเรียกบุคคลเข้ามาชี้แจง ก็มีอันสิ้นผลไปเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่รับรองกฎหมายเพราะเป็นการออกตามรัฐธรรมนูญ 50 ที่เลิกใช้ไปแล้ว

ผู้ตรวจส่งเรื่องไปยังศาลรํฐธรรมนูญ เมื่อ15 พ.ย.2562 ใช้เวลาในการดำเนินกระบวนพิจารณา 10 เดือน กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการ “ออกคำสั่งเรียก”ของกมธ.ขัดกับรัฐธรรมนูญ ปี 60 นำไปสู่การเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ หวังติดดาบกมธ.หลังถูกริบอำนาจตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยประการฉะนี้