posttoday

เบื้องหลัง เพื่อไทย ตัดไฟแต่ต้นลม ปิดช่องสารตั้งต้น นิรโทษกรรมคดี112

27 ตุลาคม 2567

พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล คว่ำข้อสังเกต ผลการศึกษาแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดี112 ทั้งที่เพื่อไทย เป็นคนชงเรื่อง ว่ากันว่า เป็นการเห็นพ้องของสส.ส่วนใหญ่ ไม่อยากให้ สภาฯเป็นสารตั้งต้น หากรับรายงาน รับข้อสังเกต ที่เปิดช่องนำไปสู่การนิรโทษกรรมคดี112 ในอนาคต

KEY

POINTS

  • พรรคเพื่อไทย ตัดสินใจนาทีสุดท้าย ผนึกเสียง พรรคร่วมรัฐบาล คว่ำข้อสังเกต ผลการศึกษารายงานแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม
  • พรรคเพื่อไทย เลือกตัดไฟแต่ต้นลม ไม่อยากให้ เสียงของสภาฯ กลายเป็น ต้นเรื่อง สารตั้งต้น เพื่อนำไปสู่การปูทาง ออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยเฉพาะคดี112
  • แม้จะสร้างความผิดหวัง พรรคประชาชน ที่แสดงออกต่อพรรคเพื่อไทย แต่แนวทางการนิรโทษกรรม ยังมีกฎหมายรอการพิจารณาในสภาฯ ที่คาดว่าจะประชุมได้ในสมัยประชุมหน้า 
  • การตัดสินใจ คว่ำข้อสังเกตของพรรคเพื่อไทย ไม่อยากเป็นหนึ่งในสารตั้งต้น ประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง เพื่อปิดจุดเสี่ยง รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร มีหลายโครงการต้องผลักดัน ดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ ให้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

มติที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 24ต.ค. 'รับทราบ' รายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ ลงมติ 'คว่ำข้อสังเกต'

โดยหลักการ การนิรโทษกรรม ผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ นักการเมือง ทุกพรรคการเมืองเห็นพ้อง เพียงแต่ต้องจำแนก ความละเอียดอ่อนของคดี มูลฐานความผิด ออกมาให้ชัดเจน 

ไม่ปฏิเสธ ผู้ที่โดนร่างแห จากการชุมนุม ได้รับผลกระทบที่มาจาผลพวงทางการเมืองจริงๆ แต่ก็ต้อง ปราศจากคดีร้ายแรง ประทุษร้ายร่างกาย เผาทำลายทรัพย์สินราชการ รวมไปถึง คดี112

พรรคเพื่อไทย ที่เป็นต้นเรื่องในการชงเรื่องเสนอต่อสภาฯ แต่ผลที่ออกมาสุดท้าย กลายเป็นว่ามี สส.ของพรรคมากถึง 115 คน ไม่เห็นด้วย ลงมติ คว่ำข้อสังเกต ทั้งที่ก่อนหน้ายืนยันมาตลอด จะรับทั้ง รายงาน และ รับข้อสังเกต แต่ก็มาพลิกในช่วงก่อนการลงมติ ไม่กี่ชั่วโมง
 

พรรคร่วมรัฐบาล พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ ต่างอภิปราย ‘ไม่เห็นด้วย’ ที่กังวลจะเป็น สารตั้งต้น หากมีการรับรายงานฉบับนี้ไป และส่งให้รัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องรับทราบ นำไปปฏิบัติ เป็นแนวทางในการ ‘ตราพระราชบัญญัติ’ ในข้อสังเกต ระบุชัด 

-ให้รัฐบาล ครม. รีบจัดทำกฎหมาย นิรโทษกรรม เอาเนื้อหาสาระไปประกอบจัดทำร่างพระราชบัญญัติ 
 

ว่ากันว่า ในวงประชุมเพื่อไทย ก่อนลงมติ มีสส.ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแนวทาง จะรับ รายงาน-ข้อสังเกต หรือไม่ หากรับก็จะต้องส่งให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อ แต่อีกบางมุมมอง เห็นแย้ง ไม่ควรรับ ไม่ควรส่งไปให้หน่วยงาน พิจารณา 

ประเด็นพรรคเพื่อไทย กังวล คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง คดีเกี่ยวกับฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 กรรมาธิการฯ มีความเห็นไว้ 3 รูปแบบแนวทาง ต่อแนวทางการนิรโทษกรรม คดี112 เอาไว้ 3ข้อเสนอ 1.ไม่นิรโทษกรรม 2.นิรโทษกรรม 3.นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข  

ถ้าสภาฯมีมติ เท่ากับ สภาฯจะส่งทั้ง 3 แนวทางส่งให้รัฐบาลเลือก ถ้ารัฐบาลเลือกเอาคดี 112 ที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง จะเป็นความขัดแย้งทางการเมือง เท่ากับเป็นสารตั้งต้นมาจากสภาฯ 

