posttoday

"วัชระ"ปูดข้อมูลอัศจรรย์ใจ "ขิง เอกนัฏ" แอบเป็นพยาน "ทักษิณ" คดีม.112

23 สิงหาคม 2567

"วัชระ เพชรทอง" ยื่นข้อมูล"เอกนัฏ พร้อมพันธุ์"-"สันติ พร้อมพัฒน์" ให้นายกฯอุ๊งอิงค์พิจารณาประกอบการตัดสินใจก่อนตั้งเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล อัศจรรย์ใจ"เอกนัฏ"แอบเป็นพยาน”ทักษิณ” คดี112 ส่วน”สันติ”ทุจริตสอบม.รามฯ

เมื่อวันที่ 23สิงหาคม 2567 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือขอแจ้งข้อมูลบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ให้นายกรัฐมนตรีเพื่อประกอบการตัดสินใจ  ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล 

นายวัชระเปิดเผยว่า ตามที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติทำหนังสือถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรีเสนอชื่อนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากไม่มีคดีความติดตัวแล้วและพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อนายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีแต่ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีขอส่งข้อมูลประกอบการตัดสินใจดังนี้

1.คดี กปปส. คดีหมายเลขดำ อ.247/2561 หมายเลขแดง อ.317/2564 ศาลอาญา ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ จำเลยที่ 9  จำคุก 1 ปี โดยรอลงอาญาและโทษปรับเงิน 13,333 บาท ได้ประกันตัวต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง ตามระเบียบการดำเนินคดีอาญาของสำนักงานอัยการสูงสุด ถ้าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาแตกต่างกัน กล่าวคือคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง โดยระเบียบดังกล่าวอัยการต้องมีคำสั่งฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาตัดสินชี้ขาด ดังนั้นคดีนี้จึงยังไม่ถึงที่สุดตามที่นายพีระพันธ์อ้าง

2. คดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีมาตรา112  ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามหมายเลขคดีดำที่ อ.1860/2567ปรากฏเรื่องอัศจรรย์ทางจริยธรรมว่าก่อนที่อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งฟ้องนายทักษิณอ้างนายเอกนัฏเป็นพยานในชั้นอัยการและนายเอกณัฐฯ ได้ไปให้การในสำนวนคดีนี้ว่าที่นายทักษิณฯ พูดที่ประเทศเกาหลีใต้ไม่เข้ามาตรา 112 เหตุใดนายเอกนัฏฯ จึงไปเป็นพยานให้นายทักษิณ ทั้งที่เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยโดยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) แล้วเหตุใดจึงไปเป็นพยานให้นายทักษิณ จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์อันเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีหรือผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่
 

3. ส่วนกรณีนายสันติ พร้อมพัฒน์ จากพรรคพลังประชารัฐปรากฏข่าวว่าเคยถูกมหาวิทยาลัยรามคำแหงลงโทษลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ 1170/2542 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2542 เนื่องจากได้ให้บุคคลอื่นเข้าสอบแทนจึงเป็นการฝ่าฝืนและผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง