posttoday

เรื่องน่ารู้! รายละเอียดขบวนเรือพระราชพิธี 52 ลำ ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

27 ตุลาคม 2567

เรียนรู้ก่อนรับชมจริง กับรูปแบบขบวนเรือพระราชพิธี 52 ลำในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่จะเกิดขึ้นในวันนี้! เพื่อเตรียมพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีประวัติศาสตร์ที่สืบเนื่องต่อกันมาอย่างช้านานของชาติไทย

จากข้อมูลของ 'พระลาน' ได้ให้ความรู้ในประเด็นของรูปแบบขบวนเรือพระราชพิธีไว้ว่า จัดเป็นลักษณะของ 'ดาวล้อมเดือน'  โดยปีพุทธศักราช 2525 ได้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของเรือพระราชพิธีที่เข้าร่วมในริ้วพยุหยาตรา (ใหญ่) ทางชลมารค ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นรูปแบบดาวล้อมเดือน เพื่อให้รูปขบวนมีสัดส่วนที่เหมาะสม และเรือพระที่นั่งมีความสง่างามไม่รั้งท้ายขบวน เนื่องจากไม่มีขบวนเรือของพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จเป็นขบวนหลังเหมือนในอดีต

โดยผังของขบวนเรือพระราชพิธีมีลักษณะดุจดาวล้อมเดือน คือ มีเรือพระที่นั่งเป็นเดือน เรืออื่นในขบวนหน้า ในขบวนแซง และในขบวนหลัง เป็นดาวล้อมอยู่ทุกด้าน ซึ่งการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคปัจจุบัน ได้นำแนวพระดำริดังกล่าวมาปฏิบัติ เพื่อให้เรือพระที่นั่งมีความสง่างามสมพระเกียรติ

 

เรื่องน่ารู้! รายละเอียดขบวนเรือพระราชพิธี 52 ลำ ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

 

 

  • การจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธี 52 ลำ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567

การจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธี 52 ลำ ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประกอบด้วย  เรือพระราชพิธี จํานวน 52 ลํา ดังนี้

เรือพระที่นั่ง 4 ลำ

 

1.  เรือสุพรรณหงส์  เรือสุพรรณหงส์ หรือ เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยา ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เมื่อพุทธศักราช 2454  โขนเรือรูปหัวของหงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ตอนกลางลำเรือมีประทับเรียกราชบัลลังก์กัญญา สำหรับพระเจ้าอยู่หัว หรือพระราชวงศ์ชั้นสูง เรือสุพรรณหงส์ ได้รับรางวัลยกย่องเป็นเรือมรดกโลก จาก “World Ship Trust” เมื่อปีพุทธศักราช 2535

 

เรือรูปสัตว์

 

2.  เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙  เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เป็นเรือพระที่นั่งกิ่งประเภทเรือรูปสัตว์ หนึ่งในเรือพระราชพิธี ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาส พระราชพิธีกาญจนาภิเษก แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดย กองทัพเรือ ร่วมกับ กรมศิลปากร ได้นำ โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 และ รัชกาลที่ 4 มาเป็นต้นแบบ โดยกองทัพเรือ สร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างเรือ พาย และคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากร ดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับ ศิลปกรรมของเรือทั้งหมด  โขนเรือจำหลักรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงเทพศาสตรา ตรีศูล คทา จักร และสังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์ ใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับปืนใหญ่ กลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและมีแท่นประทับ

 

เรื่องน่ารู้! รายละเอียดขบวนเรือพระราชพิธี 52 ลำ ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

 

3.  เรืออนันตนาคราช  เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือพระที่นั่งบัลลังก์ในขบวนพยุหยาตราชลมารค สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ลำปัจจุบันมีการสร้างใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) สำเร็จเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2457  โขนเรือเป็น "พญาอนันตนาคราช" หรือนาค 7 เศียร โดยปกติจะใช้เป็นเรือพระที่นั่งรอง หรือเรือเชิญผ้าพระกฐิน หรือประดิษฐานบุษบกสำหรับพระพุทธรูปสำคัญ นับเป็นเรือพระที่นั่งที่มีความงดงามอีกลำหนึ่ง อนึ่ง เคยมีการพิมพ์รูปเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชด้านหลังธนบัตร 20 บาท โดยจัดพิมพ์และใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ซึ่งปัจจุบันเลิกพิมพ์แล้ว