-ในข้อสังเกตของกรรมาธิการฯและผลการศึกษา ยังระบุ ระหว่างยังไม่มีการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินงานตามกฎหมายที่มีอยู่

แม้ไม่มีการตรากฎหมาย ให้ทำเสมือนมีนิรโทษกรรม ให้รัฐบาล ครม. ออกนโยบายกำหนดมาตรการต่อตำรวจ ดีเอสไอ อัยการ

สิ่งที่กรรมาธิการฯศึกษา จำแนกคดี ต้องมีบัญชีแนบท้ายการกำหนดความผิด 25 ฐานทางกฎหมาย และต้องเป็นเหตุจูงใจทางการเมืองเท่านั้น ดังนั้นถ้าอยู่ในบัญชีแนบท้าย บอกให้ทำอย่างไรต่อไป หากอยู่ในกระบวนการสอบสวน ให้เร่งคดี จะฟ้องหรือไม่ฟ้อง

มีข้อกังวล ในเมื่อกฎหมายยังไม่ออก การจำแนกคคี หากทำไปแล้วอาจจะมีปัญหาตามมาหรือไม่ รวมไปถึง ข้อกังวล จะกลายเป็นว่า เข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

หลังการลงมติ แน่นอน พรรคประชาชน ที่เป็นพรรคเดียวที่ยืนยันมาตลอดอยากให้มีการ นิรโทษกรรมคดี112 จะออกมาแสดงความผิดหวัง ต่อการลงมติ

ในมุมของ พรรคเพื่อไทย ก็มีคำอธิบาย ยืนยัน ไม่เสียหน้า 'ชูศักดิ์ ศิรินิล' รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล

'มีร่างพรบ.นิรโทษกรรม จากพรรคการเมืองและภาคประชาชน อย่างน้อย 4 ร่าง จ่ออยู่ เป็นร่างนิรโทษกรรม คงต้องมีการไปถกเถียงกันว่า ท้ายที่สุดจะเอาอย่างไร ถึงตอนนั้นพรรคการเมืองทั้งหลาย ต้องไปพิจารณาว่าตนเองและพรรคจะเห็นอย่างไร รับหลักการหรือไม่ จะรับหลักการกี่ฉบับ รวมถึงจะพิจารณารวมกันไปหรือไม่

เราไม่ได้ปฏิเสธรายงาน และรับรายงาน เพียงแต่ไม่รับข้อสังเกต การไม่รับข้อสังเกตหมายความว่า ไม่ต้องส่งไปให้หน่วยงานต่างๆ รายงานของคณะกรรมาธิการฯ จะนำไปใช้ประโยชน์ในช่วงของการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม'

'อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด' สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อธิบายว่า

'แม้สภาจะโหวตไม่เห็นชอบข้อสังเกต แต่ตัวรายงานได้ถูกรับทราบโดยสภาไปแล้วตามกฎหมาย ถือว่าคณะกรรมธิการทำหน้าที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว รายงานฉบับนี้อยู่ในสภาฯ องค์กรหรือหน่วยงานใดเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็สามารถนำไปศึกษาได้

เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่เคยมีมติในเรื่องนี้ สส.จะโหวตเห็นชอบ ไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียง จึงเป็นเอกสิทธิ์ ความเห็นต่างทางการเมืองเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ทุกฝ่ายต้องช่วยกันไม่ทำให้ความเห็นต่างนั้นนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม'

เมื่อคิดคำนวน ผลได้ ผลเสีย ผลกระทบ กับอายุรัฐบาลแพทองธาร เหลืออีก 2 ปี เศษ กับภารกิจที่ต้องเร่งเครื่องเดินหน้า มีอีกหลายเรื่อง ต้องลุยเรื่องร้อน แก้ไขปัญหาปากท้อง แก้เศรษฐกิจ ปราบยาเสพติด ดึงเม็ดเงินต่างประเทศ ผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ทั้ง Entertainmenr Complex เรื่องแลนด์บริดจ์ การเดินเครื่องสนับสนุนการท่องเที่ยว ซอฟต์พาวเวอร์ อย่างเต็มรูปแบบ และอีกหลายโปรเจค ที่ต้องการผลักดันให้เห็นเป็นนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม 

ดีกว่าไปลุยปมร้อน ที่จะกลายเป็น สารตั้งต้นอันอาจนำไปสู่การนิรโทษกรรมคดี112 ติดกับดักทางการเมือง จึงเลือก 'ตัดไฟแต่ต้นลม' ไม่มีความจำเป็นต้องเสี่ยง ต้องลุยในห้วงเวลาที่ รัฐบาลแพทองธาร กำลังจะเร่งนับหนึ่ง ปั้นผลงานจับต้องได้ ได้คะแนนเสียง ดีกว่า ลุยไฟ ทำเรื่องเสี่ยง