posttoday

เปิดชื่อรองนายกฯรมต.พรรคร่วมฯลาประชุมครม. ทักษิณไล่กลางวงเพื่อไทย

14 ธันวาคม 2567

เปิดชื่อรองนายกฯ-รัฐมนตรีพรรคร่วมฯ ลาประชุมครม.11ธ.ค.67 หลังทักษิณ ชินวัตร ไล่กลางวงสัมนาเพื่อไทยลั่นไม่ใช่ได้ตำแหน่งแล้วแอบหนี ควรช่วยสนองนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงมาร่วมกัน

กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในเวทีสัมนาพรรคเพื่อไทย ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ว่า เมื่อ 2 วันก่อนมีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เกี่ยวกับมาตรการทางภาษีระหว่างประเทศเข้าที่ประชุม ครม.ปรากฏว่ามีพรรคร่วมบางพรรคหลบหรือป่วย อย่างนี้ไม่ใช่เลือดสุพรรณ ถ้าอยู่ด้วยกันก็ต้องช่วยกัน วันหลังไม่อยากอยู่ต้องบอกให้ชัดเจน เราเป็นคนพูดรู้เรื่อง ห้ามหนี ต่อไปใครหนีก็ส่งใบลาออกมาด้วย

เป็นคนเกลียดพวกอีแอบ ตรงไปตรงมา ง่ายๆ อยู่ก็อยู่ ไม่อยู่ก็ไม่ต้องอยู่ ถ้าอยู่ก็ต้องสู้ด้วยกัน ในเมื่อเป็นนโยบายรัฐบาลร่วมกัน แถลงนโยบายคุณยกมือเห็นด้วย พอได้เก้าอี้รัฐมนตรีค่อยๆ หลบมือออก ไม่ได้ ต้องตรงไปตรงมา 

เมื่อสืบค้นไปสัปดาห์ก่อนมีประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ11 ธ.ค.67 มีรายชื่อรองนายกฯและรัฐมนตรี เหล่าพรรคร่วมรัฐบาล ลาประชุม7คน ประกอบด้วย 
1.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย (พรรคภูมิใจไทย)  
2.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน (พรรครวมไทยสร้างชาติ)
3.นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ (พรรคเพื่อไทย)
4.นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย (พรรคภูมิใจไทย)
5.นายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ (พรรคกล้าธรรม)
6.นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ (พรรคภูมิใจไทย)
และ 7.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์  (พรรครวมไทยสร้างชาติ)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันดังกล่าวมีรองนายกฯและรมต.พรรคภูมิใจลา3คนประกอบด้วย นายอนุทิน
นายทรงศักดิ์ และนายสุรศักดิ์ รองนายกฯและรมต.พรรครวมไทยสร้างชาติ ลาประชุมครม.ประกอบด้วย นายพีระพันธุ์ ,นายสุชาติ และพรรคกล้าธรรมคือนายอัครา อย่างไรก็ตามนายอนุทิน เข้าร่วมการประชุม ครม. แต่เข้ามาภายหลังการประชุมเริ่มไปได้สักพักแล้ว  
 

สำหรับในการประชุมครม.เมื่อ11ธ.ค.67 มีวาระสำคัญคือ เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พรก.) 2 ฉบับเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีนิติบุคคลในไทย คือ พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ... ของกระทรวงการคลัง และ พรบ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ฉบับที่..) พ.ศ...  ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

สำหรับร่าง พ.ร.ก.2 ฉบับนี้ เป็นไปตามเกณฑ์ OECD ภายใต้มาตรการ Pillar 2 เพื่อดำเนินการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax : GMT)ในอัตรา 15% และส่งเงินภาษีบางส่วนที่จัดเก็บได้ให้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD

เมื่อร่างพ.ร.ก.ทั้งคู่ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม. แล้ว จะเสนอต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบรายละเอียดและคำต่าง ๆ ของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จากนั้นจึงนำเข้าสู่ขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป คาดว่า จะประกาศให้มีผลใช้บังคับใช้ในปี 2568  

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่าการออกกฎหมายในเรื่องภาษีเป็น พ.ร.ก.เป็นเรื่องของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละเรื่องไม่ได้ต้องการระยะเวลาในการให้สาธารณะชนได้ทราบล่วงหน้านานนัก โดยจะมีขั้นตอนในการประกาศและมีผลบังคับใช้

ภาษีเกณฑ์ของ Global minimum tax  ถือเป็นหลักการที่ทั่วโลกมีการรับรู้ร่วมกันว่าเป็นหลักปฏิบัติของ OECD และมีประเทศที่เข้ามาร่วมในกติกานี้มากกว่า 100 ประเทศแล้ว 

ส่วนของประเทศไทย มีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาสอบถามในส่วนนี้อยู่มาก หากเราสามารถที่ประกาศได้ชัดเจนก็จะทำให้นักลงทุนสามารถเลือกได้ว่า จะมีการเลือกเสียภาษีในประเทศไหน จะเสียที่ประเทศไทยหรือประเทศต้นทาง ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี