ฟังความสองข้าง! สปสช. VS รพ.มงกุฎวัฒนะ กรณีจ่ายหนี้บัตรทอง
เมื่อวานนี้ (13 ธ.ค.67) นายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กสรุปใจความได้ดังนี้
- รพ.มงกุฎวัฒนะมีความจำเป็นต้องหยุดให้บริการรับส่งต่อผู้ป่วยนอก กรณี OP-REFER จากทุกคลินิกที่ส่งต่อ รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ว่าจะมีใบส่งตัวหรือไม่มีใบส่งตัวตั้งแต่เช้าวันพรุ่งนี้ วันศุกร์ที่ 13 ธ.ค.67 เป็นต้นไป
- สปสช.โดยคณะทำงานได้ยืนยันว่าจะจ่ายหนี้ค้างจ่ายกรณี OP REFER ที่คลินิกคู่สัญญาของ สปสช ส่งต่อผู้ป่วยมายัง รพ.มงกุฎวัฒนะ ภายในสิ้นเดือน พ.ย.67 แต่ สปสช. ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้จำนวน 14 ล้านบาทได้
- กรณีนี้ยังไม่นับรวมจากการที่ สปสช. ไม่ยอมจ่ายค่าแพทย์ในการตรวจรักษาผู้ป่วยกรณี OP REFER ตั้งแต่ 1 มี.ค.67 จนถึงปัจจุบันอีกเป็นจำนวนมากกว่า 30 ล้านบาท รวมจำนวนหนี้ค้างชำระกรณี OP REFER ที่คลินิกคู่สัญญาของ สปสช. ส่งต่อผู้ป่วยมายัง รพ.มงกุฎวัฒนะ มากกว่า 44 ล้านบาท (ประมาณ 50 ล้านบาท ณ ปัจจุบัน)
- หาก รพ.มงกุฎวัฒนะยังปล่อยให้บริการรับส่งต่อผู้ป่วยนอก กรณี OP-REFER นี้ต่อไป รพ.มงกุฎวัฒนะจะไม่สามารถอยู่รอดได้ เนื่องจาก รพ.มงกุฎวัฒนะเคยประสบปัญหาในลักษณะนี้ จำนวนหนี้ 13.2 ล้านบาทเศษ เมื่อ ปี พ.ศ.2563 จนต้องฟ้องศาลปกครอง แต่ศาลปกครองก็หาได้มีความคืบหน้าให้ความเป็นธรรมแก่ รพ.มงกุฎวัฒนะ
- วันศุกร์ที่ 13 ธ.ค.67 เป็นต้นไป ผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิกต่าง ๆ ที่ส่งตัวมารักษากับ รพ.มงกุฎวัฒนะ จะต้องจ่ายเงินเองจนกว่า สปสช.จะเคลียร์หนี้สินทุกรายการ จากกรณี OP REFER ตามที่ สปสช. โดยคณะทำงานตกลงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ เมื่อต้นเดือน พ.ย.67 ที่ผ่านมา
- อย่างไรก็ตาม การหยุดให้บริการยกเว้นกรณีผู้ป่วยโรคมะเร็ง, โรคไตวายเรื้อรัง และโรคเอดส์ ที่ รพ.มงกุฎวัฒนะจะยังคงให้บริการตรวจรักษา เนื่องจากเป็นกรณีโรคร้ายแรงที่มีมูลนิธิ มวรร เข้าให้การช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ
อย่างไรก็ตามเช้าวันนี้ ( 14 ธ.ค. 2567) ทางสปสช.ได้ออกข่าวชี้แจงกรณีดังกล่าว ยันไม่ได้ติดหนี้ มีงบพร้อมจ่ายแต่ติดปัญหาทางคดี และโอนล่วงหน้าแล้ว 60 ล้านบาท โดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า
สปสช. ยืนยันว่ามีงบประมาณสำหรับจ่ายให้โรงพยาบาล แต่เนื่องจากกรณีของโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ เงินจำนวน 13.2 ล้านบาทนั้น เป็นหนี้ค้างชำระจากคลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่ง รพ.มงกุฎวัฒนะเป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อให้คลินิกดังกล่าว แต่คลินิกถูก สปสช. ยกเลิกสัญญา จากสาเหตุการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ถูกต้อง เมื่อปี 2563 จึงทำให้คลินิกสิ้นสภาพการเป็นหน่วยบริการคู่สัญญากับ สปสช. และไม่ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวที่ สปสช. จัดสรรอีก จึงทำให้ไม่มีเงินรายรับสำหรับการหักเพื่อจ่ายกรณีส่งต่อผู้ป่วยได้ ซึ่งมีโรงพยาบาลที่รับส่งต่อจำนวนหนึ่งประสบกับเหตุการณ์ในกรณีนี้เช่นเดียวกัน และเรื่องนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการทางคดี สปสช. จึงไม่สามารถจ่ายเงินตรงนี้ได้ และตามกฎหมาย สปสช. ไม่มีอำนาจในการนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปทดรองจ่ายหนี้ของคลินิกเอกชนให้โรงพยาบาลรับส่งต่อได้
ส่วนที่ 2 คือ เงินจากการส่งต่อผู้ป่วยกรณี OP-Refer จากคลินิก สาเหตุที่ยังค้างจ่ายอยู่ เนื่องจากอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยนอกในพื้นที่ กทม. เนื่องจากคลินิกเอกชนได้ร้องขอตรวจสอบข้อมูลการจ่าย ทั้งการจ่าย OP Refer และ OP Fee Schedules จำนวน 5,516,644 รายการ มูลค่า 2,138.88 ล้านบาท และข้อมูล CR 315,133 รายการ มูลค่า 1,247.76 ล้านบาท ซึ่งคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 มีมติให้ สปสช.ชะลอการจ่ายงบ OP Refer และ งบ CR ตั้งแต่งวดที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม 2567 จนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทางคลินิกเอกชนยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ มติที่ประชุม อปสข. กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 จึงเห็นชอบให้ขยายเวลาการตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่ายกรณีผู้ป่วยนอกในเขตพื้นที่ กทม.ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2567 กรณีไม่แล้วเสร็จให้ สปสช. ตรวจผลการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ เมื่ออยู่ระหว่างการตรวจสอบ จึงไม่สามารถจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลรับส่งต่อได้