 

เรื่องน่ารู้! รายละเอียดขบวนเรือพระราชพิธี 52 ลำ ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

 

4.  เรืออเนกชาติภุชงค์  เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โขนเรือจำหลักปิดทองเป็นรูปนาคเล็ก ๆ จำนวนมาก ตอนกลางลำเรือมีราชบัลลังก์กัญญา เป็นที่ประทับเปลื้องเครื่องหรือเปลื้องพระชฎามหากฐินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

เรื่องน่ารู้! รายละเอียดขบวนเรือพระราชพิธี 52 ลำ ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

 

เรือรูปสัตว์ 8 ลำ

  1. เรืออสุรวายุภักษ์  เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครึ่งยักษ์ครึ่งนก ส่วนบนเป็นยักษ์ ส่วนล่างเป็นนก มีองค์เป็นสีม่วง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และถูกระเบิดทำลายลงในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 9
  2. เรืออสุรปักษี เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครึ่งยักษ์ครึ่งนก ส่วนบนเป็นยักษ์ ส่วนล่างเป็นนก มีองค์เป็นสีเขียว ปิดทองประดับกระจก ภายนอกทาสีดำ เขียนลวดลายดอกพุตตานสีทอง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และได้รับการซ่อมแซมในสมัยรัชกาลที่ 9
  3. เรือกระบี่ปราบเมืองมาร   เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นวานรกายสีขาว เครื่องประดับกายและผ้านุ่งลงรักปิดทองประดับกระจก หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนจะถูกระเบิดเสียหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหลือเพียงโขนเรือ โดยซ่อมแซมโขนและสร้างตัวเรือขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2510
  4. เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นวานรกายสีดำ เครื่องประดับกาย และผ้านุ่งลงรักปิดทองประดับกระจก หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก
  5. เรือครุฑเหินเห็จ เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครุฑยุดนาคมีกายสีแดง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก เดิมเรียกกันว่า "เรือครุฑเหิรระเห็จ" สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 และบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2505
  6. เรือครุฑเตร็จไตรจักร  เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครุฑยุดนาคมีกายสีชมพู หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก สร้างครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนถูกระเบิดชำรุดซึ่งกรมศิลปากรเก็บหัวเรือและท้ายเรือไว้ โดยลำปัจจุบันสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2511
  7. เรือพาลีรั้งทวีป เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปพาลี (ลิงมีฤทธิ์กายสีเขียว ตัวละครจากรามเกียรติ์เป็นพี่ชายของสุครีพ) ปิดทองประดับกระจก ภายในเรือมีสีแดง ภายนอกทาสีดำ เขียนลวดลายดอกพุตตานสีทอง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1
  8. เรือสุครีพครองเมือง เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปสุครีพ (ลิงมีฤทธิ์กายสีแดง ตัวละครจากรามเกียรติ์ เป็นน้องชายของพาลี) ปิดทองประดับกระจก ภายในเรือมีสีแดง ภายนอกทาสีดำ เขียนลวดลายดอกพุตตานสีทอง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ซ่อมแซมอีกครั้งในรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2514

 

เรือครุฑเหินเห็จ

 

เรือพิฆาต 2 ลำ 

  1. เรือเสือทยานชล 
  2. เรือเสือคำรณสินธุ์

เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ ทั้ง 2 ลำหัวเรือเป็นรูปเสือ มีปืนจ่ารง 1 กระบอก จัดเป็นเรือรบโบราณประเภทเรือพิฆาต ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทั้ง 2 ลำจะแล่นส่าย โดยเรือเสือทยานชลแล่นส่ายนอกด้านขวา และเรือคำรณสินธุ์แล่นส่ายนอกด้านซ้าย แม้ไม่ปรากฏหลักฐานที่สร้าง แต่พบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับรูปวาดเรือพิฆาตในริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

 

เรือเสือทยานชล

 

เรือคู่ชัก 2 ลำ

  1. เรือเอกไชยเหินหาว
  2. เรือเอกไชยหลาวทอง

เรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง เป็นเรือคู่ชัก สำหรับใช้ช่วยชักลากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ในงานพระราชพิธีเมื่อน้ำเชี่ยว หรือต้องการให้เรือแล่นเร็วขึ้น ตลอดจนในกรณีที่ฝีพายไม่เพียงพอ ด้านข้างเรือทั้ง 2 ลำวาดลวดลายเป็นตัวเหรา สัตว์ในป่าหิมพานต์ที่มีรูปร่างส่วนบนเป็นนาค ส่วนล่างเป็นมังกร

