อสส.พิจารณาบันทึกถ้อยคำปมทักษิณ-เพื่อไทยล้มการปกครองส่งศาลรธน.
"ศักดิ์เกษม นิไทรโยค"โฆษกอสส.เผย อัยการสูงสุดกำลังตรวจบันทึกถ้อยคำ ชูศักดิ์ ศิรินิล ปม ทักษิณ-เพื่อไทย ครอบงำล้มล้างการปกครอง ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยและอยู่ในกรอบกำหนดเวลา15วัน นับตั้งแต่ศาลรธน.มีคำสั่ง
เมื่อวันที่ 7 พ.ย.67 นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ขณะนี้อัยการสูงสุดโดยคณะทำงานได้สรุปการบันทึกถ้อยคำส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาเเล้ว กรณีศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้งเพื่อขอทราบ คดีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49ว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์หรือไม่ โดยคณะทำงานได้สอบถ้อยคำนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวเเทนพรรคเพื่อไทยที่เข้าให้ถ้อยคำตั้งเเต่วันที่ 5 พ.ย.2567
"คณะทำงานได้ส่งบันทึกถ้อยคำให้อัยการสูงสุดพิจารณาเเล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณามีคำสั่งต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญระบุวันที่จะต้องจัดส่งความคืบหน้าภายใน 15 วัน ขณะนี้ยังไม่ครบกำหนด เพราะเเม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเผยเเพร่เอกสารในวันที่ 22 ต.ค.2567เเต่จะต้องนับจากวันที่ทางอัยการสูงสุดได้รับหนังสือ"
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2567 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีการเผยแพร่เอกสารข่าว การพิจารณาคดีสำคัญและอยู่ในความสนใจของประชาชน เรื่องงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายทักษิณ ชินวัตร(ผู้ถูกร้องที่ 1) อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย (ผู้ถกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์หรือไม่ กระทั่งอัยการสูงสุดออกมาแถลงความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ คณะทำงาน อสส.มีการตั้งคณะทำงานพิจารณาและมีหนังสือด่วนที่สุดให้ผู้ร้อง (นายธีรยุทธ) ผู้ถูกร้องทั้ง 2 ราย (นายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย) เข้าให้ถ้อยคำโดยมีนายชูศักดิ์ ในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทยเข้าให้ถ้อยคำ ขณะที่นายธีรยุทธ ในฐานะผู้ร้อง ได้เข้าให้ถ้อยคำแล้วด้วย
ส่วนนายทักษิณ ยังไม่มีรายงานว่าได้เข้าไปให้ถ้อยคำด้วยตัวเอง หรือมอบหมายตัวแทนเข้าไปให้ถ้อยคำหรือไม่ ทั้งนี้ตามกรอบเวลา 15 วันดังกล่าว จะครบกำหนดในวันที่ 11 พ.ย. 2567
เมื่อครั้งนายธีรยุทธ ยื่น 6 คำร้องถึง อสส. หลังจากนั้นมีการส่งเรื่องไปยังสำนักงานการสอบสวนสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีคณะทำงานที่มีรองอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะทำงานพิจารณา ก่อนส่งไปยัง อสส.พิจารณามีคำสั่ง ซึ่งมีรายงานว่า คณะทำงานฯชุดดังกล่าว มีความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีมูลให้ยุติเรื่อง
โดยให้เหตุว่า 2 ข้อเเรกที่เป็นข้อพาดพิงสถาบันฯ การกระทำของผู้ถูกร้องไม่มีมูลพฤติการณ์ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันฯ ส่วนคำร้องข้อ 3-6 ซึ่งเป็นเรื่องการครอบงำพรรคการเมืองเป็นอำนาจวินิจฉัยของ กกต. ทางคณะทำงานจึงมีความเห็นเสนอควรยุติเรื่องไปยังอัยการสูงสุด
หลังจากนั้น อสส.ได้พิจารณาเเล้วเห็นควรสั่งสอบสวนเพิ่มเติมจากทางฝั่งผู้ร้องเเละผู้ถูกร้อง กระทั่งมีการตั้งคณะทำงานฯอีกชุดหนึ่ง เพื่อเชิญผู้ถูกร้อง และผู้ร้อง เข้าให้ถ้อยคำดังกล่าว