แต่เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาล คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้หารือเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 และมีมติเห็นชอบการจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับโรงพยาบาล (Prepaid) เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง หลังจากบอร์ดมีมติ อีก 2 วัน สปสช. ได้โอนเงินให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ จำนวน 60 ล้านบาท เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ไปแล้ว และในปี 2566 สปสช. ได้โอนเงินให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ จำนวน 649 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 696 ล้านบาท และปี 2568 ได้โอนไปแล้ว 226 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,571 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่ รพ.มงกุฎวัฒนะประกาศว่าจะหยุดให้บริการรับส่งต่อผู้ป่วยนอก กรณี OP-Refer จากทุกคลินิกที่ส่งต่อ รพ.มงกุฎวัฒนะ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไปนั้น เพื่อไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยทาง สปสช. ได้ประสานโรงพยาบาลที่สามารถรับผู้ป่วยดังกล่าวเพื่อรักษาต่อไป ได้แก่ รพ.จุฬาภรณ์ และ รพ.แพทย์ปัญญา โดยผู้ป่วยที่มีใบส่งตัวและมีนัดรักษาต่อที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ขอให้ผู้ป่วยโทร.ประสานสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อประสานการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งต่อไป ซึ่งในวันนี้ได้ประสานเพื่อรับการรักษาแล้วประมาณ 40 ราย และสำหรับคลินิกชุมชนอบอุ่นที่เดิมต้องส่งต่อมารักษาที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ขอให้ประสาน สายด่วน สปสช. 1330 เช่นกัน ทาง สปสช.จะเป็นผู้ประสานหาโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วยต่อไป
ความขัดแย้งรพ.มงกุฎวัฒนะ VS สปสช. จนกระทั่งวันที่ปะทุ!
เมื่อย้อนดูเหตุการณ์ที่ผ่านมา รพ.มงกุฎวัฒนะ ได้ออกแถลงการณ์ในประเด็นการจ่ายค้างหนี้ของทางสปสช. หลายครั้งมาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2567 โดยโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะรายงานว่าสปสช. ไม่จ่ายหนี้ค้างชำระค่าแพทย์จำนวนมากกว่า 20 ล้านบาท ตามที่ สปสช. ได้ตกลงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะซึ่งเป็น รพ.ทุติยภูมิ รับส่งต่อให้แก่คลินิกปฐมภูมิของ สปสช. จำนวนมาก ซึ่งได้มีการรับปากว่าจะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเหมือนในปี 2563 อีก ดังนั้นตั้งแต่ 1 พ.ย.67 รพ.มงกุฎวัฒนะจึงไม่มีสภาพคล่องทางการเงินที่จะจัดซื้อยาและจ้างแพทย์เพื่อให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ส่งตัวมาจากคลินิกปฐมภูมิส่งต่อ รพ.มงกุฎวัฒนะ และขอหยุดให้บริการผู้ป่วยบัตรทองที่มาจากคลินิกปฐมภูมิส่งต่อ รพ.มงกุฎวัฒนะ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.67 เป็นต้นไปจนกว่า สปสช.จะเคลียร์หนี้ค่าแพทย์ตามที่ สปสช. ได้ตกลงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ เมื่อ 1 มี.ค.67
ซึ่งทางนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้เคยออกมาชี้แจงว่าจะรีบเคลียร์ใจกับทางรพ.มงกุฎวัฒนะ อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น รพ.มงกุฎวัฒนะก็ได้มีการให้บริการมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเมื่อวานนี้ที่ได้ออกมาทวงหนี้กับทางสปสช. อีกครั้งและแถลงว่าจะหยุดให้บริการในวันที่ 13 ธ.ค. เป็นต้นไป เป็นเหตุให้ สปสช. ต้องออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าว.