สำหรับเรือเอกไชยเหินหาว สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนถูกระเบิดได้รับความเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือลำปัจจุบันถูกสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2508 ส่วนเรือเรือเอกไชยหลาวทองลำเดิมไม่พบหลักฐานการสร้าง โดยลำปัจจุบันสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2508 เช่นกัน

 

เรือเอกไชยเหินหาว

 

เรือประตู 2 ลำ

  1. เรือทองขวานฟ้า
  2. เรือทองบ้าบิ่น

เรือทองขวานฟ้า และ เรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้าคู่แรกในขบวนพยุหยาตราชลมารค เรือลำเดิมทั้ง 2 ลำไม่พบหลักฐานการสร้าง แต่ตัวเรือได้รับความเสียหายจากระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 กรมศิลปากรได้เก็บหัวเรือและท้ายเรือรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่จะสร้างตัวเรือขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2507 โดยใช้หัวเรือเดิมและได้แกะสลักลวดลาย คาดหัว-ท้ายเรือ ปิดทองประดับกระจก พร้อมกับจัดทำเครื่องตกแต่งเรือใหม่

 

เรือทองขวานฟ้า

 

เรือกลอง 2 ลำ

  1. เรืออีเหลือง
  2. เรือแตงโม

เรืออีเหลือง และ เรือแตงโม จัดเป็นเรือกลองในขบวนพยุหยาตราชลมารค มีปี่ชวาและกลองแขกสำหรับบรรเลงลำละ 6 นาย โดยเรืออีเหลืองจะอยู่หน้าสุดของริ้วสายกลาง เป็นเรือสำหรับรองผู้บัญชาการของขบวนเรือ ส่วนเรือแตงโม อยู่ในริ้วกลางหรือริ้วที่ 3 หน้าเรือพระที่นั่ง เป็นเรือสำหรับผู้บัญชาการของขบวนเรือ

 

เรือตำรวจ 3 ลำ

เรือตำรวจ 3 ลำ มีลักษณะคล้ายเรือแตงโมและเรือดั้ง ไม่ปรากฏหลักฐานที่สร้าง มีพระตำรวจหลวง ชั้นปลัดกรม หรือข้าราชการในพระราชสำนักที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์ นั่งประจำ 3 ลำ

 

เรือดั้ง 22 ลำ

เรือดั้ง 22 ลำ ทำหน้าที่ป้องกันกระบวนเรือหน้า ไม่พบหลักฐานที่สร้าง ในปี พ.ศ. 2506 กรมอู่ทหารเรือต่อเรือดั้ง 6 ขึ้นใหม่ มีการซ่อมใหญ่ในปี พ.ศ. 2524เรือดั้ง เป็นเรือไม้ทาสีน้ำมัน ไม่มีลวดลาย ปัจจุบันหัวเรือปิดทอง มี 22 ลำ  มีชื่อเรียกตามลำดับตั้งแต่ เรือดั้ง 1 ถึงเรือดั้ง 22

 

เรือแซง 7 ลำ

เรือแซง 7 ลำ คือ เรือกราบ เป็นเรือเล็กและเร็ว จัดเป็นเรืออารักขาพระมหากษัตริย์ ไม่พบหลักฐานที่สร้าง มี 7 ลำ มีชื่อเรียกตามลำดับตั้งแต่ เรือแซง 1 ถึงเรือแซง 7 

 

  • รูปขบวนเรือพระราชพิธี 

สำหรับการจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธี จํานวน 52 ลํา แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้

1. ริ้วสายกลาง เป็นเรือสายสำคัญประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มีเรืออีเหลืองเป็นเรือกลองนอก เรือแตงโมซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือเป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจ รวมทั้งสิ้น 10 ลำ

2. ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่งมีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่นเป็นเรือประตูหน้าเรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายริ้วสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทองซึ่งเป็นเรือคู่ชัก รวมทั้งสิ้น 14 ลำ

3. ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้งและเรือแซง สายละ 14 ลำ รวมทั้งสิ้น 28 ลำ

 

เรื่องน่ารู้! รายละเอียดขบวนเรือพระราชพิธี 52 ลำ ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

 

ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก "พระลาน"