'จุลพงศ์'ไขปมเขากระโดงมหากาพย์ความร่วมมือทำลายหลักนิติธรรมไทย
จุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ชี้ปมพิพาทเขากระโดง เป็นมหากาพย์ความร่วมมือกันทำลายหลักนิติธรรม ตั้งข้อสงสัยทำไม กรมที่ดินโยนการพิสูจน์กรรมสิทธิ์ทั้งที่คำพิพากษาศาลปกครองกลางสูงสุดก็อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธณ์ภาค3 กรรมสิทธิ์เป็นของรฟท.
กรณีกรมที่ดินมีหนังสือฉบับลงวันที่ 21 ต.ค. 2567 ถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนการออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำผลประโยชน์ที่ตั้งขึ้น โดยคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินตามมาตรา 61 วรรคสองของประมวลกฎหมายที่ดินเห็นสมควรไม่เพิกถอน หรือแก้ไขหนังสือรับรองสิทธิในที่ดินจนกว่า รฟท. จะมีพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของ รฟท.
นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า หนังสือกรมที่ดินสร้างความฉงนแก่ผู้คนจำนวนมาก เพราะก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาเคยตัดสินไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่ 842-876/2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2560 รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 หมายเลขแดงที่ 1112/2563 วินิจฉัยสอดคล้องกันว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. ปัญหาคือ ทำไมคณะกรรมการสอบสวนที่อธิบดีตั้งขึ้นจึงมีมติดังกล่าว โดยไม่เชื่อว่า กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของ รฟท. ตามที่ศาลฎีกาพิพากษาไว้
ตีความ มาตรา61 ประมวลกฎหมายที่ดิน
นายจุลพงศ์ กล่าวต่อว่า เมื่อดูเนื้อความในวรรคแรกและวรรคสองของมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติว่า
เมื่อความปรากฎว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีหรือรองอธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้
ก่อนการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีหรือรองอธิบดีซึ่งอธิบดีมอบหมายตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งโดยมีอำนาจเรียกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารที่ได้จดรายการทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือเอกสารที่จดแจ้งรายการทะเบียนอสังหาริมทรัพย์หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้คัดค้าน ถ้าไม่คัดค้านภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ให้ถือว่าไม่มีการคัดค้าน
คณะกรรมการสอบสวนไม่มีอำนาจ
นายจุลพงศ์ อธิบายว่า ก่อนตั้งคณะกรรมการในวรรคสอง ต้องเกิดความปรากฏว่าโฉนดที่ดิน หรือเอกสารสิทธิ์มีการออกโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออีกนัยหนึ่งคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามวรรคสองไม่มีอำนาจสอบสวนว่า"โฉนดที่ดิน"หรือ"เอกสารสิทธิ์"มีการออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และยิ่งไปกันใหญ่เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายืนยันถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินเขากระโดงว่า เป็นกรรมสิทธิ์ของรฟท.
มูลเหตุของการที่กรมที่ดินต้องแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 เกิดเมื่อ รฟท. ได้มีหนังสือถึงกรมที่ดินขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตั้งแต่ปี 2560 แต่หลังจากกรมที่ดินได้รับหนังสือแล้วกลับยังไม่ยอมแต่งตั้งคณะกรรมการเสียที จนที่สุด รฟท. ได้ฟ้องร้องกรมที่ดินต่อศาลปกครอง ต่อมาศาลปกครองมีคำพิพากษาในคดีแดงที่ 582/2566 สั่งให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการตามวรรคสองของมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดินและเป็นชุดที่มีมติตามที่ปรากฏในหนังสือกรมที่ดินถึง รฟท. ฉบับลงวันที่ 21 ต.ค. 2567
คำพิพากษา3ศาลระบุชัดที่ดินเป็นของรฟท.
กรณีกรมที่ดินได้ออกแถลงการณ์ว่า กรมที่ดินได้ปฎิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองในคดีแดงที่ 582/2566 ที่ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตามวรรคสองของมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว และได้ว่าคำพิพากษาศาลปกครอง มิได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดและเอกสารสิทธิที่ดินทั้งที่ใน คำพิพากษาของศาลปกครองกลางฉบับเดียวกันได้อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่ 842-876/2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2560 รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 หมายเลขแดงที่ 1112/2563 ที่พิพากษาเหมือนกันหมดว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.
คนทั่วไปจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมมติของคณะกรรมการที่กรมที่ดินแต่งตั้ง จึงขัดกับคำพิพากษาศาลฎีกา และสงสัยว่าเรื่องนี้ จะลงเอยอย่างไร มหากาพย์ที่ดินเขากระโดง เกิดจากการอาศัยความเชี่ยวชาญในการใช้เทคนิค และช่องว่างทางกฎหมายของกฎหมายที่ดิน กฎหมายปกครอง และระเบียบกรมที่ดินที่คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก
"จึงเป็นมหากาพย์ของความร่วมมือกันทำลายหลักนิติธรรมของประเทศไทย ยิ่งเมื่อไปดูรายชื่อคณะกรรมการตามมาตรา 61 ที่อธิบดีกรมที่ดินแต่งตั้งชุดนี้ หลายคนตั้งข้อสงสัยเรื่องความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับนักการเมืองระดับชาติในจังหวัด เรื่องนี้จึงมีอะไรที่ซ่อนอยู่อีกเยอะ"