posttoday

ภูมิธรรม กำชับดีอี ประสานค่ายมือถือ เร่งเตือนภัยประชาชน ให้มีประสิทธิภาพ

18 กันยายน 2567

ภูมิธรรม ประชุม ศปช. วางแผนแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ชี้ ต.ค.ฝน พายุเข้าเหนือ อีสาน ภาคกลางระวังน้ำหลาก สั่งกฤษฎีกา สำนักงบ ศึกษาเยียวยาเพิ่มเติมจากกรอบเดิม มอบ กรมประชาสัมพันธ์ แม่ข่ายให้ข้อมูลประชาชน กำชับดีอี ประสานค่ายมือถือ เตือนภัยประชาชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 1/2567 ว่า จากเหตุอุทกภัย วาตภัย พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน นายกรัฐมนตรี จึงได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม(คอส.) ขึ้นมา มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ตั้งศูนย์ ศปช. 

โครงสร้างของ ศปช. ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมในวันนี้จึงได้รับทราบคำสั่งและบทบาทหน้าที่ เช่น ติดตามประเมินสถานการณ์ และบูรณาการปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และดินโคลนถล่ม เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศ คาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำ พื้นที่น้ำหลาก การขึ้น-ลงของน้ำทะเล เพื่อแจ้งเตือนสร้างการรับรู้ และประสานช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงวางแผนการเคลื่อนย้าย เตรียมที่พักอาศัยให้ผู้ประสบภัย และการจัดส่งอาหาร ตลอดจนการส่งเครื่องอุปโภคบริโภค และอุปกรณ์ยังชีพให้พอเพียง พร้อมกับประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนเท่าทันต่อเหตุการณ์  โดยให้รายงานผลการปฏิบัติงานให้ ศปช. รับทราบเป็นระยะตามความเหมาะสม
 

สิ่งที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้น คาดว่าฝนและพายุที่จะเข้าภาคเหนือและภาคอีสาน จะเข้ากลางเดือน ต.ค. สถานการณ์น่าจะจบลง ภาคกลางน้ำจะค่อยๆหลากจนถึงเดือน ต.ค. จากนั้นก็จะเป็นภาคใต้ ดังนั้นศูนย์ฯนี้จะเป็นการดำเนินการเฉพาะหน้า เพื่อดำเนินการให้จบภารกิจภายในปีนี้ โดยศูนย์จะตั้งไว้ที่ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งประชาชนสามารถโทรแจ้งสายด่วนได้ที่ 1111

ส่วนการแก้ไขปัญหา ที่ประชุมครม.วันที่17ก.ย. อนุมัติกรอบวงเงิน 3,000 ล้านบาท ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเยียวยาตามมติ ครม.เดิม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอย่างทันท่วงที แต่ด้วยกรอบการเยียวยาใช้มานานเป็น 10 ปีแล้ว ไม่เพียงพอต่อปัญหาที่ประชาชนเผชิญ จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับค่าเยียวยาเพิ่มเติม ทบทวนกฎระเบียบเดิม โดยมีคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษารูปแบบในการดำเนินการให้สามารถสรุปเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ และนำมารายงานเสนอต่อศปช. อีกครั้ง เพื่อให้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ ก่อนจะนำมาเยียวยาประชาชนเพิ่มเติมให้ทั่วถึง
 

ขณะเดียวกัน ยังได้มีการตั้งคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมประชาสัมพันธ์ และตัวแทนสำนักนายกรัฐมนตรี เข้ามาช่วยดู โดยให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นแม่ข่ายในการสื่อสารกับประชาชน และปรับผังรายการ เพื่อดูแลเรื่องน้ำท่วมเป็นหลักภายใน 1 เดือน ฉะนั้นทุกหน่วยงานราชการสามารถเสนอคอนเท้นท์ต่างๆที่เกิด และชี้แจงให้ประชาชนทราบได้เป็นระยะๆ ป้องกันดราม่าที่อาจเกิดขึ้น พร้อมขอให้ช่วยกันและให้กำลังใจกัน ในการแก้ไขปัญหา เพราะทุกข์ของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างานมีกำลังใจ เพราะบางคนทำงานตลอดทั้งคืนไม่ได้นอน ขณะที่ข้าราชการทุกหน่วยทั้งจากกองทัพและพลเรือน ทุกคนทำหน้าที่เต็มที่ก็ต้องให้กำลังใจกันด้วย

นายภูมิธรรมกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการเตือนภัยล่วงหน้า มอบให้จิสด้า กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นแม่ข่ายในการดำเนินการและรับผิดชอบ โดยสามารถพยากรณ์ทิศทางของลม มรสุมที่จะเข้ามาได้ มองเห็นตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงสปป.ลาว เมียนมา จะมีการเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อจัดทีมในการดูแลแต่ละพื้นที่ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการมาแล้วว่า ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนสำคัญเป็นลำดับแรก ฉะนั้นวิธีทำงานคือให้หน่วยงานทุกหน่วยที่อยู่หน้างานไปช่วยดูแลประชาชน จะได้รู้ว่าประชาชนแต่ละพื้นที่มีสภาพอย่างไร ส่วนกระทรวงอื่นๆ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม ขณะนี้ทุกหน่วยงานได้จัดกำลังพลและเจ้าหน้าที่เข้ามาเสริม เพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นภายในหนึ่งเดือนแล้ว

ส่วนการแจ้งเตือนภัยที่ยังไม่เข้าถึงประชาชนในบางพื้นที่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงดีอี ประสานงานกับค่ายมือถือ เพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ดังนั้นทุกเรื่องที่ประชุมกันในวันนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปปฏิบัติทันที

สำหรับพายุดิเปรสชั่น และพายุโซนร้อน ที่จะเข้ามาในวันที่ 20 ก.ย. เจ้าหน้าที่จิสด้า กล่าวว่า จะเข้าฝั่งที่ประเทศเวียดนาม เมื่อขึ้นฝั่งมาแล้วจะกระทบกับภาคอีสานตอนบนและภาคตะวันออก จากนั้นพายุจะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่ และเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ อีสานตอนกลางและตอนบนจะได้รับผลกระทบมาก ขณะเดียวกันจะพัดผ่านไปทางภาคเหนือตอนล่างและกลางตอนบนด้วย ทำให้มีฝนตกหนักเกิน 100 มิลลิเมตร ภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน รวมถึงภาคตะวันออกที่จะมีฝนตกหนักมาก อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ปริมาณฝนจะทำให้น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ลำน้ำ 

พื้นที่ใดที่เป็นจุดเสี่ยงเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือและดูแลประชาชนทันที และอยากเห็นการพยากรณ์ในพื้นที่เฉพาะ

ภูมิธรรม กำชับดีอี ประสานค่ายมือถือ เร่งเตือนภัยประชาชน ให้มีประสิทธิภาพ