posttoday

มาดามเดียร์ ปักหลัก ประชาธิปัตย์ รอทำงานคนมีอุดมการณ์ ฟื้นฟูพรรค กู้ศรัทธา

30 สิงหาคม 2567

มาดามเดียร์ รับผลสะเทือน ประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลแพทองธาร มีผลคะแนนเสียงรอบหน้า ไม่เชื่อ ก้าวข้ามความขัดแย้ง มั่นใจ สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แต่ต้องทำหน้าที่ ย้ำ ยังอยู่ประชาธิปัตย์ รอทำงาน ผู้มีอุดมการณ์ ฟื้นฟูพรรค เรียกความเชื่อมั่น ศรัทธาประชาชนกลับคืน

เวลา14.45น. ที่สำนักงานเครือเนชั่น ย่านบางนา นางสาววทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์สื่อเครือเนชั่น ถึงมติกรรมการบริหารพรรคและสส.พรรคประชาธิปัตย์ เสียงส่วนใหญ่ลงมติสนับสนุนการไปร่วมรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตรว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เพราะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย เคยเป็นคู่ขัดแย้งกันมาในอดีต การเลือกตั้ง 14พ.ค.2566 พรรคประชาธิปัตย์ได้สส. 25 คน บ่งบอกอะไรหลายๆอย่างว่า ประชาชนไม่ได้ให้ความไว้วางใจไปทำหน้าที่ในสภาฯ 

ขณะที่จำนวนเสียงโหวตเลือกพรรคกว่า 9 แสนเสียง หมายถึงประชาชนได้ร่วมต่อสู้ ร่วมอุดมการณ์เดียวกับพรรค เห็นด้วยกับพรรคที่เคยต่อสู้มากับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาถึงพรรคเพื่อไทย เชื่อว่า ผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้ความไว้วางใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์ คงไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้บริหารชุดนี้ ที่ตัดสินใจไปร่วมรัฐบาล แต่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ ควรทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ตรวจสอบ ถ่วงดุลรัฐบาล 

ถามว่า คนที่เคยร่วมอุดมการณ์กันมา คิดว่าจะส่งผลต่อพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้มีคะแนนเสียงลดน้อยลงหรือไม่ นางสาววทันยากล่าวว่า คงลดน้อยลงแน่นอน เมื่อผู้บริหารละทิ้งอุดมการณ์ ประชาชนย่อมผิดหวัง แต่สำหรับสมาชิก สส.ประชาธิปัตย์ที่เหลืออยู่ ต้องน้อมรับ ทำหน้าที่ของตัวเองไป

การไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่การก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่เป็นความต้องการเข้าสู่อำนาจของตัวเองและพวกพ้องมากกว่า ตอนโหวตเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี สส.ประชาธิปัตย์ 16 คน ไปกลับมติ ไปโหวตให้นายเศรษฐา ทั้งที่ตอนนั้น พรรคเพื่อไทย ไม่ได้เทียบเชิญให้ไปร่วมรัฐบาล นั่นคือความพยายามทอดไมตรี ส่งสัญญาณไปให้พรรคเพื่อไทยว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ปรับครม. เลยอยากจะสานสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์ ถูกมองเป็น อะไหล่ให้รัฐบาล การลงมติพรบ.งบประมาณ2567 เดิมพรรคประชาธิปัตย์ มีมติไม่เห็นด้วย แต่สส.กลุ่มเดิม ไม่เข้าร่วมโหวตเลย ก็ถือเป็นการทอดไมตรีกับ พรรคเพื่อไทย ใช่หรือไม่

นางสาววทันยากล่าวว่า แม้กรรมการบริหารพรรค สส.มีมติเข้าร่วมรัฐบาลไปแล้ว แต่ผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า จะได้ 2ตำแหน่งในรัฐบาล เท่ากับมีการดีลร่วมรัฐบาลกันตลอดใช่หรือไม่ ถ้าไม่มีดีลจะทราบได้อย่างไร ส่งรายชื่อให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปตรวจสอบคุณสมบัติได้อย่างไร 

ส่วนตัวเชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังสามารถฟื้นศรัทธาประชาชนได้ เพียงแค่ทำตามอุดมการณ์พรรค 10 ข้อ ตามที่ผู้ก่อตั้งพรรค แม้จะผ่านมา 78 ปี แต่อุดมการณ์ดังกล่าว จะยึดมั่นในเสรีประชาธิปไตย ต่อสู้กับเผด็จการ ส่งเสริมการกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง ไม่ผูกขาด แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในวันนี้ยังทันสมัย นอกจากนี้ หากเห็นว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากล แม้จะไม่ใช่สส. ไม่ได้ทำหน้าที่ในสภาฯ ก็พร้อมจะแสดงความคิด ผ่านช่องทางต่างๆเหมือนกับประชาชนทั่วไป 

ถามว่า ยังตัดสินใจอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ นางสาววทันยากล่าวว่า ก็คิดหนัก เมื่อมาพิจารณา สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาธิปัตย์ เป็นเพียงแค่คนกลุ่มๆหนึ่ง ที่มีอำนาจบริหาร แต่จะไปเหมารวมประชาธิปัตย์ทั้งหมดไม่ได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับ ผู้บริหารชุดนี้ เพียงแต่กลไกเขาอาจไม่มีสิทธิ มีเสียงในการโหวตตัดสินว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่

เมื่อเรามีสมาชิกจำนวนมาก มีศรัทธาเดียวกัน ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ มีการปรับเปลี่ยนตลอด หัวหน้าพรรคไม่ได้สืบทอดโดยสายเลือด หากคนที่มีอุดมการณ์เข้ามาฟื้นฟูพรรค พร้อมที่จะทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป