"ไพศาล“ เผย "ณฐพร" เตรียมฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน-บิ๊กรถไฟ ปมเขากระโดง!
อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดินจ่อยื่นฟ้อง เอาผิดปลัดมท. อธิบดี-รองอธิบดีกรมที่ดิน ผู้บริหารรถไฟ-กรรมการตรวจสอบที่ดินเขากระโดง หลังคณะกรรมการฯ มีมติไม่เพิกถอนโฉนด
วันนี้ (10 พ.ย. 2567) นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี โพสต์บนสื่อโซเชียลมีเดียถึงประเด็นเรื่องที่ดินเขากระโดงว่า
"เอาแล้ว เมื่อวานนี้ดอกเตอร์ณัฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดินได้เปิดเผยว่าในเร็วๆนี้ ตนจะยื่นฟ้อง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตั้งแต่ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีและรองอธิบดีกรมที่ดิน ผู้บริหารการรถไฟและกรรมการตรวจสอบที่ดินเขากระโดง กรณี ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลสูงสุดแล้ว ให้นักการเมืองมีชื่อในเอกสารสิทธิ์ถือครอง ที่ดินการรถไฟที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทานให้แก่นักการเมืองเขากระโดง
เหตุที่ต้องฟ้องคดีเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนก็เพราะว่าการยื่นคำร้องต่อปปช.ให้ตรวจสอบไต่สวนระดับนักการเมืองนั้น ต้องใช้เวลานาน ขณะนี้ประชาชนจิตใจ บอบช้ำแตกสลาย รับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ดังนั้น เพื่อบำรุงน้ำใจประชาชนไทยทั่วประเทศ ตนจึงจะเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตก่อน ซึ่งจะดำเนินการได้รวดเร็วกว่าเพราะสามารถยื่นฟ้องได้ทันที
ตนเองเชื่อว่าศาลคือที่พึ่งแหล่งสุดท้ายของประชาชน และมั่นใจว่าศาลเองก็ย่อมตระหนักดีว่า ศาลก็คือที่พึ่งแหล่งสุดท้ายของประชาชน เช่นเดียวกัน เพราะถ้าศาลไม่เป็นที่พึ่งของประชาชนแล้ว บ้านเมืองก็ตั้งอยู่ไม่ได้และจะเกิดกลียุคใหญ่ขึ้นในบ้านเมือง"
- เปิดคำพิพากษาเขากระโดงถือเป็นที่ดินของรัฐ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 – 876 /2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย
โดยมีข้อเท็จจริงว่า ที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟที่ได้มาตาม พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวงพระพุทธศักราช 2464 และถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง กรมที่ดิน จึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินบริเวณดังกล่าวตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2557
ต่อมาสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการยกเลิกใบไต่สวน พร้อมจำหน่าย ส.ค.1 เลขที่ 209 หมู่ที่ 1 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดิน และยกเลิกเรื่องการขอออกโฉนดที่ดินจำนวน 40 ฉบับของประชาชนจำนวน 35 ราย ตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560
- นักกฎหมายมหาชนเผยอุทธรณ์ภายใน 90 วันมิเช่นนั้นเสียที่ดินให้เอกชน
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักวิชาการกฎหมายมหาชน ให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อโพสต์ทูเดย์ก่อนหน้านี้ ระบุว่ามติคณะกรรมการสอบสวนลงนามโดย นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน เรื่อง การเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2567 ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยถือเป็นคำสั่งทางปกครอง การรถไฟแห่งประเทศไทย คู่กรณี ย่อมมีสิทธิโต้แย้งต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทั้งในปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริงภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
หากไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนดก่อนฟ้องคดีปกครอง ที่ดินเขากระโดงที่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เป็นสมบัติของแผ่นดินจะตกเป็นของเอกชนทันที ดังนั้น ประชาชนต้องช่วยกันรักษาสมบัติของแผ่นดิน.