posttoday

"มาริษ"เล็งดึงสหรัฐฯ-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ร่วมแก้ปัญหาลุ่มน้ำโขง

21 กันยายน 2567

รมว.กต.เล็งดึงสหรัฐฯ-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่นผ่านกลไก ''แม่โขง'' สนับสนุนองค์ความรู้แก้ปัญหาท่วม-แล้งซ้ำซากให้สัมฤทธิผล พร้อมเผยผลคุยทูต 5 ประเทศกลุ่ม ACMECS เห็นพ้องแผนระยะสั้น-ยาวแก้ปัญหาลุ่มน้ำโขง ครอบคลุมน้ำท่วม-น้ำแล้ง

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับเอกอัครราชทูตกลุ่มสมาชิกยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง: Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS (แอ็กเม็กส์) จำนวน 5 ประเทศประจำประเทศไทย ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เพื่อริเริ่มความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำโขง ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน  

 

โดยแผนระยะสั้น จะอยู่บนพื้นฐานการวางระบบเตือนภัย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่สืบเนื่องจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยใช้กลไกองค์กรระหว่างประเทศ 2 องค์กรที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ สถาบันแม่โขง หรือ Mekong Institute ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับองค์กร Mekong River Commission หรือ MRC ซึ่งมีประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยประเทศไทย จะรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้กลุ่มประเทศสมาชิกได้ประโยชน์ร่วมกัน

 

ส่วนแผนในระยะยาว กระทรวงการต่างประเทศ จะรีบจัดการประชุมกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง โดยใช้กลไกที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ได้แก่ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง: Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS   มาใช้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มบทบาท และความรับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกในประเทศไทยทั้ง 4 ประเทศ ที่มาร่วมประชุมด้วยก็เห็นพ้องด้วย  

\"มาริษ\"เล็งดึงสหรัฐฯ-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ร่วมแก้ปัญหาลุ่มน้ำโขง

นอกจากนี้ยังมีกลไกความร่วมมืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง: Mekong-Lancang Cooperation หรือ MLC ซึ่งมีประเทศจีนเป็นสมาชิกด้วย และยังมีกรอบความร่วมมือ แม่โขง- สหรัฐฯ, แม่โขง-ญี่ปุ่น และแม่โขง-เกาหลีใต้ มาใช้ เพื่อรับช่วงต่อในการนำเอาองค์ความรู้ของสถาบันแม่โขง และ MRC มาบูรณาการร่วมกันในการจัดการแม่น้ำโขง นอกจากนี้ ประเทศไทย ก็พร้อมประสานกับเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในการป้องกันระบบน้ำท่วม มาสนับสนุนองค์ความรู้ในการบริหารจัดการครั้งนี้ด้วย

 

นายมาริษ ยังเปิดเผยอีกว่า ภายหลังการประชุมร่วมกับเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศ  ACMECS เสร็จสิ้น ตนเองได้มีโอกาส โทรศัพท์พูดคุยกับนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว เพื่อพูดคุยถึงการแก้ไขปัญหา และการจัดการอุทกภัย และสถานการณ์แม่น้ำโขง ซึ่งในระยะสั้น สปป.ลาวพร้อมที่จะขยายการติดตั้งโทรมาตรวัดน้ำไปยังลำน้ำสาขา พร้อมซ่อมแซมในส่วนที่เสียหายจากน้ำท่วม ในระยะยาวนั้น ฝ่าย สปป.ลาว พร้อมที่จะประสาน และบูรณาการข้อมูลกับฝ่ายไทย เพื่อให้เกิดระบบการเตือนฉุกเฉินในภาพใหญ่ด้วย ซึ่งหลังจากนี้ตนจะหารือกับผู้นำของเวียดนาม และกัมพูชาต่อไป นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงแล้ว ก็จะนำเสนอเรื่องอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาพรมแดนร่วมกันด้วย ทั้งการแก้ไขปัญหายาเสพติด, การค้ามนุษย์, แก๊งส์คอลเซ็นเตอร์ และฝุ่น PM2.5 เป็นต้น