posttoday

กมธ.ที่ดินถกปมเขากระโดง ชี้ตั้งคณะกก.สอบตามม.61 มีข้อบกพร่อง

27 พฤศจิกายน 2567

กมธ.ที่ดินถกข้อพิพาทเขากระโดง ทรงศักดิ์-พรพจน์-เอก เข้าชี้แจง พูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานกมธ.ตั้งข้อสงสัย กรมที่ดินตั้งคณะกก.ตามม.61 อาจมีข้อบกพร่อง ทรงศักดิ์ อ้างหากเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ประชาชน900รายรับผลกระทบตามคำพิพากษา

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงข้อพิพาทที่ดิน"เขากระโดง" ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม และกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย

ผู้เข้าชี้แจง ประกอบด้วย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน และ นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย

นายพูนศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเริ่มประชุมว่า คณะกรรมาธิการยังมีข้อสงสัยในเรื่องขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน รวมถึงกระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ หากพบว่ามีจุดอ่อนหรือความผิดพลาดในกระบวนการ ควรเร่งแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว จะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เงียบหาย การประชุมวันนี้จะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า คณะกรรมการตามมาตรา 61 จัดตั้งถูกต้องหรือไม่ และหากไม่ถูกต้อง เราต้องแก้ไขระเบียบเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต 

"การประชุมกรรมาธิการ​ จะเน้นระเบียบวิธีปฏิบัติ ของคณะกรรมการมาตรา​ 61 มีข้อบกพร่องอย่างไร และหากมีข้อบกพร่องกรรมาธิการจะดำเนินอย่างไร ซึ่งเป็นงานหลักของฝ่ายนิติ​บัญญัติ​ ในการดูว่าข้อกฎหมายช่องโหว่ระเบียบปฏิบัติของฝ่ายบริหารเป็นอย่างไร เพื่อนำมาแก้ไข" นายพูนศักดิ์  กล่าว

 
อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกถามถึงความเชื่อมโยงของประเด็นนี้กับกลุ่มการเมือง นายพูนศักดิ์ระบุว่า การประชุมในครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การพิจารณากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่หากพบว่ามีอิทธิพลจากการเมือง ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการในการเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อปิดช่องโหว่

"สิ่งสำคัญคือเราต้องแก้ไขช่องโหว่ในกระบวนการและสร้างระบบที่โปร่งใส เพื่อให้การจัดการที่ดินของประเทศมีประสิทธิภาพ" เขากล่าว
 

ด้านนายทรงศักดิ์ กล่าวว่า กรณี "เขากระโดง" เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ถือครองที่ดินจำนวนกว่า 900 ราย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ คำพิพากษาของศาลแม้จะถือเป็นที่สุด แต่การพิจารณาผลกระทบต่อประชาชนและหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน

"เราต้องหาข้อมูลที่ทำให้ทั้งประชาชนและหน่วยงานรัฐเข้าใจตรงกัน กรณีนี้ต้องพิจารณาทั้งการได้มาของที่ดินโดยการรถไฟ และสิทธิการครอบครองของประชาชน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและชัดเจน" นายทรงศักดิ์กล่าว

นายทรงศักดิ์ ระบุด้วยว่า รู้สึกเห็นใจ 900 กว่าราย ที่ได้ครอบครองที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมายมาโดยตลอด ซึ่งหลายคนก็เข้าใจว่าเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วถึงที่สุดที่ดินเป็นของการรถไฟฯ แม้ให้กรรมาธิการเป็นสื่อกลางสะท้อนข้อเท็จจริงให้เห็นทั้ง 2 ทาง ทั้งการได้มาที่ดินของการรถไฟ ประชาชนได้ครอบครองที่ดินอย่างไร เพื่อที่ได้เป็นข้อมูลให้เกิดความชัดเจน แม้ว่าคำพิพากษาถึงที่สุดก็ต้องยอมรับ แต่จะเป็นที่สุดเฉพาะคู่ความ คู่ความคนอื่นที่ไม่ได้เป็นคู่ความก็ต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์ว่าการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์​ หากเพิกถอนทั้งหมด​ จะเป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่